svasdssvasds

Frontdesk สตาร์ทอัปทำความสะอาด เลิกจ้างพนักงานกว่า 200 คน ผ่าน Google Meet

Frontdesk สตาร์ทอัปทำความสะอาด เลิกจ้างพนักงานกว่า 200 คน ผ่าน Google Meet

Frontdesk สตาร์ทอัปด้านอสังหา ประกาศเลิกจ้างพนักงานผ่านการประชุมบน Google Meet ส่งผลให้พนักงานกว่า 200 คนที่เข้าร่วมถูกให้ออกทันที พร้อมยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์กรณีล้มละลาย

Jesse DePinto ซีอีโอของ Frontdesk ได้เรียกประชุมพนักงานกว่า 200 คนผ่าน Google Meet เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยใช้เวลาเพียง 2 นาที เพื่อแจ้งให้ทราบว่าบริษัทจะยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์สินจากภาครัฐ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งหากบริษัทต้องล้มละลาย หลังบริษัท Proptech รายนี้อาจจะต้องปิดตัวลง ส่งผลให้การเลิกจ้างงานมีผลทันทีหลังการประกาศออกไป

Frontdesk เป็นแพลตฟอร์มให้เช่าที่พัก ที่ทำงาน อพาร์ทเมนท์ คล้ายกับ AirBNB และได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 โดยมีอพาร์ทเมนท์และเฟอร์นิเจอร์ให้เช่าใช้งานมากกว่า 1,000 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา 

การเลิกจ้างงานในครั้งนี้ จึงส่งผลให้มีตำแหน่งงานหายไปอีกกว่า 200 ตำแหน่ง ทั้งพนักงานเต็มเวลา พนักงานนอกเวลาและผู้รับเหมา

สตาร์ทอัปอสังหากำลังประสบปัญหาล้มละลาย

ความน่ากังวลในวงการสตาร์ทอัปนั้น เป็นเพราะช่วงสองปีหลังนี้สตาร์ทอัปทั่วโลกส่งสัญญาณไล่พนักงานออกมากกว่า 425,000 คน อย่างเช่นในอินเดียก็มีการไล่พนักงานออกแล้วกว่า 36,000 คน และในปี 2023 ที่ผ่านมา ก็มีพนักงานในกลุ่มเทคโนโลยีและสตาร์ทอัประดับโลก มีการเลิกจ้างงานพนักงานเกือบ 2.6 แสนคนเช่นกัน

สำหรับปัญหาสตาร์ทอัปในอินเดียนั้น ผลกระทบหลักมาจากการที่ไม่มียูนิคอร์นตัวใหม่เกิดขึ้นเลย ทั้งที่ก่อนหน้าปี 2023 มีมากถึง 100 รายแต่การระดมทุนเพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่กลับทำได้ช้า เพราะพวกเขาไม่สามารถจัดพอร์ตการลงทุนสำหรับนักลงทุนได้ดีพอ

ในปี 2022 ถือว่าเป็นบทเรียนจากการเลิกจ้างพนักงาน 10,029 ราย ใน 27 สตาร์ทอัปชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Cars24, Ola, Meesho, MPL, Trell, Unacademy, Vedantu, และ Yaari เป็นต้น เรียกได้ว่าเฉลี่ยการให้ออกของสตาร์ทอัปในอินเดียอยู่ที่ 30% จากจำนวนสตาร์ทอัปทั้งหมด

การเลิกจ้างของสตาร์ทอัป

โดยปัญหาหลักๆ ที่ต้องเลิกจ้างพนักงานนั้นมาจาก 3 สาเหตุ คือ

  • การลดต้นทุน
  • การปรับโครงสร้างบริษัท
  • ล้มละลาย

นอกจากนี้ ภาวะสงคราม ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่ถดถอยก็เป็นแรงกดดันสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อกระทบตลาดหุ้นทั่วโลก

สะท้อนให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจระดับมหภาคทั่วโลกกำลังมีผลกระทบอย่างหนักและการไล่ออกของพนักงานระดับต่างๆ ยังคงเกิดขึ้นต่อไป หากความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายและสภาวะเศรษฐกิจยังคงมีปัญหาเช่นนี้

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็เจอผลกระทบเช่นกัน

ส่วนในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee ก็เคยปรับพนักงานไทยไปกว่า 1,000 คน และล่าสุด Lazada เองก็มีการประกาศปรับลดพนักงานฝ่ายการตลาดตั้งแต่ต้นปี 2024 เกือบ 100 คน คาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานในสิงคโปร์

นอกจากนี้ ยังมี หัวเว่ย ที่ปลดพนักงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ในสหรัฐและแคนาดาด้วย

ดูเหมือนว่าปี 2024 จะเป็นปีแห่งการต้องลุ้นว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีหรือร้าย ส่งผลต่อธุรกิจและการลงทุนของทั่วโลกในทิศทางใดบ้าง

 

ที่มา : Gulfnews, กรุงเทพธุรกิจ

ภาพ : unsplash

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

related