svasdssvasds

ผลกระทบ Silicon Valley Bank ปิดตัว ภาครัฐไทยย้ำ สถาบันการเงินยังรอด

ผลกระทบ Silicon Valley Bank ปิดตัว ภาครัฐไทยย้ำ สถาบันการเงินยังรอด

สถานการณ์การล้มละลายของ Silicon Valley Bank ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่นักลงทุน และสตาร์ทอัปทั่วโลกต่างก็ต้องเจอผลกระทบหนัก ลองฟังความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยและโฆษกกระทรวงการคลังถึงเรื่องนี้กัน

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่ากรณีธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ที่ประสบปัญหา ซึ่ง Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) มีคำสั่งให้ปิดกิจการเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2566 นั้น

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับฝากเงินและการปล่อยกู้ที่กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้ากลุ่มกองทุน venture capital บริษัท fintech และบริษัท start-up ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าของ SVB ระดมทุนได้ยากหรือมีต้นทุนสูงขึ้น จึงต้องถอนเงินฝากที่ SVB เพื่อใช้ในธุรกิจ

และบางกลุ่มถอนเงินฝากเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ SVB ต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำลงมากเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เกิดผลขาดทุน กระทบฐานะของธนาคารและความเชื่อมั่น จนต้องถูกควบคุมโดย FDIC ตามที่เป็นข่าว  

จากข้อมูลในตลาดการเงินโลก ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารโดยรวมปรับลดลงและราคาในการประกันความเสี่ยงปรับเพิ่มขึ้นจากความกังวลต่อการลุกลามไปยังธนาคารอื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเทคโนโลยีและคริปโทเคอร์เรนซี

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

อย่างไรก็ดี การที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศจะจ่ายคืนผู้ฝากทุกรายเต็มจำนวน และจัดตั้ง Bank Term Funding Program เพื่อปล่อยสภาพคล่องให้แก่ระบบธนาคาร น่าจะช่วยลดโอกาสที่สถานการณ์จะลุกลามจนส่งผล อย่างมีนัยต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด  

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

สำหรับสถานการณ์ในไทย ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มี ธพ. ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่ม ธพ. ไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1 % ของเงินกองทุนของกลุ่ม ธพ. ที่สำคัญพบว่า ธพ.ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล

ขณะที่กลุ่มธุรกิจของ ธพ. ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่ง ธปท. ขอย้ำว่ามีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ venture capital ที่เข้มงวด

เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ในทุกกรณี รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม ธพ. ต่อเงินฝากของประชาชน

ด้านค่าเงินบาท ล่าสุดปรับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ภายหลังนักลงทุนคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงเร็ว ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป

ผลกระทบ Silicon Valley Bank ปิดตัว ภาครัฐไทยย้ำ สถาบันการเงินยังรอด

ทางด้านของ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ Silicon Valley Bank (SVB) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ฟังว่า 

จากที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศสหรัฐเมริกาได้ประสบปัญหาฐานะทางการเงิน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้าควบคุมเพื่อแก้ไขปัญหาฐานะนั้น กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทยอย่างใกล้ชิด 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาฐานะทางการเงิน โดยธนาคาร Silicon Valley หรือ Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ระดับภูมิภาค (Regional Bank) ที่มีสินทรัพย์ประมาณ 7.35 ล้านล้านบาท หรือมีขนาดสินทรัพย์สูงสุดเป็นอันดับที่ 16 ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ถูกควบคุมโดยภาครัฐเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาเนื่องจากมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและประสบภาวะขาดทุนจากกลยุทธ์ในการบริหารสินทรัพย์ของธนาคาร

นอกจาก SVB แล้ว ธนาคาร Silvergate และธนาคาร Signature ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการเกี่ยวกับ Cryptocurrencies เป็นหลัก ได้ประสบปัญหาฐานะจากราคา Cryptocurrencies ที่ลดลง

โดยธนาคาร Silvergate ปิดตัวลงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 และธนาคาร Signature ถูกควบคุมโดยหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาฐานะเมื่อวันที่  12 มีนาคม 2566 ซึ่งปัญหาฐานะของธนาคารทั้งสองแห่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาด Cryptocurrencies

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 หน่วยงานภาครัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องได้แก่ ธนาคารกลาง (Federal Reserve: FED) กระทรวงการคลัง (Treasury Department) และองค์กรค้ำประกันเงินฝาก (Federal Deposit Insurance Corporation: FDIC)

ได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและผู้ฝากเงินว่าภาครัฐมีมาตรการรองรับหากระบบสถาบันการเงินประสบปัญหาสภาพคล่อง เช่น Bank Term Funding Program เป็นต้น และแนวทางการแก้ไขปัญหาฐานะของ SVB และธนาคาร Signature จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงิน รวมทั้งจะไม่ใช้เงินงบประมาณในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ในเบื้องต้น กระทรวงการคลังประเมินว่าเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศสหรัฐอเมริกาในระยะสั้น

แต่ไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ หรือระบบการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และมีความพร้อมที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า “ระบบสถาบันการเงินไทยยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และประเทศไทยมีระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีความเข้มแข็ง พร้อมรองรับสถานการณ์ที่มีความผันผวน ในการนี้ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศไทยแต่อย่างใด”

related