svasdssvasds

PTEC โชว์ความพร้อม รองรับ EV ศูนย์ตรวจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มาตรฐานระดับโลก

PTEC โชว์ความพร้อม รองรับ EV ศูนย์ตรวจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มาตรฐานระดับโลก

PTEC สวทช. โชว์ความพร้อม ศูนย์ตรวจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มาตรฐานระดับโลก รองรับรถ EV ที่กำลังเติบโตให้คนไทยอุ่นใจในมาตรฐานและสร้างแต้มต่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางประกอบรถยนต์ไฟฟ้า

ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. โชว์ความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านการตรวจสอบวัดมาตรฐานแบตเตอรี่ทุกประเภทและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เพื่อให้พร้อมรับกับความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีแบตเตอรี่ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่น ๆ ในอนาคต เพราะปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าเริ่มมีผู้ผลิตมากมายหลากหลายเจ้า ดังนั้น การที่จะทำให้มั่นใจว่าแบตเตอรี่เหล่านั้นได้มาตรฐานเดียวกันและปลอดภัยกับผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช.

ดร.ไกรสร ระบุว่า ปัจจุบันศูนย์ PTEC ดูแลทั้งการตรวจสอบมาตรฐานการนำเข้าและส่งออก จากเดิมก่อตั้งในปี 2538 เริ่มทดสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ต่อยอดมาจนถึงอุปกรณ์โทรคมนาคม และอุปกรณ์การแพทย์ ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 40 ชีวิต ที่คอยตรวจสอบมาตรฐานอย่างแข็งขัน

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ดร.ไกรสร เล่าว่า วิธีการตรวจสอบมาตรฐานของ ศูนย์ PTEC ทีมงานจะต้องตรวจสอบทั้งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผู้นำเข้าต้องการขอมาตรฐาน แล้วจึงไปตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศด้วย เพื่อให้มั่นใจในกระบวนการผลิต แล้วจึงส่งรายงานเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการพิจารณารับมาตรฐาน มอก.

ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช.

ศูนย์ PTEC มีการรองรับการตรวจสอบการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อย่าง โทรศัพท์ , ศูนย์ตรวจสอบมาตรฐาน มอก. อย่าง ระบบไฟ LED , Powerbank เป็นต้น ขณะเดียวกันก็สามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ประเภทโทรคมนาคม อาทิ โทรศัพท์มือถือ และโดรน อากาศยานไร้คนขับ ได้เช่นเดียวกัน

ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) เป็นศูนย์ที่ให้บริการทดสอบ , สอบเทียบ และ สนับสนุน การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ไฟฟ้า , สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า , ระบบไฟส่องสว่าง , ยุทธภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ทุกชนิด

ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ PTEC สวทช.

ห้องทดสอบของ PTEC ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี เป็นหนึ่งในห้องทดสอบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาตรฐานระดับโลก และรองรับการทดสอบทุกประเภท อาทิ ความปลอดภัยเมื่อตัวแบตเตอรี่ได้รับอุบัติเหตุ , ความแข็งแรงคงทน , อุณหภูมิของแบตเตอรี่ , เสถียรภาพ , ประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ และความสามารถอื่น ๆ

เป้าหมายของ PTEC คือ การรองรับอนาคตของประเทศไทยที่จะเป็นศูนย์การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคนี้ เพราะเมื่อมีศูนย์การผลิตที่ประเทศไทยและมีศูนย์ที่ตรวจสอบมาตรฐานจะกลายเป็นแต้มต่อทำให้ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องส่งแบตเตอรี่กลับไปทดสอบในประเทศของตนเองเป็นการลดค่าใช้จ่ายโดยปริยาย

ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ PTEC สวทช.

มาตรฐานในการตรวจสอบที่ศูนย์ PTEC ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ

  • การตรวจสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าด้านความปลอดภัยและเพื่อการขนส่งตามข้อกำหนดของสหประชาชาติ (UN) ภายใต้มาตรฐาน UN R136 สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และ UN R100 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด PHEV และ รถยนต์ไฟฟ้า BEV ซึ่งสามารถทดสอบแบตเตอรี่ลิเธียมขนาดใหญ่สุดถึง 1MV เป็นแห่งแรกในอาเซียน
  • ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออก อย่าง ระบบไฟส่องสว่าง วิทยุเพื่อความบันเทิง ระบบนำร่อง ระบบ ECU เป็นต้น
  • ขณะเดียวกัน รถยนต์ในอนาคต จะมีการส่งสัญญาณเรดาร์ออกมาตรวจสอบสภาพแวดล้อมรอบตัว ก็ต้องได้รับการทดสอบด้วยเพื่อไม่ให้ไปกวนระบบที่ใช้สัญญาณอื่น ๆ เช่น ไฟจราจร , ATM และอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น ซึ่งศูนย์ PTEC ก็ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการตรวจสอบการส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าด้วย
  • สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แบบ AC ชาร์จได้สูงสุด 7 kW และ แบบ DC จะรองรับการตรวจสอบหัวชาร์จได้สูงสุด 250 kW สำหรับรถประจำทาง

ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช.

ดร.ไกรสร กล่าวทิ้งท้ายว่า ภายในปี 2566 ศูนย์ PTEC จะขยายระบบตรวจสอบมาตรฐานให้ครบวงจรของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

related