svasdssvasds

"เสวนาทางรอดชาวประมง" ชี้ออกกฎหมายยุ่งยากเหมือนไม่ใช่คนไทย [คลิป]

"เสวนาทางรอดชาวประมง" ชี้ออกกฎหมายยุ่งยากเหมือนไม่ใช่คนไทย  [คลิป]

“ภูมิใจไทย” จัดถก “ทางรอดชาวประมง” ผู้ร่วมเสวนาสับรัฐเละ ออกกฎหมายเยอะ-ยุ่งยาก-ไม่เอื้อคนไทย ด้าน “ศักดิ์สยาม” เปรียบ รัฐออกระเบียบเหมือนชาวประมงไม่ใช่คนไทย-เอาไปกองไว้ในนิคม เผย เร่งดันร่างกฎหมายแก้ไข ภายใน 2 สัปดาห์

เสวนาทางวิชาการ “ฝ่าคลื่นทะเลไทย ทางรอดชาวประมง” โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย(ภท.) นายกฤษณ์พสุ เจริญ กรรมการสมาคมประมง จ.ปัตตานี กรรมการหอการค้าปัตตานี นายสามารถ นิยมเดชา ที่ปรึกษาสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประมง จ.ปัตตานี นายสุรินทร์ นิธิวัฒนาประสิทธิ์ ประธานสหกรณ์ประมงพญาตานี ที่ปรึกษาสมาคมประมงแห่งประเทศไทย นายอุดมศักดิ์ คุรุปรีชารักษ์ กรรมการสมาคม จ.ปัตตานี รองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ปัตตานี นางอัญชลี สังข์สัมฤทธิ์ นายกสมาคมเรือลอบหมึกสาย จ.เพชรบุรี และ นางสุภาวดี โชคสกุลนิมิต ผู้ประกอบการเกี่ยวเนื่องเรือประมง ที่ปรึกษาสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการเสวนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในงานเสวนาเป็นไปอย่างเคร่งเครียดและเข้มข้น ผู้ร่วมเสวนาแต่ละคนต่างนำเสนอปัญหาที่ตนได้รับอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย พร้อมแสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐออกกฎหมายจำนวนมากกว่า 300 ฉบับเพื่อบังคับใช้กับประชาชนในภาคการประมง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการ แรงงาน รวมถึงภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประมง อาทิ นายกฤษณ์พสุ หรือ นายภรัณยู เจริญ ซึ่งเป็นชาวประมงที่เคยไปร้องเรียนปัญหาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เมื่อครั้งลงพื้นที่ จ.ปัตตานี กล่าวในการเสวนาว่า ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายหรือไอยูยู เมื่อเราโดนใบเหลือง ทางรัฐบาลก็ประกาศแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถามว่าทำไมถึงยังมีชาวประมงออกมาเรียกร้อง นั่นเพราะการออกกฎหมาย 4 ปีที่ผ่านมามีเกือบ 400 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับภาคประมง มีรายละเอียดเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญคือเรื่องวันทำการประมงซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้อง เพราะกฎหมายอนุญาตให้ทำประมงได้เพียง 8 เดือนต่อปี ที่เหลืออีก 4 เดือน ทำให้ขาดรายได้ แต่เรายังมีภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าครองชีพ และค่าจ้างแรงงานที่ต้องจ่ายทุกเดือน จึงเป็นความอึดอัดคับข้องใจ อีกทั้งทางธนาคารบอกว่าอาชีพประมงเป็นอาชีพเสี่ยง ทำให้ยื่นกู้เงินต่อธนาคารไม่ได้

ขณะที่นายสามารถ กล่าวว่า ตนเป็นห่วงเรื่องการทำงานที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงานราชการ จึงขอให้เป็นวัน สตอป เซอร์วิส ที่แท้จริง เพราะบางครั้งพวกตนสุ่มเสี่ยงทำผิดกฎหมาย ทั้งที่ไม่มีเจตนา โดยเฉพาะเรื่องเอกสารที่มีขั้นตอนเยอะและยุ่งยาก ด้านนางสุภาวดี กล่าวว่า ตนเคยผลักดันให้ภาครัฐมองเห็นว่าคนในประเทศได้รับผลกระทบจากกฎหมาย แต่ภาครัฐก็ไม่ฟังและยังออกกฎหมายมาบังคับเรา แถมกฎหมายเก่าก็ไม่แก้ไข เมื่อเป็นแบบนี้ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวประมง และผู้เกี่ยวเนื่องกับประมง เช่น พ่อค้าแม่ค้า ร้านอาหาร ทุกวันนี้เราอยู่แบบตายซาก การแก้ไขปัญหาทำให้แรงงานตกงาน ตนมีความหวังว่าอยากให้คนมีอำนาจเข้ามาดูแล แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ชาวประมงลืมตาอ้าปากได้ เราจะไม่เหลืออุตสาหกรรมประมง

นายศักดิ์สยามกล่าวสรุปตอนหนึ่งว่า ตนฟังการเสวนาครั้งนี้แล้วรู้สึกอึดอัด ไม่คิดว่ามีเรื่องเหล่านี้อยู่ในประเทศไทย เพราะรัฐออกกฎระเบียบที่ทำให้ชาวประมงมีอุปสรรคในการประกอบอาชีพ ฟังดูเหมือนพี่น้องชาวประมงไม่ใช่คนไทย แต่เหมือนสร้างนิคมแล้วนำพวกเขาไปอยู่รวมกัน ดังนั้น ต้องเอาข้อจำกัดในระเบียบกฎหมายไปแก้ไข เพื่อให้ชาวประมงมีรายได้ดูแลครอบครัวและจ่ายภาษีได้ ประเทศไทยมีชาวประมงจำนวนมาก เนื่องจากมี 22 จังหวัดที่ติดทะเล ซึ่งการประมงไม่ได้เป็นเรื่องของชาวประมงเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบอาชีพอื่น ดังนั้น ถ้าสามารถทำการประมงอย่างมีประสิทธิภาพ จะยิ่งสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน พรรคภูมิใจไทยยืนยันว่าเราต้องการ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” และตนสรุปจากการเสวนาครั้งนี้ได้ว่า 1.รัฐออกกฎระเบียบที่มีปัญหาออกมาจำนวนมาก แต่ละระเบียบไม่ทำให้เห็นความแตกต่างความหลากหลายในธุรกิจประมง จึงจำเป็นต้องพิจารณาข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป(อียู)อย่างละเอียดอีกครั้งว่าเขาต้องการให้เราแก้ไขเกี่ยวกับธุรกิจประเภทใด 2.วิธีในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ พรรคภูมิใจไทยโชคดีที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาร่วมงาน เชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการตรวจสอบเรือ รวมถึงขจัดปัญหาเรื่องเอกสารได้ โดยหลังจากนี้ จะมอบหมายให้ทีมกฎหมายของพรรคไปตรวจสอบว่ามีกฎหมายส่วนใดเป็นอุปสรรคและบังคับจนชาวประมงทำงานยาก คาดว่าจะใช้เวลา 2 สัปดาห์สำหรับจัดทำร่างกฎหมาย ซึ่งขอความเห็นจากผู้ร่วมเสวนา ก่อนนำลงเพจเฟซบุ๊กของพรรค ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พรรคจะเสนอร่างกฎหมายเรื่องพืชพลังงาน และการแก้ปัญหาแกร็บแท็กซี่และแอร์บีเอ็นบี เพื่อให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งหากทุกคนมองตรงกันว่าแนวทางที่พรรคเสนอสามารถแก้ปัญหาได้จริง หลังจากนั้น เราจะรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 10,000 คนเพื่อเสนอกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดโอกาสไว้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงการเลือกตั้ง

related