svasdssvasds

G-Token คืออะไร ? ทำไมรัฐบาลถึงเลือกใช้ “โทเคนดิจิทัล” ระดมทุน 5,000 ล้าน

G-Token คืออะไร ? ทำไมรัฐบาลถึงเลือกใช้ “โทเคนดิจิทัล” ระดมทุน 5,000 ล้าน

ชวน ทำความรู้จัก G-Token เครื่องมือกู้เงินใหม่ของรัฐบาลไทย คล้าย ‘พันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบโทเคน’ หวังเข้าถึง ‘คนรุ่นใหม่’ เพิ่มการออมของประชาชน และเพิ่มการเข้าถึงการเงินให้ทั่วถึงและเท่าเทียม (Financial Inclusion) มากขึ้น

SHORT CUT

  • G-Token คือเครื่องมือระดมทุนรูปแบบใหม่ของรัฐ คล้ายพันธบัตรออมทรัพย์ แต่อยู่ในรูปโทเคนดิจิทัล
  • ลงทุนง่ายผ่านมือถือ รัฐบาลค้ำประกัน และให้ดอกเบี้ยสูงกว่าฝากธนาคาร
  • ช่วยผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล เปิดทางให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนอย่างโปร่งใสและทันสมัย

ชวน ทำความรู้จัก G-Token เครื่องมือกู้เงินใหม่ของรัฐบาลไทย คล้าย ‘พันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบโทเคน’ หวังเข้าถึง ‘คนรุ่นใหม่’ เพิ่มการออมของประชาชน และเพิ่มการเข้าถึงการเงินให้ทั่วถึงและเท่าเทียม (Financial Inclusion) มากขึ้น

พลิกเกมการเงินของรัฐ! เมื่อ ครม. ไฟเขียว “G-Token” พันธบัตรดิจิทัลรุ่นแรกของโลก เปิดทางให้คนไทยลงทุนผ่านมือถือ รัฐบาลค้ำประกัน แถมได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝาก เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา 

โดยในรายละเอียดนั้น , วันที่ 13 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. … , ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย 

G-Token คืออะไร ?

G-Token หรือ Government Token คือ โทเคนดิจิทัลที่ออกโดยรัฐบาล ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน วงเงินไม่เกิน  5,000 ล้านบาท ใช้เป็นเครื่องมือระดมทุนแบบใหม่เพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลปี 2568

หากแยกย่อยให้เห็นความชัดเจนคือ 

  • G-Tokenไม่ใช่เงินตรา เนื่องจาก ไม่สามารถใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือชำระเงินได้
  • G-Tokenไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี
  • G-Token เป็น ‘เครื่องมือการระดมทุน’ โดยเทียบเคียงได้กับ ‘พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง’
  • G-Token เป็นการกู้เงินโดยตรงจากประชาชนของรัฐบาล

กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก โดยมี สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดูแล โดย นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)  ย้ำว่า G-Token คือ “โอกาสใหม่” ที่คนไทยสามารถลงทุนได้ง่าย ปลอดภัย และโปร่งใส

ซื้อขาย G-Token ยังไง? 

แม้ตอนนี้ยังไม่มีชื่อแพลตฟอร์มยืนยัน แต่เบื้องต้นสามารถซื้อผ่าน 2 ช่องทาง:

1.แอปฯ บริษัทหลักทรัพย์ที่เข้าร่วม
2.ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.

 ขั้นตอนคล้ายซื้อของออนไลน์:
•สมัครบัญชี
•โอนเงิน
• เลือกจำนวน G-Token ที่ต้องการ
• รอรับผลตอบแทนเมื่อครบกำหนด หรือขายต่อในตลาดรองได้ทันที

เริ่มขายจริง ก.ค. 2568 และเปิดเต็มระบบ พ.ย. 2568
 

ข้อดีของ G-Token

✅ ลงทุนง่าย ผ่านมือถือ เริ่มต้นแค่ 20,000 บาท
✅ ปลอดภัย เพราะรัฐบาลค้ำประกัน
✅ ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝาก
✅ โปร่งใส–รวดเร็ว ด้วยระบบบล็อกเชน ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
✅ ขายต่อได้ ไม่ต้องรอ 6 เดือนเหมือนพันธบัตรเดิม

G-Token คืออะไร ? ทำไมรัฐบาลถึงเลือกใช้ “โทเคนดิจิทัล” ระดมทุน 5,000 ล้าน

ข้อควรระวัง ของ G-Token

⚠️ ราคาในตลาดรองอาจผันผวน
⚠️ ต้องใช้เทคโนโลยี คนที่ไม่ถนัดแอปฯ อาจต้องเรียนรู้เพิ่ม
⚠️ เสี่ยงระบบถูกแฮก แม้จะมีมาตรการป้องกัน
⚠️ ต้นทุนการพัฒนาสูงในระยะแรก
⚠️ ผลตอบแทนอาจสู้หุ้นหรือคริปโตไม่ได้
 

เพราะอะไร รัฐบาลแพทองธารเลือกใช้ G-Token ?

ลดความเหลื่อมล้ำการลงทุน เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าถึงการลงทุนที่ปลอดภัย
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เชื่อมเทคโนโลยีกับการเงิน
ระดมทุนได้เร็วกว่า–ถูกกว่า พันธบัตรแบบเดิม
เป็นการทดลองก่อนขยายวงเงินในอนาคต
เพิ่มความเชื่อมั่น ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีรัฐค้ำประกัน

 G-Token กับนโยบาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” 

การออก G-Token สะท้อนการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลสู่เศรษฐกิจยุคใหม่:

•ผลักดันระบบการเงินดิจิทัล
•ต่อยอดเทคโนโลยีบล็อกเชนอย่างเป็นรูปธรรม
•นำเทคโนโลยีมาใช้ในภาครัฐ
•พัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นแหล่งระดมทุนทางเลือก
• เปิดโอกาสทางการเงินที่เท่าเทียม

มุมมองของสังคมที่มีต่อ G-Token

ฝั่งที่สนับสนุน มองว่า G-Token เป็นเหมือนสนามทดลองที่จะเปิดประตูสู่โลกการเงินใหม่ๆ ในไทยได้รัฐบาลจะมีความยืดหยุ่นในการระดมทุนมากขึ้น และอนาคตเราอาจได้เห็นการออกแบบโทเคนเฉพาะสำหรับโครงการใหญ่ๆ เช่น โทเคนด้านสิ่งแวดล้อม หรือโครงสร้างพื้นฐานได้

ประโยชน์ที่สำคัญก็คือ G-Token จะกระตุ้นให้เอกชนเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ต่อเนื่อง ทำให้คนที่มีเงินน้อยเข้าถึงการออมและรับดอกเบี้ยจากรัฐบาลได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง และที่สำคัญสามารถแสดงให้เห็นถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตามก็มีความเห็นฝั่งที่มองว่าต้องพิจารณาหรือตั้งข้อสังเกตกับ G-Token นี้เช่นกันโดยบอกว่าสิ่งนี้อาจไม่ได้เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ใหม่จริงๆ จะเป็นเพียงเครื่องมือที่ฝ่ายการเมืองต้องการใช้หาเงินโดยไม่ต้องถูกควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลเรื่องกฎหมายหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ หรือการนำ G-Token ไปใช้ค้ำประกันในอนาคต นักเศรษฐศาสตร์บางคนก็มองด้วยว่า G-Token ไม่ใช่สินทรัพย์ที่แท้จริง แต่เป็นเพียงสัญญาหนี้ที่ต้องใช้ภาษีในอนาคตมาจ่ายนั่นเอง

ทั้งนี้ G-Token นับเป็นหมุดหมายใหม่ของการลงทุนแบบรัฐค้ำประกันในยุคดิจิทัล เป็นเครื่องมือทางการเงินที่เปิดกว้างให้คนไทยเข้าถึงได้ง่าย ในรูปแบบที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ หากคุณมองหาโอกาสลงทุนที่ปลอดภัยและผลตอบแทนพอเหมาะ G-Token อาจเป็นคำตอบ...ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related