svasdssvasds

ส่องนโยบายด้านดิจิทัลของ 5 พรรคการเมือง

ส่องนโยบายด้านดิจิทัลของ 5 พรรคการเมือง

เรื่องของดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในการพัฒนาประเทศ ทำให้หลายความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีกลายมาเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคการเมือง ที่ต้องร่วมวางแผนเพื่อให้ประเทศเติบโตรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

เศรษฐกิจดิจิทัลมีความสำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศและจีดีพีของโลก โดยในปี 2564 เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย มีมูลค่า 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.97% ต่อจีดีพีของประเทศไทย ซึ่งขยายตัว 14.07%

แต่จีดีพีของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศอื่นๆ กลับมีมากกว่า สะท้อนให้เห็นว่าไทยยังตามหลังหลายประเทศ

ดังนั้น พรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคต้องวางแผนนโยบายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านดิจิทัลให้มากขึ้น นอกจากจะมีส่วนช่วยเพิ่มสัดส่วนจีดีพีของเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว ยังเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังคงเห็นพรรคการเมืองที่เตรียมพร้อมลงสู่สนามเลือกตั้ง ออกนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่การพัฒนาเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้น ถือว่าเป็นส่วนช่วยที่ให้ประเทศก้าวเดินได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ช่วงของการเปิดตัวหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อย่างแพทองธาร ชินวัตร ได้นำเรื่องของ NFT และ Blockchain มาเป็นหนึ่งในนโยบายด้านดิจิทัล-เทคโนโลยีด้วย

ยกตัวอย่างเช่น การนำ NFT เข้ามาช่วยในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า การสร้าง Blockchain ของประเทศไทยเพื่อใช้ในการซื้อขายสินค้าทางการเกษตร และสินค้าที่เกิดจากนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของทางพรรค การผลักดันให้มีการใช้เงินดิจิทัลของธนาคารกลางเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน รวมทั้งผลักดันนโยบายรัฐบาลดิจิทัล ตรวจสอบงบประมาณ เป็นต้น

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

 

ทั้งนี้ SPRiNG จึงมาสรุปนโยบายด้านดิจิทัลของพรรคการเมืองต่างๆ ว่าพวกเขามีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร และคิดว่านโยบายดิจิทัลจะมีทิศทางอย่างไรกันบ้าง

กรณ์ จาติกวนิช

กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

วันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับประเทศไทย คนไทยพร้อมจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ตราบใดที่สะดวกสบาย เป็นประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายได้ แต่เราไม่มีแพลตฟอร์มของเราเอง จึงเป็นความท้าทายของเรา และคิดว่าเราต้องทำแพลตฟอร์มของตัวเอง

ในส่วนของการนโยบายปราบคอร์รัปชัน เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญ เนื่องจากมีร่องรอย มีหลักฐานปรากฏให้เห็น ตรงนี้คืออาวุธที่ดีที่สุด จะเป็นก้าวสำคัญภายใต้เป้าหมายโปร่งใส อัตโนมัติ การขออนุญาตอะไรก็ตามกับภาครัฐ ไม่ต้องพึ่งพาดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และมีระบบที่สามารถเข้าถึงได้ 24 ชั่วโมง

ยกตัวอย่าง Chat GPT ซึ่งมีคนใช้ 1,000,000 คนภายใน 5 วัน โดยไม่ต้องนำเข้าข้อมูลตั้งแต่แรก แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าไปมาก จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายและมีนโยบายที่จะสร้างพื้นที่ของเราเอง ซึ่งอันดับแรกต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนระบบราชการและการเมือง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเติบโตช้าที่สุด มีการลงทุนน้อยที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศน์ดิจิทัลไทยมีปัญหา 

งบประมาณของเศรษฐกิจดิจิทัล 980 ล้านบาท เท่ากับ 0.03% ของ งบประมาณทั้งหมด เช่น งบด้านสมาร์ทซิตี้ 7,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่กระจุกที่กรมโยธาธิการและผังเมือง สะท้อนถึงความไม่ใส่ใจของรัฐบาลปัจจุบัน

เศรษฐกิจดิจิทัลแบบก้าวไกล ต้องคิดไกลกว่าประเทศไทย อย่างน้อยก็ระดับอาเซียน โดยการปฏิบัติอยู่ที่ท้องถิ่น ต้องมีพื้นฐาน มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน มีกฎหมายที่ทันสมัย และโครงสร้างพื้นฐาน ระบบอินเทอร์เน็ต มีระบบเทคโนโลยีให้บริการประชาชน ปัญหาใหญ่อีกอย่างก็คือ การไม่กระจายอำนาจ เมื่อท้องถิ่นงบฯไม่เพียงพอ ต้องขอการสนับสนุนจากกองทุนดิจิทัล

ในอนาคตพรรคก้าวไกล เสนอหลักการ 3 มิติ คือ

  1. มองเรื่องกฎหมายให้ทันสมัย
  2. สร้าง Incentive ให้กับเทคโนโลยีไทย
  3. เพิ่มงบประมาณ ที่กระฉับกระเฉงกว่าระบบราชการปกติ

สุดารัตน์ เกยุราพันธ์

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย

พรรคไทยสร้างไทยตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Country และ Digital society ในปี 2570 เราต้องอาศัยความตั้งใจจริงของผู้บริหาร เนื่องจากความสามารถด้านดิจิทัลของไทยย่ำอยู่กับที่มานาน ตกทุกตัว มีแค่เทคโนโลยีที่ขึ้นเพราะซื้อได้ แต่ความพร้อมของคนไม่เป็นเช่นนั้น 

ดังนั้น ต้องพัฒนาคน ปฏิวัติการศึกษาด้วยเทคโนโลยี เสริมทักษะแรงงาน พัฒนาทุนมนุษย์ สร้างพลังอำนาจให้ประชาชน ปลดล็อกกฎหมาย ที่ทางพรรคเสนอสภาไปแล้วคือ พักใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคทำมาหากินของประชาชน 1,300 ฉบับ

เราต้องเร่งลงทุนด้านนวัติกรรมอย่างจริงจัง ปลูกฝังหลักสูตรที่สำคัญ ตั้งแต่ระดับประถมเพิ่มทักษะ รวมทั้งพัฒนาทักษะแรงงาน เปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถด้านนี้ เข้ามาในประเทศไทย เพื่อช่วยผลักดัน และเรียนรู้ไปด้วยกัน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการรองรับกติกาโลก ปัจจุบัน Digital Economy โลกยังไม่มีกติกาโลก มีแค่กติกาของ 3 ประเทศที่ตกลงกันในปัจจุบันนี้ ที่เรียกว่า กติกาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจดิจิทัล ประกอบด้วยสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และชิลี ที่เรียกว่า DEPA ซึ่งจีนและแคนาดากำลังจะเข้ามาร่วม รวมถึงเกาหลีใต้กำลังขอร่วม แต่กติกาโลกโดยรวมทั้งหมดยังไม่เกิด

นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ คือ ต้องเพิ่มสัดส่วน GDP ของ digital economy ซึ่งไทยยังตามหลังอีกหลายประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ปรับตัวทั้งด้านบุคคลากร กฎหมาย เทคโนโลยี และที่สำคัญ คือ ความพร้อมรองรับกติกาโลกในอนาคต

ชลน่าน ศรีแก้ว

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ปี 2570 เพื่อไทยตั้งเป้าให้ประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน โดยพรรคเพื่อไทยวางแนวเอาไว้ 2 เรื่อง

  1. โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล อาทิ อินเทอร์เน็ตฟรี แท็บเล็ตฟรีทุกครอบครัว กระเป๋าตังค์ดิจิทัล สร้างบล็อกเชนสัญชาติไทย ใช้บิ๊กดาต้าวางแผนผลิตสินค้าเกษตร สร้างเขตธุรกิจใหม่ 4 ภาค สร้างคนยุคดิจิทัล จาก 4 แสนคนให้เป็น 2 ล้านคนภายใน 4 ปี วางแผน 1 ตำบล 1 คนดิจิทัล ราชการคลิ๊กเดียว อินเทอร์เน็ตฟรีทุกหมู่บ้าน สร้าง Coding school ดึงดูด Digital nomads
  2. เติมเต็มความรู้เท่าทันภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้กับประชาชน วางโครงสร้างพื้นฐานในการแก้ปัญหาของรัฐ และทุกคนในชุมชนต้องมีส่วนร่วม ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไข ต้องสร้างชุมชนดิจิทัล ไม่ใช่ปัญหาของผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นชุมชนดิจิทัล
  3. ภัยอาชญากรรมไซเบอร์ ส่วนหนึ่งมาจากกลไกการกำกับดูแลที่ควบคุมหละหลวมมาก ผลประโยชน์ของคนกลางเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองจึงมีอยู่ โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง ซึ่งต้องจัดการและเราทุกคนต้องไม่ยอมให้อำนาจเหล่านี้เข้ามาครอบงำ

เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นทั้งโอกาสและวิกฤติ นโยบายด้านดิจิทัลจึงต้องเป็นเรื่องที่ไม่ขายฝันแต่จับต้องได้จริงและมีมุมมองใหม่ๆ วางรากฐานอนาคตให้ดีและก้าวตามยุคสมัยให้ทัน

related