SHORT CUT
พาเปิดใจ! ‘มรกต ยิบอินซอย’ รับไม้ต่อ 'ฟู้ดแพนด้า’ สู่อ้อมกอด ‘โรบินฮู้ด' ดีลมิตรภาพแบบไม่เทคโอเวอร์ แต่เป็นข้อตกลงเชิงกลยุทธ์ (Redirect Agreement) ค่า GP ต่ำ ดูแลไรเดอร์-ร้านค้า ยกระดับคุณภาพชีวิต
ในปี2568 มีการประเมินกันไว้ว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในประเทศไทยมีมูลค่าตลาด 1.4 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 12% จากปีที่ผ่านมา แม้สภาพเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ตลาดฟู้ดเดลิเวอรีกลับมีการขยายตัวได้ดี เนื่องจากการเติบโตของการบริการอาหารออนไลน์ในชีวิตประจำวันของคนไทย ขณะที่การแข่งขันในตลาดนั้นมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะเจ้าใหญ่ มีงบประมาณการตลาดมหาศาล ในการจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย
ล่าสุดมีข่าวคราวในวงการฟู้ดเดลิเวอรีในไทยมีความเคลื่อนไหวหลังจากที่ foodpanda แอปสั่งอาหารอันดับ 3 ขอยกธงขาว โบกมือลาตลาดไทยไปแล้ว ทั้งนี้ Delivery Hero SE แพลตฟอร์มเดลิเวอรีระดับโลกจากเยอรมัน ที่ได้มีการประกาศว่า foodpanda ซึ่งเป็นธุรกิจในภูมิภาคเอเชียของบริษัทจะยุติการให้บริการแพลตฟอร์ม รวมถึงบริการจัดส่งอาหาร และสินค้าในประเทศไทย ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้สอดคล้องกับแนวทางการปรับกลยุทธ์เชิงภูมิศาสตร์ของ Delivery Hero ซึ่งเคยดำเนินการมาแล้วในหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก กานา สโลวาเกีย และสโลวีเนีย
โดยบริษัทจะมุ่งเน้นทรัพยากรไปยังตลาดอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ที่มีศักยภาพในการเติบโตและผลตอบแทนที่สูงกว่า ทั้งนี้ทีมงานระดับภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบงานสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น การตลาด และการบริหารทรัพยากรบุคคลสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะยังคงดำเนินงานตามปกติต่อไป
ต่อมามีข่าวอีกว่าบริษัท ยิบอินซอย ได้มีความสนใจที่จะซื้อกิจการของ "ฟู้ดแพนด้า" พร้อมกับกำลังศึกษาถึงความเป็นไปได้ และดูความเหมาะสมของการลงทุน ตามหลักการโดยทั่วไปของธุรกิจ โดยในตอนนั้นรายงานข่าวระบุว่า ยิบอินซอยได้ปิดดีลซื้อกิจการ “โรบินฮู้ด” แอปฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย จากบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX มูลค่ารวมสูงสุด 2,000 ล้านบาท
และแล้ว… วันนี้ก็มาถึงเมื่อ ‘มรกต ยิบอินซอย’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด และ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน โรบินฮู้ด (Robinhood) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “สื่อเครือเนชั่น” เปิดใจถึงข่าวลือทั้งหมดว่า จะรับไม้ต่อจากฟู้ดแพนด้า และใช้โอกาสนี้ในการขยายฐานผู้ใช้งาน โดยได้พูดคุยกับ ผู้บริหาร เดลิเวอรี่ ฮีโร่ เจ้าของแบรนด์ “ฟู้ดแพนด้า” โดยตรงที่ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่มีการประกาศปิด แม้หลายฝ่ายมองว่า เป็นเรื่องที่ยาก และน่ากลัวในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดใหญ่นี้
โดย ‘โรบินฮู้ด ฟู้ดแพนด้า’ สู่ความร่วมมือเชิงมิตรภาพ ซึ่ง‘โรบินฮู้ด’ ได้ปิดจ็อบรับช่วงต่อดูแลทั้ง ‘ไรเดอร์-ร้านค้า’ ให้เต็มที่ท พร้อมกันนี้จะเร่งขยายอีโคซิสเต็มส์ในไทย พร้อมชูจุดแข็งซูเปอร์แอปพลิเคชันสัญชาติไทยเพื่อคนไทย และจะยึดโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม สร้างมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีให้ ‘ไรเดอร์’ เน้นย้ำเก็บค่าจีพีต่ำสุดในตลาด มั่นใจหลังจากนี้ ‘โรบินฮู้ด’ จะทำกำไรได้ภายใน 1 ปี มุ่งเจาะตลาดต่างชาติเพิ่ม ดึง 'เอไอ' พลิกรูปแบบแอป ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน หวังเป็นพอร์ตธุรกิจใหญ่เสริมแกร่ง 'ยิบอินซอย'
พร้อมกันนี้ ‘โรบินฮู้ด’ ได้มีการประกาศ ‘ข้อตกลงเชิงกลยุทธ์’ หรือ Redirect Agreement กับ ‘ฟู้ดแพนด้า’ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Delivery Hero จากประเทศเยอรมนี เป็นที่เรียบร้อย ข้อตกลงนี้ มีเป้าหมายเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่นของ ลูกค้า ร้านอาหาร และไรเดอร์ของฟู้ดแพนด้าในประเทศไทยสู่ ‘โรบินฮู้ด’
‘มรกต’ เล่าอีกว่า ความร่วมมือระหว่าง โรบินฮู้ด กับ ฟู้ดแพนด้า ไม่ใช่การซื้อกิจการ หรือ เทคโอเวอร์ เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย พีดีพีเอ (PDPA) ทำให้ ฟู้ดแพนด้า ไม่สามารถถ่ายโอนข้อมูลลูกค้าให้ โรบินฮู้ด ได้โดยตรง รูปแบบความร่วมมือคือ ฟู้ดแพนด้า จะเป็นผู้สื่อสารไปยังฐานลูกค้าเดิมของตนเอง เพื่อเชิญชวนหรือแนะนำให้มาใช้งานแอปพลิเคชัน โรบินฮู้ดแทน โดยโรบินฮู้ดอาจใช้งบประมาณไม่มากในการตกลงครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่จำนวนมหาศาลเหมือนดีลซื้อขาย
“เราอยากดูแลไรเดอร์ หรือร้านอาหารที่อยู่ในเครือข่ายฟู้ดแพนด้า ในฐานะที่โรบินฮู้ด เป็นแบรนด์ของคนไทยเราอยากช่วยในเรื่องนี้ ไม่ใช่การเทคโอเวอร์ หรือการซื้อกิจการ เราบอกว่าเป็นแอปที่เปิดกว้างพร้อมช่วยเหลือไรเดอร์ หรือร้านค้าจากฟู้ดแพนด้าแต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจว่าอยากมาอยู่กับเราไหม”
อย่างไรก็ตามยังคงจะจุดยืนในการดำเนินธุรกิจแบบ “สังคมเกื้อกูล” (sharing society) และการสร้างอีโคซิสเต็ม ที่ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งร้านค้า ไรเดอร์ และลูกค้า จุดเด่นที่สำคัญ คือ การเก็บค่า GP จากร้านค้าในอัตราที่ต่ำที่สุดในตลาดที่ 28% บวก VAT (รวมประมาณ 29% กว่าๆ) ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งบางรายที่อาจเก็บสูงถึง 45% ความตั้งใจในการเก็บ GP ต่ำนี้เพื่อช่วยเหลือร้านค้า
ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการดูแลไรเดอร์ โดยให้ “ค่ารอบดีที่สุด” และไม่พ่วงออเดอร์ เพื่อให้ลูกค้าได้รับอาหารอย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ มีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของไรเดอร์อย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ ขณะที่ โรบินฮู้ด เชื่อว่า การทำเช่นนี้ช่วยให้ไรเดอร์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับการเข้ามาดูแลฐานลูกค้า ร้านค้า และไรเดอร์ของฟู้ดแพนด้า ยังเปิดโอกาสให้โรบินฮู้ด ขยายฐานผู้ใช้งานและเครือข่ายทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ฟู้ดแพนด้า มีเครือข่ายครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งเติมเต็มจุดที่ โรบินฮู้ดยังต้องการเสริมความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด และได้ตั้งเป้าหมายที่จะสามารถดำเนินธุรกิจให้มีกำไรได้ภายในปี 2568 ซึ่งการบรรลุเป้าหมายนี้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากผู้ใช้งานทุกคน
ในขณะเดียวกันโรบินฮู้ดยังได้พัฒนาแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง และได้นำเทคโนโลยี เอไอ มาช่วยในการแปลเมนูอาหารจากภาษาไทย เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับฐานลูกค้าชาวต่างชาติรวมถึงผู้ใช้งานจากฟู้ดแพนด้าเดิม โดยเฉพาะร้านอาหารที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ ที่อาจยังไม่เคยอยู่ในระบบของโรบินฮู้ดมาก่อน นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสในการนำเอไอมาใช้ประโยชน์อื่นๆ ในระบบนิเวศนี้อย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมาย
ส่วนแผนธุรกิจในอนาคตจะก้าวไปสู่ซูเปอร์แอป สำหรับคนไทยมีแผนขยายบริการจาก ฟู้ดดิลิเวอรี่ ไปยังบริการอื่นๆ เช่น เรียกรถ (Ride-hailing), การส่งของ (Express/Logistic) ต่ออยอดแพลตฟอร์มเพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ และให้ความสำคัญกับหลักการ ESG โดยเฉพาะด้าน Social (ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) และ Environmental (สิ่งแวดล้อม)
ข้อตกลงนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทย ที่สะท้อนว่าแบรนด์ระดับสากลและแพลตฟอร์มท้องถิ่นสามารถร่วมมือกัน เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและความต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ‘โรบินฮู้ด' แอปพลิเคชันของคนไทยพร้อมที่จะก้าวต่อไปอย่างใจเด็ด!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จาก ฟู้ดแพนด้า สู่.. โรบินฮู้ด ขึ้นสังเวียนศึกฟู้ดเดลิเวอรีไทย
ร้อนจัด! คนไม่ออกบ้าน ดันยอดสั่ง “เดลิเวอรี่”พุ่งพรวด ไรเดอร์รายได้งาม
เดลิเวอรี่อัดโปร “ระบบสมาชิก” หวังลูกค้าใช้งานซ้ำจนขาดกันไม่ได้