svasdssvasds

GISTDA กับภารกิจดึงคนท้องถิ่นใช้นวัตกรรม ปั้นคาร์บอนเครดิตหารายได้เสริม

GISTDA กับภารกิจดึงคนท้องถิ่นใช้นวัตกรรม ปั้นคาร์บอนเครดิตหารายได้เสริม

คนชาติพันธุ์ แม้จะไม่เป็นที่สนใจของชาวคนไทย แต่พวกเขาถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ท้องถิ่นและเป็นกำลังเสริมที่สำคัญของรัฐ ภารกิจของ GISTDA จึงมุ่งสู่การพัฒนาคนท้องถิ่นมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล

ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า GISTDA พยายามที่จะนำความรู้ด้านเทคโนโลยีที่มีไปใช้ในการพัฒนาชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กในพื้นที่ได้มีการศึกษาที่มากขึ้น

ชัชวาล หลียา นัก GIS ชุมชน เล่าว่า เดิมพื้นที่รอบบริเวณโรงเรียนบ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน เป็นชุมชนย่อยที่มีพี่น้องชาติพันธุ์รวมกันหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ลาหู่ อาข่า ลีซู เมี่ยน จีนฮ้อ ลัวะ ปะหล่อง ไทใหญ่และคนเมือง 

ปัญหาที่เจอคือ เราไม่รู้ขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยอยู่ แต่เราทำมาหากินในพื้นที่มานาน เมื่อตกสำรวจเรากลายเป็นคนไม่มีสัญชาติ และกลายเป็นบุคคลที่บุกรุกพื้นที่ทำกิน ทั้งที่เราเกิด โตและตายกันมาหลายรุ่นหลายสมัย

ดังนั้น การที่มี Gistda เข้ามาให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีทำให้เรารู้ว่า พวกเราคือใคร และพื้นที่ตรงไหนที่เราควรหรือไม่ควรเข้าไป เพราะเราหารายได้จากการเก็บของป่า เก็บผักและผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว ไม่ได้ต้องการที่จะไปรุกล้ำหรือทำลายของป่าเพราะเราอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนานก่อนที่จะมีการจัดระเบียบการรับรองที่ดินช่วงปี 2545-2557 กลายมาเป็นเงื่อนไขที่ให้คนในหมู่บ้านต้องยืนยันสถานภาพ รับรองการทำกินหรือสร้างประโยชน์ให้ท้องถิ่นนั้นจริงๆ

ชาวบ้านในชุมชนที่มีหลากหลายชาติพันธุ์

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

การเข้ามาของ GISTDA นั้น คือการเอาภาพดาวเทียมมาคำนวณพื้นที่ให้ทราบว่าเราอยู่จุดไหน และพื้นที่ไหนคือที่ทำกิน โดยเอาภาพดาวเทียมในแต่ละปีให้ผู้นำหมู่บ้านมาเปรียบเทียบและตัดสินพื้นที่เพื่อลดปัญหาการแก่งแย่งพื้นที่เป้าหมาย 

นอกจากนี้ การนำภาพสามมิติมาประกอบข้อมูลจากการสำรวจของทีมงานและชาวบ้านทำให้เราทราบว่า พื้นที่ไหนที่เป็นพื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่าสงวน รวมทั้งพื้นที่สำรวจการจัดทำคาร์บอนเครดิต 

โดยในหมู่บ้านมีจุดสำรวจคาร์บอนเครดิตอยู่ประมาณ 40,000 ตันต่อไร่ เป็นพื้นที่ให้ชาวบ้านร่วมกันรักษา

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่สวนยางพาราที่เก็บน้ำยางพาราได้ 7.9 ตันต่อปี นำไปใช้สำหรับส่งขายสร้างรายได้เสริมให้เจ้าของพื้นที่ได้

ชัชวาล หลียา นัก GIS ชุมชน

อย่างไรก็ตาม ทางชุมชนได้เสนอข้อเรียกร้องแก่ทางภาครัฐ ให้ช่วยผลักดันและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกว่า 10 ล้านคนมีพื้นที่อยู่อาศัยที่ถูกต้อง เพราะพวกเราอยู่ในพื้นที่นี้แบบไม่ถูกกฏหมายมานาน ไม่เคยได้รับการดูแลใดๆ จากภาครัฐ สิ่งที่ต้องการคืออยากมีอาชีพที่มั่นคง มีความสุข และไม่โดนผลักดันออกจากพื้นที่ทำกินที่อยู่กันมานาน

"ฟ้าอาจไม่ใช่ของนก ปลาอาจไม่ใช่ของน้ำ ภูเขาอาจไม่ใช่แค่ของเรา แต่เป็นของชาติพันธุ์อื่นๆ เช่นกัน เราทุกคนเป็นเจ้าของธรรมชาติเหล่านี้ร่วมกัน"

ตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการ GISTDA ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การผลักดันเรื่องเทคโนโลยีต่อชาวชาติพันธุ์นั้น ไม่ใช่เพียงเพราะเราเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เพราะเรารู้ว่าหากรัฐได้ชาวบ้านช่วยในการสำรวจพื้นที่ ให้ข้อมูลและทำงานร่วมกัน ประเทศจะพัฒนาไปได้มากกว่านี้

"การที่เรามีข้อมูลจะช่วยให้เราทราบปัญหาเช่นไฟป่า น้ำท่วม ปัญหาเอลนิณโญ่ สิ่งเหล่านี้แม้จะดูจากดาวเทียมสำรวจได้ แต่ถ้ามีข้อมูลจากพื้นที่จริงมาประกอบจะช่วยให้คาดการณ์ภัยพิบัติได้แม่นยำขึ้น"

ชาวบ้านแค่มีมือถือและใช้แค่ GPS ในการบอกพิกัด ก็ช่วยวัดเรื่องความแม่นยำของพื้นที่แล้ว แม้จะมีความผิดพลาดบ้าง แต่เมื่อนำข้อมูลดาวเทียมของ GISTDA มารวมกัน ก็จะได้ความละเอียดมากขึ้น

ตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการ GISTDA

นอกจากนี้ สิ่งที่เราทำเป็นการสะสมข้อมูลเพื่อนำไปขยายผลเชิงวิเคราะห์ศักยภาพของทรัพยากรดิน น้ำและป่า แม้ชาวบ้านยังไม่สามารถเอาอุปกรณ์อย่าง Hotspot มาใช้ร่วมกับ GPS เพื่อทับซ้อนข้อมูลได้ แต่เชื่อว่าการที่มีข้อมูลของ GISTDA ส่งเข้ามาทุกวันและเสริมกับข้อมูลของชุมชนร่วมกันจะมีชุดข้อมูลนำไปใช้วิเคราะห์ปัญหาได้ดีกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ GISTDA คาดหวังคือ อยากให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยเอาข้อมูลที่เรามีไปใช้พัฒนา สร้างความรู้และโอกาสใหม่ๆ หรือเอาไปสร้างรายได้และนำเงินกลับไปช่วยพัฒนาชุมชนบ้าง

เพราะปัญหาของ GISTDA ไม่ใช่เรื่องเงินทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี แต่คือการนำเทคโนโลยีของเราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างสูงสุด จึงอยากให้คนรุ่นใหม่ใส่ใจเรื่องของนวัตกรรมและดาวเทียม และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด

related