svasdssvasds

วิจัยชี้ “อีโมจิ” อาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาความสัมพันธ์

วิจัยชี้ “อีโมจิ” อาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาความสัมพันธ์

“อีโมจิ” ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์น่ารัก แต่คือสัญญาณของความใส่ใจ งานวิจัยชี้เพียงแค่มีอีโมจิในข้อความ ก็ช่วยให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นได้

SHORT CUT

  • งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทกซัส–ออสติน พบว่าเมื่อมีการแทรกอีโมจิในข้อความ ตัวผู้รับจะรู้สึกว่าอีกฝ่ายเอาใจใส่มากขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับระดับความพึงพอใจและความใกล้ชิดที่ดีขึ้น 
  • ผลสำรวจชี้ว่าไม่สำคัญว่าคุณจะใช้หน้าแฮปปี้ ใบหน้าเหวอ หรือรูปหัวใจ อีโมจิประเภทไหนก็ให้ผลทางอารมณ์ใกล้เคียงกัน สิ่งที่สำคัญคือ “การมีอยู่” ของอีโมจินั้นเอง 
  • ถึงแม้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ แต่การเลือกใช้อีโมจิสะท้อนว่าผู้ส่งใส่ใจในอารมณ์ของคู่สนทนา ไม่ใช่แค่ตกแต่งข้อความ ส่งผลให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น กระทั่งในบทสนทนาออนไลน์ที่สั้น ๆ

“อีโมจิ” ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์น่ารัก แต่คือสัญญาณของความใส่ใจ งานวิจัยชี้เพียงแค่มีอีโมจิในข้อความ ก็ช่วยให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นได้

ผลการศึกษาใหม่จากมหาวิทยาลัยเทกซัส ออสติน เผยว่า การใช้อีโมจิในข้อความสามารถช่วยเสริมสร้างความใกล้ชิดและความพึงพอใจในความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในยุคที่การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์มีบทบาทสำคัญมากขึ้น

แค่เพิ่มอีโมจิ ก็เปลี่ยนความรู้สึกได้

ในการศึกษา นักวิจัยได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมจำนวน 260 คน อายุระหว่าง 23–67 ปี และสุ่มให้แต่ละคนอ่านข้อความตัวอย่างจำนวน 15 ชุด ซึ่งมีเนื้อหาที่เหมือนกันทุกประการ ยกเว้นเพียงบางชุดที่ใส่อีโมจิไว้ในข้อความ ขณะที่อีกบางชุดไม่มีอีโมจิเลย

ผู้เข้าร่วมถูกขอให้จินตนาการว่าตนเองเป็นผู้ส่งข้อความ และให้ประเมินการตอบสนองของคู่สนทนา โดยเน้นไปที่ “ความรู้สึกว่าอีกฝ่ายตอบสนองต่ออารมณ์ของตน” (perceived partner responsiveness)

ผลลัพธ์ชัดเจน ผู้ที่ได้รับข้อความที่มีอีโมจิ รู้สึกว่าคู่สนทนามีความใส่ใจ และมีความเข้าอกเข้าใจมากกว่าข้อความที่ไม่มีอีโมจิเลย โดยความรู้สึกเหล่านี้เชื่อมโยงอย่างมีนัยกับระดับความพึงพอใจและความใกล้ชิดในความสัมพันธ์

ซัลลี ฮูห์ (Sally Huh) นักวิจัยผู้ร่วมศึกษาระบุว่า “ที่น่าสนใจคือ เราไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างอีโมจิที่เป็นรูปหน้า กับอีโมจิประเภทอื่น เช่น หัวใจ ดอกไม้ หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ”

เธอกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ผู้รับรู้สึกว่าอีกฝ่าย “ตอบสนองต่ออารมณ์” คือ “การมีอยู่” ของอีโมจิในข้อความ ไม่ใช่ชนิดของอีโมจินั้นเอง ซึ่งสวนทางกับความเชื่อเดิมที่ว่าต้องใช้อีโมจิให้ “ถูกประเภท” ถึงจะได้ผลทางอารมณ์

วิจัยชี้ “อีโมจิ” อาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาความสัมพันธ์

แม้จะเป็นเครื่องมือดิจิทัลเล็ก ๆ แต่ทีมวิจัยชี้ว่า อีโมจิทำหน้าที่มากกว่าการตกแต่งข้อความ หรือแสดงอารมณ์พื้นฐาน เพราะมันยังส่งสัญญาณทางจิตวิทยาได้ว่า ผู้ส่งกำลัง “เอาใจใส่” ต่อบทสนทนา และใช้เวลาเลือกสื่ออารมณ์ให้เหมาะสม

“การใช้สัญลักษณ์เหล่านี้สะท้อนถึงความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงกับอารมณ์ของคู่สนทนา ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น แม้จะเป็นเพียงบทสนทนาสั้น ๆ ทางออนไลน์” ฮูห์กล่าว

ทีมวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่า ในโลกที่การสื่อสารเปลี่ยนไปอยู่บนหน้าจอมือถือและแอปแชตมากขึ้นทุกวัน การเข้าใจบทบาทของ “ภาษาทางอารมณ์” อย่างอีโมจิ จึงสำคัญไม่แพ้การเข้าใจน้ำเสียงหรือสีหน้าของคู่สนทนาในชีวิตจริง

ที่มา : nypost

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

related