svasdssvasds

ไร้ข้อยุติ "สนช." ถกภาษีที่ดินแบบใหม่ ห่วงประชาชนแบกรับภาระ

ไร้ข้อยุติ "สนช." ถกภาษีที่ดินแบบใหม่ ห่วงประชาชนแบกรับภาระ

สนช. ถกร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ วาระ 2 - สมาชิกหวั่นอัตราเก็บภาษีที่ดินรกร้างสูงเกินไป ห่วงประชาชนแบกรับภาระ - นัดลงมติพรุ่งนี้

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. วันนี้ (15 พ.ย.) มีวาระการพิจารณาสำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในวาระที่ 2 โดย นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สนช. ชี้แจงสาเหตุความจำเป็นการตรากฎหมายดังกล่าวว่า อัตราการจัดเก็บภาษีเดิมนั้นเป็นแบบถดถอย เกิดความเหลื่อมล้ำ และมีการยกเว้นลดหย่อยจำนวนมาก และรัฐบาลต้องการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทรัพย์สิน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และกระตุ้นการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น เพื่อทำให้ท้องถิ่นมีงบประมาณที่เพียงพอ ต่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งเจ้าของทรัพย์สิน จะต้องเป็นผู้เสียภาษีให้กับท้องถิ่น และการกำหนดอัตราภาษีในร่างกฎหมายนี้ มีการลดอัตราภาษีจากร่างเดิมที่รัฐบาลเสนอมาในวาระแรก

โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้หลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่การจัดเก็บภาษี จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

สำหรับประเภทที่ดินที่จะต้องเสียภาษี มี 4 ประเภท ได้แก่ ที่ดินเพื่อการเกษตร มูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ที่จะต้องเสียภาษีในอัตรา 1 ล้านบาทต่อภาษี 100 บาท ซึ่งจะได้รับการยกเว้น 3 ปีแรก ไม่ต้องเสียภาษี ยกเว้นนิติบุคคลรายใหญ่ ที่จะต้องถูกจัดเก็บทันที แต่สำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษีในระยะยาว , ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรา 1 ล้านบาท ต่อภาษี 200 บาท และบ้านหลังที่ 2 ขึ้นเป็น ทุก ๆ 1 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีในอัตรา 200 บาท จากนั้นจะเก็บอัตราขั้นบันได ส่วนห้องเช่า/บ้านเช่า เจ้าของที่ดินจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือขึ้นอยู่กับสัญญาที่ตกลงกัน , ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ และอุตสาหกรรม จะเก็บแบบขั้นบันได อัตราสูงสุดไม่เกิน 0.7% ของราคาประเมิน ซึ่งโรงพยาบาล สนามกอล์ฟ สนามกีฬา สถานศึกษาเอกชน หักลดหย่อยภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 90% ของราคาประเมิน , ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เริ่มเก็บ 0.3% สูงสุดไม่เกิน 3% ของราคาประเมิน โดยทุก ๆ 3 ปี จะต้องเสียภาษีเพิ่ม 0.2 - 0.3% ต่อเนื่องไม่เกิน 27 ปี หรือจนกว่าจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน

โดยสมาชิก สนช. ส่วนหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดเก็บอัตราภาษีพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ ซึ่งถือว่ามีอัตราที่สูงเกินไป และจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษีได้ ที่สำคัญในอนาคตราคาที่ดินจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราภาษีเพิ่มขึ้นด้วย และจะทำให้ประชาชนต้องรับภาระ

สำหรับการประเมินราคาทรัพย์สิน จะมีคู่มือดำเนินการ และประชาชน หรือนิติบุคคล สามารถอุทธรณ์ได้หากไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยภาษีที่จัดเก็บจากที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถนำเงินไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นได้โดยตรง ไม่ต้องนำเงินส่งเข้า1คลัง และหลังจากนี้ จะมีการออกกฎหมายประกอบ อีก 27 ฉบับ และประกาศข้อกำหนดอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ประธานในที่ประชุมได้นัดลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในวาระ 2 และวาระ 3 ในวันพรุ่งนี้ (16 พ.ย.) เวลา 10.00 น. เพื่อให้สมาชิกได้นำข้อสังเกตไปพิจารณาประกอบการลงมติ

 

related