svasdssvasds

#สรุปให้ 14 ตุลาคม 2516 เงื่อนปม และเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อ 48 ปีที่แล้ว

#สรุปให้ 14 ตุลาคม 2516 เงื่อนปม และเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อ 48 ปีที่แล้ว

ครบรอบ 48 ปี 14 ตุลาคม 2516 SpringNews สรุปให้ อะไรคือเงื่อนปมให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ? และเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันนั้น ?

ครบรอบ 48 ปี 14 ตุลาคม 2516 อะไรคือเงื่อนปมให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ? และเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันนั้น ? SpringNews สรุปให้ ดังต่อไปนี้

1. การสืบทอดอำนาจของระบอบเผด็จการ

ก่อนเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองรัฐบาลเผด็จการที่สืบทอดอำนาจมาเป็นเวลา 16 ปี

โดยในปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจอมพล ป.พิบูลสงคราม และอยู่ในอำนาจจนถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 หลังจากนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ทายาททางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ก็สืบทอดอำนาจ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

2. จอมพลถนอม ปฏิวัติตัวเอง

จอมพลถนอม กิตติขจร อยู่ในตำแหน่งนายกฯ มาอย่างยาวนาน และได้การปฏิวัติตัวเอง ในปี 2514 เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสภา และสืบทอดอำนาจให้กับตัวเองกับพวกพ้องต่อไป     

รวมถึงการต่ออายุราชการให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะแสดงถึงความต้องการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน ในแบบไม่เห็นหัวประชาชน

อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

อนุรักษ์นิยม VS เสรีนิยม ประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งในสังคมไทย

กอร์ปศักดิ์ ชำแหละนโยบายเศรษฐกิจบิ๊กตู่ ตอบโจทย์ประเทศเวลานี้หรือไม่ ?

รัฐประหาร 19 กันยา ! 15 ปี แห่งความขัดแย้ง ในสังคมไทย

3. คณะทหารและนายตำรวจจชั้นผู้ใหญ่ ใช้อาวุธสงครามล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ช่วงปลายเดือนเมษายน ปี 2516 คณะทหารและนายตำรวจจชั้นผู้ใหญ่ ประมาณ 60 คน ได้ใช้อาวุธสงครามเข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี

ต่อมาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" และนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ออกหนังสือ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" เปิดโปงกรณีดังกล่าว และทวงถามความรับผิดชอบจากรัฐบาล ส่งผลให้นักศึกษา 9 คน ถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง  

4. การชุมนุมประท้วง กรณีนักศึกษา 9 คน ถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัย

จากกรณีที่นักศึกษา 9 คน ถูกลบชื่ออกจากมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดความพอใจในวงกว้าง จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วง ระหว่างวันที่  21–27 มิถุนายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องยอมคืนสถานภาพนักศึกษาให้ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยในเวลานั้น ได้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

อนุสรณื 14 ตุลา

5. จับกุมและตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์ กับกลุ่มผู้แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

ในการชุมนุมประท้วง ระหว่างวันที่  21–27 มิถุนายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อให้ทางมหาวิทยาลัยคืนสถานะให้กับนักศึกษาที่ถูกลบชื่อออกนั้น ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า ตราบใดที่บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ความไม่เป็นธรรมในสังคมก็ยังคงไม่เกิดขึ้น จึงนำไปสู่การชุมนุมประท้วง เรียกร้องรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา

โดยวันที่ 6 ตุลาคม 2516 กลุ่มบุคคลหลากหลายอาชีพ ได้ร่วมกันแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่างๆ และถูกเจ้าหน้าที่จับกุมจำนวน 13 คน (อีก 2 คนถูกจับภายหลัง) ทั้งหมดถูกนำตัวไปคุมขัง และตั้งข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่นักศึกษาและประชาชนเป็นอย่างมาก นำไปสู่การชุมนุมประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม ภายในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 และให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว

6. กลุ่มผุ้ชุมนุม เดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปตามถนนราชดำเนิน

การชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 มีนักศึกษาและประชาชน เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมหาศาล จนล้นออกมารอบนอกของมหาวิทยาลัย

และเมื่อรัฐบาลยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว แกนนำนักศึกษาจึงประกาศเคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปตามถนนราชดำเนิน โดยมีผู้ร่วมขบวนประมาณ 5 แสนคน ก่อให้เกิดภาพคลื่นมนุษย์ขนาดมหึมา เคลื่อนตัวไปตามท้องถนน โดยมีนักเรียนอาชีวะหลายสถาบันทำหน้าที่เป็นการ์ดตามจุดต่างๆ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม

7. เกิดเหตุปะทะ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

ช่วงหัวค่ำของวันที่ 13 ตุลาคม 2516 วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประกาศว่า รัฐบาลจะปล่อยผู้ต้องหา และจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2517 ตามข้อเสนอของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ

แต่ด้วยจำนวนผู้ชุมนุมมหาศาลกว่าครึ่งล้าน ทำให้การประสานงานต่างๆ ในเวลานั้นเป็นไปอย่างสับสน และมีการปล่อยข่าวลือต่างๆ ดิสเครดิตกลุ่มผู้ชุมนุม จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง แกนนำการชุมนุมจึงประกาศให้เคลื่อนขบวนไปยังสวนจิตรลดา เพื่อหวังพึ่งพระบารมี

8. สถานการณ์บานปลาย

หลังเที่ยงคืนของวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม (14 ตุลาคม) นักศึกษาและประชาชนได้รวมตัวกันบริเวณหน้าสวนจิตรลดาจำนวนมาก และเมื่อผู้แทนพระองค์ได้อ่านพระบรมราโชวาท ผู้ชุมนุมก็ได้สลายตัวตามพระราชประสงค์ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 แต่กลับถูกสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ และผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

จากการปะทะกันบริเวณดังกล่าว ก็บานปลายไปตามจุดต่างๆ ประชาชนได้ตอบโต้ด้วยการบุกทำลายสถานที่ต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเผด็จการ

และเมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้มีการใช้รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ เข้าสลายการจลาจล ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

9. จอมพลถนอม และพวก ออกจากประเทศ ปิดฉากการสืบทอดอนาจ

ในช่วงเย็นของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตําแหน่งนายกฯ แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่สงบ เพราะจอมพลถนอม ยังคงมีตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และได้ออกแถลงการณ์กลางดึก ขอให้ทหารตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ การใช้กำลังปราบปรามนักศึกษา ประชาชน ตามจุดต่างๆ จึงยังคงดำเนินต่อไป

ต่อมาจอมพลถนอมก็ถูกกดดันอย่างหนัก จากผู้นำเหล่าทัพต่างๆ จนต้องยอมลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด หลังจากนั้น จอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ ก็ได้เดินทางออกจากประเทศ ทำให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย ปิดฉากการสืบทอดอำนาจ นับจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นเวลา 16 ปีเต็ม

10. จอมพลถนอม กลายเป็นเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

14 ตุลาคม 2516 มีผู้เสียชีวิต 71 ราย และบาดเจ็บ 857 ราย  หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นบรรยากาศประชาธิปไตยในประเทศไทยก็เบ่งบาน แต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ และการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร ในวันที่ 19 กันยายน 2519 ก็กลายเป็นอีกปมเหตุสำคัญ ที่นำไปสู่การปราบปรามนักศึกษาและประชาชน อย่างอำมหิต ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

อ้างอิง

วิกิพีเดีย : เหตุการณ์ 14 ตุลา

ศิลปวัฒนธรรม : เกิดอะไรใน “14 ตุลา” ก่อนมาสู่ชัยชนะสำคัญของประชาชนลุกฮือต้าน “คณาธิปไตย”

related