svasdssvasds

สรุปดราม่าน้ำส้ม แม่ค้าหลบเลี่ยงภาษี ? หรือ เจ้าหน้าที่ล่อซื้อโดยมิชอบ ?

สรุปดราม่าน้ำส้ม แม่ค้าหลบเลี่ยงภาษี ? หรือ เจ้าหน้าที่ล่อซื้อโดยมิชอบ ?

สรุปดราม่าน้ำส้ม โดยพิจารณาข้อมูลของแม่ค้า การชี้แจงจากกรมสรรพสามิต และการสัมภาษณ์ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ นำมาเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะรายเล็กรายใหญ่ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ต้องการหาผลประโยชน์ บนความทุกข์ของผู้อื่น

กลายเป็นประเด็นดราม่าขึ้นมา จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่เล่าว่ามีลูกค้าสั่งผลิตน้ำส้ม 100 % จำนวน 500 ขวด แต่พอถึงวันนัดรับสินค้า กลับมีเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต มาถามหาใบอนุญาต ก่อนปรับเงินจำนวน 12,000 บาท (ข่าวที่เกี่ยวข้อง : แม่ค้าหลงดีใจนึกว่าลูกค้าสั่งน้ำส้ม 500 ขวด สุดท้ายโดนล่อซื้อแถมเสียเงิน)

ซึ่งเป็นเรื่องที่สะเทือนใจคนหาเช้ากินค่ำเป็นอย่างมาก ในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด กว่าจะหาเงินได้แต่ละบาท เลือดตาแทบกระเด็น

ถ้าการกระทำของแม่ค้าไม่เข้าข่ายความผิด แต่เจ้าหน้าที่สรรพสามิตมาเรียกเก็บเงินค่าปรับ นอกจากจะเป็นการกระทำโดยมิชอบแล้ว ยังถือว่าเป็นการซ้ำเติมช่วงวิกฤต ที่ต้องดำเนินการเอาผิดเจ้าหน้าที่อย่างสาสม

แต่เรื่องนี้ก็มีความซับซ้อนและเงื่อนปมต่างๆ มากมาย จึงต้องนำข้อเท็จจริงมาพิจารณาประกอบเป็นส่วนๆ โดย SPRiNG ได้นำเนื้อหาทั้งในส่วนของแม่ค้า การชี้แจงจากกรมสรรพสามิต และการสัมภาษณ์ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมใน​สังคม มานำเสนอดังต่อไปนี้ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ทนายรณณรงค์ ชี้ แม่ค้าน้ำส้ม เข้าข่ายมีความผิด ไม่เสียภาษีความหวาน)

1. ภาษีความหวาน คืออะไร ? แล้วทำไมน้ำผลไม้ 100 % ต้องเสียภาษีความหวาน ?

“การเก็บค่าภาษีสรรพสามิต จากค่าความหวาน” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น เนื่องจากราคาของสินค้าที่มีน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐาน จะสูงขึ้นตามไปด้วย

โดยกำหนดเก็บภาษีจากอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัม ต่อผลิตภัณฑ์ 100 มิลลิลิตรขึ้นไป ดังนั้นแม้จะเป็นน้ำผลไม้ 100 % แต่ความหวานโดยธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ทำให้น้ำส้ม 100 % ที่ใส่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท ต้องเสียภาษีความหวานไปโดยปริยาย  

สรุปดราม่าน้ำส้ม แม่ค้าหลบเลี่ยงภาษี ? หรือ เจ้าหน้าที่ล่อซื้อโดยมิชอบ ?

2. การทำธุรกิจขนาดเล็ก ผลิตและขายน้ำส้มใส่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท ต้องเสียภาษีความหวานหรือไม่ ?

ในประเด็นนี้ หากพิจารณาจาก พ.ร.บ.ภาษีกรมสรรพสามิต ปี 2560 ที่ให้ความหมายของโรงอุตสาหกรรม ไว้ว่า “สถานที่ที่ใช้ในการผลิตสินค้า” ส่งผลให้การผลิตน้ำส้มใส่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ ต้องเสียภาษีความหวานทั้งหมด

สอดคล้องกับที่ทนายรณณรงค์ ได้ให้ข้อมูลกับ SPRiNG ว่า “การออกกฎหมายดังกล่าวจะครอบคลุมไปยังน้ำผลไม้ ใส่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิททั้งหมด ต้องเสียภาษีสรรพสามิต เรื่องของค่าความหวานทุกกรณี จึงจะมีสิทธิ์ขาย แต่ถ้าขายโดยที่ไม่ได้เสียภาษีก็มีความผิดทางกฎหมาย"

เมื่อ SPRiNG ถามว่า “แม้จะไม่ใช่การผลิตในรูปแบบโรงงาน ก็ต้องเสียภาษีด้วยเหรอ ?” ทนายรณณรงค์ก็กล่าวย้ำว่า “ใช่ครับ ทุกกรณี”

3 กรณีน้ำส้ม 100 % ใส่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท ตามที่เป็นข่าว เข้าข่ายต้องเสียภาษีความหวาน

จากข้อกำหนดเรื่องภาษีความหวาน และความหมายของโรงอุตสาหกรรม ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า กรณีน้ำส้ม 500 ขวด ตามที่เป็นข่าว เข้าข่ายต้องเสียภาษีความหวาน นอกจากนั้นต้องได้รับการรับรองจาก อย. เพราะมีการแปรรูปทางการเกษตร จากผลไม้มาเป็นเครื่องดื่ม

ดังนั้น เมื่อไม่ได้เสียภาษีความหวาน จึงถือว่าเข้าข่ายความผิด แต่ตรงนี้ที่แม่ค้าอ้างว่า มีการล่อซื้อ และการเรียกค่าปรับ 12,000 บาท (ตามที่โพสต์ลงเฟซบุ๊ก) เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่สามารถทำได้หรือไม่ ก็ต้องไปดูที่เงื่อนไขในข้อต่อไป

4. เจ้าหน้าที่สามารถล่อซื้อน้ำส้ม ที่ไม่เสียภาษีความหวานได้หรือไม่ ?

กรณีการล่อซื้อสินค้านั้น ทนายรณณรงค์ได้ให้ข้อมูลกับ SPRiNG ว่า  

“การล่อซื้อ ในทางกฎหมายจะมี 2 ส่วน คือ เขาทำผิดทางกฎหมายอยู่แล้ว แล้วเจ้าหน้าที่ไปล่อซื้อของกับเขา ไปซื้อบริการกับเขา อย่างแรกสามารถที่จะทำได้ เพราะผู้กระทำ กระทำความผิดอยู่แล้ว

“อย่างที่ 2 ผู้กระทำ ไม่ได้ทำความผิดอยู่ แต่ผู้ล่อซื้อพยายามหลอกล่อให้เกิดการกระทำความผิด สมมติร้านเขาขายสเต็ก ไม่ได้ขายน้ำส้ม เราอยากทานสเต็ก พร้อมกับน้ำส้มด้วย จึงให้เขาหาน้ำส้มมาให้

“ปรากฏว่าพอเขาหามาขาย ก็ไปดำเนินการจับกุมเขาในข้อหาเกี่ยวกับการขายน้ำส้ม โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นกรณีอย่างหลังเนี่ย ถือว่าเป็นการล่อซื้อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

“แต่ส่วนใหญ่กรณีล่อซื้อ จะใช้กับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างร้านแห่งหนึ่งขายคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ได้รับลงซอฟต์แวร์เถื่อนละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วผู้ล่อซื้อบอกว่า ให้ลงซอฟต์แวร์ตัวนี้ให้หน่อย คือเดิมไม่ได้ลง แต่ถูกล่อลวงให้ลง

“กรณีอย่างนี้ ศาลก็จะบอกว่า เป็นการแสวงหาหลักฐานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พยายามหลอกล่อด้วยกลวิธี พยายามให้ผู้ต้องหากระทำความผิด

“จึงอยู่ที่ว่าคุณขายของที่ผิดกฎหมายหรือไม่มีใบอนุญาตหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถที่จะเรียกรับสินบน หรือล่อซื้อคุณได้อยู่แล้ว

“เพราะฉะนั้นเนี่ย ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่ว่า เจ้าหน้าที่ล่อซื้อ หรือไม่ล่อซื้อ แต่วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ ต้องขายของที่ถูกต้องตามกฎหมายครับ”

จากข้อมูลตรงนี้ การล่อซื้อของเจ้าหน้าที่ จะทำได้หรือไม่นั้น จึงอยู่ที่ว่ามีที่มาอย่างไร ซึ่งหากว่าที่ผ่านมา แม่ค้ารายนี้มีการขายน้ำส้มอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว เจ้าหน้าที่ก็สามารถทำการล่อซื้อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้

แต่ถ้าเป็นกรณีแม่ค้ารายนี้ไม่เคยขายน้ำส้มมาก่อนแล้ว แต่แล้วเจ้าหน้าที่ได้ล่อลวงให้ผลิตน้ำส้ม เพื่อนำไปสู่การล่อซื้อ ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ซึ่งจากการตรวจสอบเฟซบุ๊กของแม่ค้ารายดังกล่าวก็พบว่า มีการประกาศขายน้ำส้มมาก่อนหน้านี้แล้ว ฉะนั้นการล่อซื้อของเจ้าหน้าที่ในกรณีนี้ จึงสามารถกระทำได้

ส้ม

5. “เงินค่าปรับ 12,000 บาท” แม่ค้าน้ำส้ม กับกรมสรรพสามิต ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน

ในส่วนที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ นั่นก็คือเงินค่าปรับจำนวน 12,000 บาท ที่แม่ค้ารายนี้อ้างว่า ถูกเจ้าหน้าที่สรรพมิตเรียกเก็บ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ต้องมีการออกหลักฐานที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่มีหลักฐานส่วนนี้ หรือไม่ใช่หลักฐานที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ก็จะมีความผิด

แต่เมื่อวานนี้ กรมสรรพสามิตก็ได้ออกแถลงการณ์ว่า “เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการเรียกเก็บเงิน 12,000 บาท ตามที่เป็นข่าว" ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ใครพูดจริง ใครให้ข้อมูลเท็จ กันต่อไป (ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรรพสามิต แจง ดราม่าน้ำส้ม ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ไม่เสียภาษี ยันไม่ได้เก็บเงิน)

โดยล่าสุด นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ได้สั่งย้ายเจ้าหน้าที่ 3 คน ที่ปรากฏเป็นข่าว ออกนอกพื้นที่เกิดเหตุในกรุงเทพฯ แล้ว พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการด่วน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ถือว่าเป็นอีกบทเรียนหนึ่งของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะรายเล็กรายใหญ่ ที่ต้องศึกษา เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้อง รวมถึงได้เข้าใจข้อกฎหมาย เพื่อไม่ให้ตนตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ต้องการหาผลประโยชน์ บนความทุกข์ของผู้อื่น

กรมสรรพสามิต

related