svasdssvasds

กระทบหนัก หลัง SVB ปิดกิจการ ตลาดหุ้นร่วงเตือนนักลงทุนจับตาให้ดี

กระทบหนัก หลัง SVB ปิดกิจการ ตลาดหุ้นร่วงเตือนนักลงทุนจับตาให้ดี

กลายเป็นข่าวใหญ่ช่วงวันหยุดสำหรับกรณีรัฐแคลิฟอเนีย ประกาศปิดธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB ซึ่งเป็นธุรกิจที่เน้นบริการทางการเงินให้แก่สตาร์ทอัป หลังพบปัญฆาด้านสภาพคล่องและพยายามขายหุ้นเพิ่มทุน

หลังจากที่ FDIC ซึ่งเป็นสถาบันคุ้มครองเงินฝากให้กับผู้ฝากเงินในสหรัฐ ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาดูแลทรัพย์สินของ  Silicon Valley Bank หรือ SVB และพบความผิดปกติในการขายพันธบัตร และการขาดทุนที่สะสมจนทำให้ธนาคารต้องเร่งขายหุ้นเพื่อเพิ่มทุน

โดย FDIC จะทำการขายสินทรัพย์ (liquidate) ของธนาคาร SVB เพื่อจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ฝากเงินและบรรดาเจ้าหนี้ธนาคารด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานใหญ่และสาขาต่างๆ ของ SVB จะกลับมาเปิดให้บริการในวันที่ 13 มี.ค.นี้ โดยผู้ฝากเงินที่มีประกันจะสามารถเข้าถึงเงินฝากของตนในส่วนที่ได้รับความคุ้มครอง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บัญชี ไม่เกินเช้าวันจันทร์ (13 มี.ค.) และธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยล่วงหน้าให้แก่ผู้ฝากเงินที่ไม่มีประกันภายในสัปดาห์หน้า

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

ช่วงสิ้นปี 2565 พบว่า ธนาคารมีมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 209,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นเงินฝาก 175,400 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ สัญญาณการล่มสลายของ SVB เริ่มปรากฏชัดขึ้นหลังจากที่ธนาคารเริ่มเทขายพันธบัตรและสินทรัพย์ออกมาในราคาขาดทุน 1,800 ล้านดอลลาร์

อีกทั้งยังประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน 2,225 ล้านดอลลาร์เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวของธนาคาร SVB ทำให้บรรดาลูกค้าที่ถือบัญชีธนาคารอยู่ เกิดความตื่นตระหนกจนพากันแห่ถอนเงินออกอย่างรวดเร็ว

การปิดธนาคาร SVB ไม่เพียงถูกมองว่าเป็นการล่มสลายของสถาบันการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเกิดกรณีการล้มครืนของธนาคารวอชิงตัน มิวชวล (Washington Mutual) แต่ยังถือเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (retail bank) ใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐที่ต้องปิดตัวลง

ทางด้านนักวิเคราะห์จากธนาคารเกียนตินาคิน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย มองว่า การปิดตัวของ Silicon Valley Bank กลายเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะสหรัฐไม่เห็นปัญหาธนาคารใหญ่ๆ ถูกปิดมานานมากแล้ว

SVB ถือว่าเป็นธนาคารที่ถูกปิดที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่วิกฤตปี 2008 แต่ถ้ามองย้อนกลับไป การปิดธนาคารในสหรัฐเคยเป็นเรื่องที่ธรรมดามากเลย สมัยที่ธนาคารไม่ได้ใหญ่ขนาดนี้

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ได้สะท้อนสาเหตุที่ SVB ต้องปิดตัวลงว่า

ช่วงที่สตาร์ทอัปได้รับความสนใจสูง มีเงินฝากเข้ามาเป็นจำนานมาก ธนาคารนำเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี

เฟดใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ย เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าพันธบัตรรัฐบาลที่ถือไว้ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ที่ทำให้ลูกค้าเงินฝากทะยอยถอนเงินจากธนาคาร

ธนาคารต้องขายพันธบัตรที่ราคาขาดทุนเพื่อนำเงินมาให้ลูกค้าที่ต้องการถอนเงิน

ขาดทุนจากการขายพันธบัตรสูงถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง

แม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่ขยายสู่วิกฤตการเงินรอบใหม่ แต่ทุกองค์กรต้องหันมาตรวจสินทรัพย์ในมือว่ากระจุกในสินทรัพย์ประเภทใดมากเกินไปหรือไม่

ปิดท้ายด้วย ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บีคอน เวนเจอร์ แคปปิตอล นักลงทุนในวงการสตาร์ทอัปไทย มองว่าเหตุการณ์นี้ไม่น่ากระทบกับไทยมากนัก

ต้องจับตามองดูกันว่า การล้มของ SVB จะส่งผลกับธุรกิจธนาคารของไทยมากน้อยเพียงใด

related