svasdssvasds

วันนี้ AI ไทย ไปถึงไหนแล้ว ? เช็กผลงาน 1 ปี แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ไทย

วันนี้ AI ไทย ไปถึงไหนแล้ว ? เช็กผลงาน 1 ปี แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ไทย

เช็กผลงาน 1 ปี แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ไทย วันนี้ AI ไทย ไปถึงไหนแล้ว ? เชื่อหรือไม่ วันนี้ รัฐบาลไทยมีความพร้อมเรื่อง AI ทัดเทียมนานาชาติ อยู่อันดับที่ 31 ของโลก

ตั้งแต่ปี 2565 ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ภายใต้ แผนปฏิบัติงานด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ 2565-2570 (Thailand National AI Strategy and Action Plan 2022 - 2027) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ ChatGPT จะเปิดตัวให้ผู้ใช้ทั่วโลกได้ทดลองเสียอีก

แผน AI แห่งชาติ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ 2 กระทรวง คือ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในทุกมิติด้วยปัญญาประดิษฐ์ โดยมี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมเป็นเลขานุการในการขับเคลื่อนแผน

1 ปี แผน AI แห่งชาติ อยู่จุดไหนแล้ว ?

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) , กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุว่า หากประเทศไทยจะนำ AI มาใช้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน และหน่วยงานต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด หากนำ AI มาใช้บริหารจัดการข้อมูลอย่าง กระทรวงมหาดไทย ที่มีข้อมูลของประชาชนจำนวนมาก ก็จะสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและยกระดับการบริการของกระทรวงฯ โดยมี AI เป็นเครื่องมือ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าว

หน่วยงานไทย ตื่นตัวอยากประยุกต์ใช้ AI มากแค่ไหน ?

ปัจจุบันการเติบโตทางเศรษฐกิจของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั่วโลก คาดว่าการเติบโตของตลาด AI ทั่วโลกจะอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2030 หรือ เติบโตราว 20 เท่าจากปี 2021 ซึ่งจากการสำรวจการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI Adoption) ในประเทศไทย ปี 2566 พบว่า

  • 15.2% มีการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ไปแล้วถึง 86 หน่วยงาน
  • หน่วยงาน 56.6% เริ่มมีแผนที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์แล้ว 320 หน่วยงาน
  • 28.2% ระบุว่ายังไม่มีแผนที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดยหน่วยงานส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ายังอยู่ในช่วงการศึกษาข้อมูล

ขณะเดียวกันสิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวังและประเทศไทยเองก็ต้องเร่งพัฒนา คือ จริยธรรมในการใช้ AI เพราะการใช้ AI โดยขาดจริยธรรมจะทำให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต จะนำไปสู่ความเข้าใจผิดและสร้างความขัดแย้งในสังคม ดังนั้นในแผนปฏิบัติการจึงมีการบรรจุเรื่องจริยธรรมเข้าไปด้วย

วันนี้ AI ไทย ไปถึงไหนแล้ว ? เช็กผลงาน 1 ปี แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ไทย

1 ปี แผน AI แห่งชาติ ทำไทยเขยิบขึ้นเป็นอันดับที่ 31 ของโลกทันที เรื่องความพร้อมของรัฐ

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ระบุว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมามีการเปิดศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AIGC) , การทำหนังสือคู่มือด้านปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ , พัฒนาแพลตฟอร์มคลาวด์กลางด้าน AI สำหรับภาครัฐ (GDCC) และเปิดให้บริการซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA ที่มีความสามารถในการประมวลผลสูงอันดับ 1 ของอาเซียนและอันดับที่ 70 ของโลก

ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AIGC) ขณะเดียวกันมีโครงการวิจัยและพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ในกองทุนวิจัย มูลค่า 1,290 ล้านบาทและมี สตาร์ทอัพลงทุนเพิ่มจากการลงทุนจากการส่งเสริมของรัฐ มูลค่าสูงถึง 639 ล้านบาท ทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล (AI Government Readiness index) มาอยู่อันดับที่ 31 จากอันดับที่ 59 ทันที หลังจากมีแผนปฏิบัติงานด้าน AI ในปีที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เล่าถึงสิ่งที่แวดวงประชุมผู้บริหารระดับสูงของโลกคุยกัน นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็คือเรื่อง AI ที่หลายฝ่ายถกเถียงกัน จากการที่มีโอกาสได้ไปประชุมด้านการศึกษาระดับโลก ก็พบว่า ผู้บริหารต่างกังวลว่า AI จะทำให้มนุษย์คิดไม่เป็น เพราะใช้ AI ในทางที่ผิด จากการเรียนรู้ที่ผิด เช่น เด็กใช้ AI ในการสอบและทำการบ้าน จนลืมนึกถึงแก่นสารของการเรียนขณะที่อีกเรื่องหนึ่งคือปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ สิ่งนั้นแสดงให้เห็นว่าทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญเรื่องปัญญาประดิษฐ์มากยิ่งขึ้น

ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

“ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อออกคู่มือจริยธรรมและเตรียมการให้ประเทศไทยแล้วพร้อมต่อการแข่งขันในระดับโลกและลดช่องว่างในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในทางที่ผิด” ปลัด อว. เล่า

“AI ถ้าใช้ให้เกิดประโยชน์จะมีโอกาสทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้มากยิ่งขึ้นแต่ถ้าหากใช้ในทางที่ผิดก็มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้” ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

ต่อยอด AI ให้เป็นมากกว่าแค่นวัตกรรม แต่ทำให้ใช้ได้จริง โดยเฉพาะวงการแพทย์

โดยภายในงานมีพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เรื่อง “การวิจัยพัฒนาชุดข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้าน ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์” ระหว่าง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอีกด้วย

พิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เรื่อง “การวิจัยพัฒนาชุดข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้าน ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์”

ซึ่งการลงนามครั้งนี้ จะทำให้นักวิจัยไทยสามารถพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลด้านการแพทย์ให้เป็นข้อมูลเปิดโดยไม่ระบุตัวตนคนไข้ เพื่อให้สามารถพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยและงานวิจัยนวัตกรรมของคนไทยให้สามารถพัฒนาและยกระดับชีวิตคนไทยได้มากยิ่งขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ในอดีตปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถในการคิดแค่ในเชิงตรรกศาสตร์ ซึ่งการวินิจฉัยโรคต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ในการวินิจฉัยให้แม่นยำ แต่ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์เริ่มสามารถที่จะเรียนรู้และตอบคำถามเชิงศิลป์ได้แล้ว แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น

“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ไม่ใช่การนำปัญญาประดิษฐ์เข้าไปทดแทนการวินิจฉัยโรคของบุคลากรทางการแพทย์แต่เป็นการลดความผิดพลาดของมนุษย์และลดความผิดพลาดอันเกิดจากความเหนื่อยล้าเพื่อเสริมระบบสาธารณสุขไทยให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กล่าว

AI ทางการแพทย์ ลดภาระหมอ ลดค่าใช้จ่ายรัฐ และต่อยอดให้ประเทศเพื่อนบ้านมาใช้บริการ

ขณะที่ภายในงานยังมี เสวนา “ทิศทางการขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาชุดข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์”ดำเนินรายการ ดร.วงศกร พูนพิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการความร่วมมือวิจัยขนาดใหญ่ สวทช.

นพ.ภัทรวินฑ์ อัตตะสาระ ผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลการแพทย์ กรมการแพทย์ ระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์ถือว่าขาดแคลน ขณะเดียวกันการใช้ AI จากต่างประเทศฐานข้อมูลก็แตกต่างกัน ทำให้โอกาสการวิเคราะห์โรคต่าง ๆ แม่นยำน้อยลง แต่หากใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาโดยคนไทย นอกจากจะแม่นยำสูงเพราะใช้ฐานข้อมูลคนไทยแล้ว ยังประหยัดงบประมาณและยังต่อยอดไปเป็นเครื่องมือให้หมอทั่วอาเซียนได้เข้ามาใช้บริการด้วยเพราะลักษณะทางพันธุกรรมและกายภาพของคนในภูมิภาคนี้คล้ายกัน เมื่อเทียบกับ AI ที่พัฒนาโดยบริษัทเอกชนในแถบยุโรป

นพ.ภัทรวินฑ์ อัตตะสาระ ผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลการแพทย์ กรมการแพทย์

AI ไม่ได้แย่งงานคนแต่จะมาช่วยลดโอกาสความผิดพลาดของคนด้วย

รองศาสตราจารย์ นพ.สิทธิ์ พงษ์กิจการุณ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า ปัจจุบันเรามีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยจำนวนมาก แต่ในแง่การรักษาในแต่ละขั้นตอนมีข้อมูลเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งหากเปรียบเทียบ ประเทศไทยมีเครื่องสแกน MRI ทั่วประเทศ อาจจะมากกว่าเกาะอังกฤษเสียอีก แต่การนำข้อมูลมาพัฒนาเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย

วันนี้ AI ไทย ไปถึงไหนแล้ว ? เช็กผลงาน 1 ปี แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ไทย

รองศาสตราจารย์ นพ.สิทธิ์ พงษ์กิจการุณ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

“การนำข้อมูลของคนไทยไม่ว่าจะเรื่องของการรักษาและรูปแบบของโรคต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์นับเป็นความท้าทายจากความหลากหลายของการเก็บข้อมูล ดังนั้นความท้าทายคือการบริหารจัดการข้อมูลเหล่านี้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นจึงเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการแบ่งปันข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ต่อยอดต่อไป โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วย”

ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนา สถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ระบุในการเสวนาหลังพิธีลงนามว่า หนึ่งในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ไทยให้ก้าวไปสู่ระดับโลกได้ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ไหนจุดที่มีความท้าทาย เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปไกลแค่ไหน หากบุคลากรยังไม่ได้รับการพัฒนา เทคโนโลยีใด ๆ ก็ไม่สามารถช่วยได้

ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนา สถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

“ในแง่ดีคือปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานและความรู้ต่าง ๆ ถูกพัฒนาและเริ่มจัดทำไปแล้ว เช่น AI For Thai ที่ลงทุนไปแล้ว 300-400 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคน และ การร่วมมือกันระหว่างกระทรวงต่าง ๆ จะทำให้การพัฒนาคนจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป“ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง กล่าว

ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีแผนรวมกันกับ กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ในการพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูง ในระดับปริญญาตรี มาแล้วกว่า 200,000 คน ดังนั้นเมื่อมีคน มีความรู้และมีเครื่องมือ อย่างซูปเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง มองว่า หากเราจะทุ่มเทงบประมาณซื้อเครื่องมือเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อพัฒนาทุกภาคส่วน อย่าง บุคลากร ให้พัฒนาไปพร้อม ๆ กันด้วย

ขณะที่ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.) เสริมว่า ปัจจุบันผู้บริหารองค์กรระดับสูงและหน่วยงานรัฐบาลเริ่มมีความเข้าใจเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจ กำลังพลนับเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและการวางโครงสร้างพื้นฐานให้ก้าวไปสู่นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.)

ดร.ชัย ระบุว่า ส่วนตัวมีโอกาสได้ถามถึงอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ในระดับโลกกับ ChatGPT ซึ่งก็ยังคงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบและรีเช็กอยู่บ้าง พบว่าเทรนด์ระดับโลกมันมีทั้งเรื่องทางการแพทย์ เช่น การวิเคราะห์เลือด และต่อยอดไปถึงความคิดที่จะใช้หุ่นยนต์เข้ามาทดแทนร่างอาจารย์ใหญ่ ซึ่งส่วนตัวเป็นผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์เอง ก็เห็นว่า จากเดิมที่ AI จะมีความเก่งเฉพาะด้าน แต่เมื่อเจอ ChatGPT ก็ทำให้เห็นว่าวันนี้ AI เก่งมากขึ้นจนสามารถตอบได้ทุกเรื่องแล้ว แม้จะมีการตกแต่งเรื่องไปบ้างก็ตาม

“สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือปัญญาประดิษฐ์เป็นแค่เครื่องมือไม่ใช่การทดแทนทรัพยากรบุคคล เพราะในวงการสาธารณสุขหรือในหลายๆวงการยังจำเป็นต้องใช้มนุษย์ในการตัดสินใจและรับผิดชอบอยู่” ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย กล่าว

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

related