svasdssvasds

นักวิทย์ห่วง ดาวเทียม ตกใส่โลกสร้างความเสียหาย หลังมีแผนปล่อยอีก 1 ล้านดวง

นักวิทย์ห่วง ดาวเทียม ตกใส่โลกสร้างความเสียหาย หลังมีแผนปล่อยอีก 1 ล้านดวง

นักวิทยาศาสตร์ ห่วงอนาคต หากวันหนึ่งโลกปล่อยดาวเทียมอีกกว่า 1 ล้านดวง สู่วงโคจร โดยเฉพาะวงโคจรต่ำ ดาวเทียมอาจตกสู่พื้นโลกสร้างความเสียหายได้

ในอดีตเรามักเห็นข่าว ชาวบ้านโดนเศษอุกกาบาตตกใส่บ้านอยู่บ้าง แต่ในอนาคตเราอาจเห็นข่าวดาวเทียมตกใส่บ้านก็ได้ เมื่องานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์การเมือง และนักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย พบว่ามีการยื่นเอกสารต่อสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU หน่วยงานของสหประชาชาติที่รับผิดชอบสำหรับการจัดสรรพื้นที่ในวงโคจรให้แก่ดาวเทียมต่างๆ เพื่อขอส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรต่ำมากกว่า 1 ล้านดวง โดยต้องการจะโคจรรอบวง "โคจรต่ำของโลก” หรือ “LEO” (Low Earth Orbit) เพื่อสร้างเครือข่ายดาวเทียมขนาดใหญ่ที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ต

ระยะห่างระหว่างดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) และดาวเทียมอื่นๆ - ที่มา researchgate.net

ดาวเทียมวงโคจรต่ำ ทำอะไรได้บ้าง ทำไมต้องปล่อยเยอะขนาดนั้น ?

ข้อมูลจาก NIDA พบว่า ดาวเทียมวงโคจรต่ำ คือ ดาวเทียมที่โดยทั่วไปจะโคจรและปฏิบัติการอยู่ ณ ระดับความสูงประมาณ 160-1,000 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ดาวเทียมสังเกตการณ์โลก ดาวเทียมสื่อสาร และดาวเทียมระบุตำแหน่งและนำทาง

ซึ่งหากเปรียบเทียบให้ใกล้ตัวเข้ามาหน่อย ดาวเทียมวงโคจรต่ำ เป็นดาวเทียมที่ อีลอน มัสก์ จะใช้สร้างโครงข่ายดาวเทียมที่ห้อมล้อมโลกนี้ไว้และส่งข้อมูลหากันเป็นโครงข่ายอินเทอร์เน็ตดาวเทียม ที่ชื่อว่า Starlink ซึ่ง อีลอน ก็ไม่ใช่เจ้าเดียวที่จะทำด้วย นั่นหมายความว่า ในอนาคตจะมีดาวเทียมจำนวนมากส่งขึ้นสู่อวกาศ

เงาสะท้อนดาวเทียมวงโคจรต่ำ ของ Starlink ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าจากโลก - ที่มา ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ

ส่วนดาวเทียมปกติ เนื่องจากอยู่ไกลกว่า ดาวเทียมวงโคจรต่ำ และไม่มีอากาศเป็นตัวกลางในการส่งคลื่นไปยังดาวเทียม จึงทำให้การส่งสัญญาณมีราคาสูงในความเร็วส่งข้อมูลที่เท่ากัน ทำให้ไม่เป็นที่นิยมมากนักในหมู่ผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา ผู้บริหาร SpaceX ระบุว่า ภายในสิ้นปี 2566 บริษัทมีแผนจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลกให้มากที่สุดเพื่อให้ครบตามเป้าหมายในการส่งดาวเทียมขึ้นไป 100 เที่ยว และตั้งเป้าว่าปีหน้าจะส่งอีก 144 เที่ยว โดยไม่ได้บอกว่าแต่ละครั้งจะส่งดาวเทียมขึ้นไปครั้งละกี่ดวง

1 ล้านดวงนี่เยอะกว่าดาวเทียม(วงโคจรต่ำ) ที่ใช้อยู่ปัจจุบันถึง 115 เท่า

แต่หากย้อนกลับไปที่ยอดรวม ดาวเทียมจำนวน 1 ล้านดวง ที่อยู่ระหว่างการยื่นเอกสาร ยังไม่ได้มีกำหนดเวลาชัดเจนว่า จะยิงขึ้นฟ้าเมื่อไหร่ แต่ด้วยจำนวนที่มากขนาดนั้น ถือว่า “น่าเป็นห่วง” มาก เพราะคิดเป็นจำนวนมากกว่าดาวเทียมที่ใช้งานได้ และกำลังโคจรอยู่รอบโลกในปัจจุบันถึง 115 เท่า

ดาวเทียมStarlink 60 ดวงขณะกำลังเตรียมปล่อยออกจากจรวดขั้นที่ 2 ในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.2019 - ที่มา Starlink

“หากดาวเทียมจำนวนหนึ่งล้านดวงถูกปล่อยออกไปจริงๆ ก็จำเป็นต้องมีการออกกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเสี่ยงที่ดาวเทียมจะชนกัน มลภาวะทางแสง และความเสี่ยงที่ดาวเทียมจะตกพุ่งชนโลก” แอนดรูว์ ฟอลเล นักวิจัยจากสถาบันอวกาศ มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย และผู้เขียนหลักของการวิจัยบอกกับ Space.com

ในจำนวนดาวเทียมวงโคจรต่ำที่โลกนี้มี ยังไม่รวมดาวเทียมที่ยังไม่หมดอายุและเจ้าของบริษัทล้มละลายหรือล้มเลิกโครงการเนื่องจากปัญหาเรื่องเงินทุนด้วย

กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ในปี 2562 ITU ได้ออกกฎข้อบังคับสำหรับกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่ที่บริษัทต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามเพื่อรักษาสิทธิในจุดโคจรของตน โดยให้ปล่อยกลุ่มดาวเทียม 10% ใน 2 ปีแรกนับจากดาวเทียมดวงแรกโคจรรอบโลก จากนั้นเพิ่มเป็น 50% ภายใน 5 ปี และปล่อยกลุ่มดาวเทียมทั้งหมดภายในปีที่ 7

ดาวเทียมอยู่บนอวกาศจะตกใส่หลังคาบ้านเราได้อย่างไร ?

ปกติแล้วดาวเทียมที่หมดอายุ ก็จะลอยค้างอยู่ในอวกาศ โคจรรอบโลกเป็นขยะอวกาศต่อไปเรื่อย ๆ แต่เนื่องจากโลกไม่ใช่ทรงกลมที่สมมาตร ทำให้วงโคจรของดาวเทียมมีแนวโน้มที่จะโคจรใกล้โลกเข้ามาเรื่อย ๆ เมื่อผ่านไปหลายสิบปี และยังมีโอกาสที่ดาวเทียมโคจรชนกันจนทำให้หลุดวงโคจรตกใส่โลกก็มี

ซึ่งเดิมทีดาวเทียมก็จะถูกเผาไหม้ตอนตกสู่โลก ในชั้นบรรยากาศก่อนตกถึงโลกอยู่แล้ว แต่หากดาวเทียมโคจรต่ำมีมากขึ้น โอกาสในการตกก็สูงขึ้นและอาจะถูกเผาไหม้ไม่หมดและตกใส่หลังคาบ้านเราได้

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

related