โควิด 19 รอบสาม หรือรอบใหม่ มาเร็ว มาแรง มาตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 1 ปี 2564 แน่นอนว่ากระทบเศรษฐกิจไทย ธุรกิจ วิถีชีวิตผู้คน ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด
ช่วงนี้ก็ต้องเฝ้าระวัง และป้องกันตัวเป็นพิเศษ หลังจากโควิด 19 กลับมาระบาดรอบใหม่อีกแล้ว หรือที่หลายคนรียกมันว่ารอบที่สาม แน่นอนว่ามันได้กระทบต่อวิถีผู้คน ภาคธุรกิจ รวมไปจนถึงกระทบภาพใหญ่ คือ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ที่เพิ่งกำลังเริ่มต้นเดือนแรกของไตรมาสมาไม่นาน นับว่าเป็นความโชคร้ายมาก ๆ เผลอ ๆ อาจจะกระทบเศรษฐกิจไทยยาวไปถึงสิ้นปี 2564 ก็อาจมีความเป็นไปได้ถ้าไม่สามารถยับยั้งมันได้
โควิดวันนี้ มันช่างน่ากลัวเสียจริง ๆ ทั้งการใช้ชีวิต และเศรษฐกิจ โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ได้เผยมุมมองว่า โควิด 19 ระบาดรอบสามนี้ คืออีกหนึ่งปัจจัยลบที่กระทบเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี2564 อย่างแน่นอน แต่ก็ยังมีอีก 4 ปัจจัยเสี่ยงดังนี้ที่จะเป็นตัวฉุดด้วยเช่นกัน
“ผมคิดว่าการระบาดโควิด 19 รอบนี้มีผลต่อการบริโภคที่อาจชะลอในเดือนเมษายนในแทบทุกหมวด แต่หมวดอาหาร เครื่องดื่มอาจไม่ลดลงแรงเท่ากลุ่มอื่น เพราะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากรัฐบาล และเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม แต่ที่น่าห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยคือ การใช้จ่ายของคนไทยยังเติบโตช้าด้วยปัจจัยอื่นนอกจากโควิด ซึ่งน่าจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำอยู่ในปีนี้ ”
ส่วนศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. 2564 อยู่ที่ 48.5 ลดลงจากเดือนก.พ.2564 ซึ่งอยู่ที่ 49.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 42.5 จาก 43.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 45.3 จาก 46.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 57.7 จาก 58.7 การปรับลดลงทั้งหมดนี้มาจาก โควิด 19 เป็นเหตุ
“สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมี.ค.ลดลง เป็นผลจากความกังวลต่อสถานการณ์โควิด 19 รอบใหม่ รวมทั้งปัญหาการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ทั้งในสภา และนอกสภา” นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าว
มาดูกันที่ฟากตลาดหุ้น ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจาก โควิด 19 รอบสาม เช่นกัน มีข้อมูลจากฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า การแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นในเร็ววันจะยังกดดันการฟื้นตัวของตลาดต่อไป ประกอบกับสัปดาห์หน้าจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตลาดหุ้นไทยจึงขาดปัจจัยหนุนใหม่ โดยกลยุทธ์การลงทุนเก็งกำไรระยะสั้นในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการระบาดโควิด19 ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่ปรับตัวลงไปก่อนหน้านี้ทางฝ่ายวิจัยยังไม่แนะนำสะสมเนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง