svasdssvasds

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ ค่าตั๋วรถไฟฟ้า 104 บาท แพงเกินไป

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ ค่าตั๋วรถไฟฟ้า 104 บาท แพงเกินไป

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยัน ค่าโดยสาร 104 บาทแพงเกินไป สวนทางรายได้ขั้นต่ำคนไทย เตือน กทม. หยุดใช้ผู้บริโภคเป็นตัวประกัน พร้อมชี้รถไฟฟ้าต้องเป็นขนส่งมวลชนที่ทุกคนขึ้นได้ ไม่ใช่แค่บริการทางเลือกของผู้บริโภค

ผู้ว่าฯ กทม. ยัน ค่าตั๋วรถไฟฟ้า 104 บาท ไม่แพง

จากกรณีที่ กทม. ประกาศขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีเสียงคัดค้านจากทั้งภาครัฐและประชาชนจำนวนมาก ถึงประเด็นความไม่โปร่งใส ทั้งยังขัดต่อกฎหมายที่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดสัญญาสัมปทาน รวมถึงการขึ้นราคาค่าโดยสารที่สูงเกินไปสวนทางกับรายได้ขั้นต่ำ ตลอดจนการเร่งรีบขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนทั้งที่ระยะเวลายังเหลืออีก 9 ปี

ซึ่ง พล.ต.อ อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาตอบโต้คณะกรรมาธิการคมนาคม โดยยืนยันว่าค่าโดยสารตลอด 104 บาท ไม่แพงเกินไป และจะเริ่มเก็บอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในราคาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ ค่าตั๋วรถไฟฟ้า 104 บาท แพงเกินไป

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เตือน กทม. หยุดใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน   

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายที่ กทม. ประกาศเรียกเก็บในราคา 104 บาท แม้จะน้อยกว่า 158 บาทที่เคยศึกษาไว้ แต่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ค่าแรงขั้นต่ำ

หากคิดค่าเดินทางต่อเที่ยวจะเท่ากับร้อยละ 31.5 และหากต้องเดินทางไปกลับด้วยรถไฟฟ้าจะต้องเสียค่าเดินทางมากถึงร้อยละ 63 ของค่าแรงขั้นต่ำเลยทีเดียว ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายประจำวันและค่าเดินทางด้วยบริการขนส่งมวลชนประเภทอื่น

โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่แพงกว่านี้อีกมาก ดังนั้น การดึงดันไม่รับฟังเสียงทัดทานของ กทม. จึงเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายกับผู้บริโภค และมีเจตนาที่ดูเหมือนต้องการให้ผู้ใช้บริการเป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองกับรัฐบาล ให้ยอมรับการขยายสัญญาสัมปทาน จนสุดท้ายทุกฝ่ายต้องยอมรับอัตราค่าโดยสารในราคา 65 บาท อย่างไรก็ตามอัตราค่าโดยสารในราคา 65 บาท ก็ยังสูงเกินสมควรสำหรับผู้บริโภค

“ทุกวันนี้ผู้บริโภคต้องอยู่กับปัญหารถไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ต้องถูกคิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนถ้าใช้รถไฟฟ้าข้ามสาย ขาดระบบตั๋วร่วม สำหรับผู้ใช้รถไฟฟ้าและบริการขนส่งมวลชนทุกระบบ จุดเชื่อมต่อบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับผู้พิการหรือผู้สูงอายุในการเดินทางยังมีน้อย หรือบริการห้องน้ำสาธารณะที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

ซึ่งสาเหตุสำคัญ เพราะรัฐทำให้รถไฟฟ้ากลายเป็นบริการทางเลือก แทนที่จะเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าด้วยราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม” คงศักดิ์ กล่าว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ ค่าตั๋วรถไฟฟ้า 104 บาท แพงเกินไป

ข้อเสนอเร่งด่วนของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม กล่าวอีกว่า ในขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ที่มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2573 จะต้องทำให้ประชากรเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้อย่างปลอดภัย

ทุกคนสามารถจ่ายค่าโดยสารได้อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม โดยรัฐต้องสนับสนุนให้มีการใช้บริการขนส่งมวลชนที่เพิ่มขึ้น แต่หากรัฐวางเฉยไม่เร่งรัดดำเนินการปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนและรัฐ ต่อจากนี้คนไทยอาจต้องล้มละลายจากค่าเดินทางด้วยบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมกันมากเกิน 300 บาทต่อวัน หรือร้อยละ 100 ของค่าแรงขั้นต่ำเลยทีเดียว

ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีข้อยุติที่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่เป็นภาระของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อเสนอเร่งด่วนที่สำคัญต่อการแก้ปัญหา ดังต่อไปนี้

1. ขอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งชะลอแผนการขยายสัญญาสัมปทานโดยทันที และให้กรุงเทพมหานครหยุดการเรียกเก็บค่าเดินทางในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ออกไปก่อน

2. ขอให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดสัญญาสัมปทานต่อสาธารณะ เพื่อรับฟังความเห็นจากองค์กรผู้บริโภค ประชาชน และนักวิชาการ ที่ได้ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพ อนามัย จากการดำเนินการของรัฐ ตามมาตรา 58 และมาตรา 61 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมติให้ความเห็นชอบ

3. ขอให้ทบทวนสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าทุกสายในปัจจุบัน และสัญญาที่จะทำในอนาคตเพื่อศึกษาผลกระทบ กำหนดแนวทาง และสิทธิประโยชน์ของประชาชนและรัฐให้ไปในทิศทางเดียวกัน

โดยเฉพาะการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ผู้บริโภคทุกกลุ่มต้องเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม ยกเว้นค่าแรกเข้ากรณีโดยสารรถไฟฟ้าข้ามสาย พัฒนาระบบตั๋วร่วมและระบบการเชื่อมโยงบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท เพื่อความสะดวกปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ

4. ขอให้กำหนดมาตรฐานค่าใช้จ่ายบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ ซึ่งทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สะอาด มีคุณภาพในการให้บริการ

5. ขอให้รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายสาธารณะให้รถไฟฟ้า เป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ ไม่เป็นเพียงขนส่งทางเลือกสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

related