svasdssvasds

ถอดบทเรียน ธุรกิจเช่า e-Scooter จากอดีตยูนิคอร์น สู่วันที่ถอนตัว

ถอดบทเรียน ธุรกิจเช่า e-Scooter จากอดีตยูนิคอร์น สู่วันที่ถอนตัว

ถอดบทเรียน ธุรกิจเช่า e-Scooter จากอดีตยูนิคอร์นที่ไวที่สุดในซิลิคอนวัลเลย์ สู่วันที่ประกาศถอนตัว "ความผิดธุรกิจ" หรือ "นิสัยคน" ?

ธุรกิจให้เช่านั้นมีมากมายหลากหลาย แต่ก่อนมีให้เช่าหนังสือ เช่าภาพยนตร์ ปัจจุบันถูก Disrupt กลายเป็น e-Book หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่าง Netflix หรือ Disney+

แล้วการให้เช่ายานพาหนะเองก็มีมาตั้งแต่สมัยก่อน ทั้งการเช่ารถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือการปรับตัวให้รักษ์โลกมากยิ่งขึ้นเปลี่ยนมาเป็นเช่าจักรยาน เช่น จักรยาน Ofo หรือ โครงการปันปั่น ของ กทม. ทั้งหมดนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกที่มากกว่าการใช้ขนส่งสาธารณะ

แต่ธุรกิจเช่าจักรยานถูก Disrupt โดยเปลี่ยนให้เป็นการเช่า e-Scooter ด้วยขนาดที่กะทัดรัดกว่า คล่องตัวกว่า และที่สำคัญไม่ต้องปั่นให้เหนื่อย เพียงแค่บิดเท่านั้น พร้อมกับเรียกตัวเองว่าเป็น Micro-Mobility อนาคตแห่งการเดินทาง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

ทำความรู้จักธุรกิจให้เช่า e-Scooter

เจ้าตลาดให้เช่า e-Scooter ในสหรัฐฯ มีอยู่ 2 เจ้า ได้แก่ Bird ที่ไปนำ e-Scooter ของ Xiaomi มาดัดแปลง กับ Lime ที่พัฒนาและผลิต e-Scooter ขึ้นมาด้วยตัวเองทั้งหมด

การใช้งานนั้นสะดวกมาก เพียงแค่โหลดแอปพลิเคชั่นจาก QR Code บน e-Scooter สมัครสมาชิกให้เรียบร้อยก็สามารถเริ่มการใช้งานได้ในทันที เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางก็สามารถจอดได้เลย แล้วจะมีผู้ที่ต้องการใช้งานมาเช่าไปขี่ต่อเอง

ค่าบริการไม่แพงอย่างที่คิด เริ่มต้นด้วยราคาสบายกระเป๋าที่ 1 ดอลลาร์ (38.15 บาท) นาทีต่อไปนาทีละ 15 เซนต์ (5.72 บาท) ด้วยวิธีการตัดผ่านบัตรเครดิต ตกการใช้งานครั้งละประมาณ 3-5 ดอลลาร์ (114-190 บาท) ซึ่งถูกกว่าการนั่ง Uber อย่างแน่นอน แถมได้ลุครักษ์โลกอีกด้วย

Bird นั้นเป็นผู้ริเริ่ม Start Up นี้ โดยนำ e-Scooter ไปตั้งในเมืองซานฟรานซิสโก ตามหัวมุมถนน ซึ่งในช่วงแรกได้รับการตอบรับที่ดี จนทำให้เหล่า Investor แห่ลงทุนอย่างรวดเร็ว กลายเป็นยูนิคอร์นที่โตไวที่สุดในประวัติศาสตร์

แน่นอนว่าเมื่อมีผู้นำ ก็ต้องมีผู้ตาม ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด พบเห็น e-Scooter ทุกหนแห่ง และขยายตัวไปยังเมืองใหญ่อื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา อาทิ นิวยอร์ก , ลอสแอนเจลิส , ดีทรอยต์ และ ฯลฯ

จุดเริ่มต้นแห่งหายนะ ธุรกิจเช่า e-Scooter

จากตอนแรก ๆ ที่คนแห่กันใช้ทำให้บริษัทเติบโตเร็ว มีคู่แข่งเข้ามาแย่งตลาดกันเป็นจำนวนมาก แต่อะไรที่มีมากเกินไปย่อมไม่ดี

e-Scooter ทำให้ทัศนียภาพของเมืองนั้นดูไม่สวยงามเหมือนแต่ก่อน เพราะมองไปทางไหนก็จะเห็นแต่ e-Scooter ประกอบกับผู้ใช้งานบางรายไม่ยอมจอดไว้ดี ๆ แต่วางทิ้งไว้กับพื้นทำให้รกทางเท้าและเกะกะผู้อื่น

หรือยิ่งเวลาฝนตก ถนนเปียก ๆ e-Scooter ล้มระเนระนาดก็ยิ่งดูไม่น่าใช้งานและไม่สวยงาม ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่พอใจกับเหล่า e-Scooter พากันถีบให้ล้ม ยิ่งล้ม ยิ่งหงุดหงิด แล้วยิ่งพากันถีบ วนกันเป็นวงจรไป

เมื่อ e-Scooter ทำให้เมืองดูขาดระเบียบ ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนไปร้องเรียนกับเมืองให้มีการจัดโซนนิ่ง ทำจุดจอดเพื่อความเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ไม่สามารถจอดที่ไหนก็ได้อย่างในตอนแรก

ความผิด "e-Scooter" หรือ "นิสัยคน" ?

นอกจากการจัดโซนนิ่งแล้ว เมืองพยายามที่จะควบคุม e-Scooter ด้วยการจำกัดจำนวนของ e-Scooter โดยทุก ๆ หนึ่งคันที่จดทะเบียนเพื่อที่จะวางให้เช่าบริการจะต้องเสียค่าดำเนินการเพื่อนำเงินไปปรับปรุงทัศนวิสัยของเมืองให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

เมื่อการให้เช่า e-Scooter ไม่สะดวกสบายเหมือนเดิม รวมกับความโกรธที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้ประชาชนหลายคนพากันทำลาย e-Scooter ทั้งการจุดไฟเผา หรือโยนทิ้งแม่น้ำ กลายเป็นสร้างมลภาวะให้แก่สิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าเดิม เพราะ e-Scooter นั้นถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีสารอันตรายอยู่ในนั้น ทั้งแผงวงจร ทั้งแบตเตอรี่ไฟฟ้า

นอกจากประเด็นการทำลาย e-Scooter ที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทแล้ว ยังตามมาด้วยคดีทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นจาก e-Scooter อีกด้วย เช่นการขี่ไปทำร้ายคนอื่น แล้วขี่หนีจากไป ทั้งที่ไม่ได้มีเรื่องบาดหมางหรือเคยรู้จักกันมาก่อน

จากปัญหาที่ตามมามากมายของการให้เช่า e-Scooter ทั้งผังเมือง การทำลายทรัพย์สิน การทำร้ายร่างกาย จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ เป็นความผิดของ "บริษัทให้เช่า e-Scooter" หรือ "เป็นที่นิสัยคน" มากกว่ากัน ?

แสงสว่างในธุรกิจ Start Up ยังมีอยู่ไหม ?

แน่นอนว่าการทำธุรกิจนั้นย่อมต้องหวังผลกำไร ยกตัวอย่าง Bird ที่ใช้ e-Scooter จาก Xiaomi มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 500 ดอลลาร์ โดยจะต้องอาศัยการเช่าอย่างน้อยประมาณ 5 ครั้ง/วัน เป็นระยะเวลา 5-6 เดือน ถึงจะคืนทุนค่า e-Scooter

ซึ่งโดยปกติแล้วสินค้าเหล่านี้ควรมีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 1-2 ปี

แต่จากตัวเลขที่ Bird เคยทำรีเสิร์ชออกมาระบุว่า การใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.5 ครั้ง/วัน ซึ่งนั่นต่ำกว่าเป้าเพียงเล็กน้อย อาจต้องยืดระยะเวลาหวังผลคืนทุนออกไปเป็น 7-8 เดือนแทน

แต่อายุการใช้งานของ e-Scooter นั้นกลับสั้นเพียง 28 วันเท่านั้น ทั้งนี้อาจไม่ใช่เพราะการใช้งานที่ไม่รักษาแต่เป็นผลมาจากการทำลายทรัพย์สินด้วย

และอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ คือ มีการขโมย e-Scooter นำไปดัดแปลงให้กลายเป็นของตัวเอง ด้วยสาเหตุทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้อายุการใช้งานที่อย่างน้อยควรจะนานสัก 1 ปีตามการการันตีของ Xiaomi เหลืออยู่เพียง 28 วัน

ยูนิคอร์น เริ่มถอดใจ

ล่าสุด Bird ผู้ริเริ่มสตาร์ทอัพให้เช่า e-Scooter ประกาศ "ถอนให้บริการในหลายเมือง" โดยจะยกเลิกในยุโรป 3 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี สวีเดน และนอร์เวย์ ตลอดจนอีกหลายเมืองในสหรัฐฯ ยุโรป และตะวันออกกลาง

Bird กล่าวว่า การตัดสินใจออกจากตลาดเหล่านี้ได้รับแรงจูงใจจากแผนการบรรลุความยั่งยืนทางการเงินด้วยตนเอง ภายใต้แผนนี้ Bird จะปิดร้านค้าในเมืองต่าง ๆ ที่ขาด "กรอบการกำกับดูแลที่จำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมโครโมบิลิตี้ที่เป็นนวัตกรรม แข่งขันได้ และพึ่งพาตนเองได้"

related