svasdssvasds

อนุรักษ์นิยม VS เสรีนิยม ประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งในสังคมไทย

อนุรักษ์นิยม VS เสรีนิยม ประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งในสังคมไทย

SpringNews สัมภาษณ์ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ถึงประวัติศาตร์แห่งความขัดแย้งในประเทศไทย โดยอาจารย์ได้กล่าวถึงที่มาของการต่อสู้ที่ยาวนานนี้ว่า มันเป็นการปะทะระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยม ในแต่ละบริบทของสังคม ณ ช่วงเวลานั้น

ความขัดแย้งในสังคมไทยระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยม เป็นสิ่งที่ดำรง และดำเนินมาอย่างเนิ่นนาน และบางครั้งก็ปะทุจนเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง สร้างบาดแผลทางประวัติศาตร์อย่างยากจะลืมเลือน อาทิเช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 , 6 ตุลา 2519 และ พฤษภาทมิฬ 2535 ฯลฯ

SpringNews สัมภาษณ์ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงประวัติศาตร์แห่งความขัดแย้งดังกล่าว ว่ารากเหง้ามีที่มาจากอะไร ? และบทเรียนที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจได้เรียนรู้อะไรบ้างหรือไม่ ? ตลอดจนเราจะต้องอยู่ในความขัดแย้งที่ขื่นขมนี้ ไปอีกนานเท่าใด ?

รัฐประหาร ปี 2500 – 14 ตุลาคม 2516

การรัฐประหารในปี 2500 เป็นการขึ้นมามีอำนาจของกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และหลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม ในปี 2506 กลุ่มของจอมพลถนอม กิตติขจร ก็เข้ามามีบทบาท โดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ได้ไล่เรียงให้เห็นภาพที่ชัดเจน ก่อนสังคมไทยจะเกิดการปะทะกันระหว่างกระแสความคิดอนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยม จนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ดังต่อไปนี้  

“ปัญหาใหญ่ของประเทศเราเนี่ย เป็นการต่อสู้ของ 2 กระแสความคิด คือ อนุรักษ์นิยม กับ เสรีนิยม ซึ่งผมคิดว่ามันยังไม่จบ และได้ลากสังคมไทยไปสู่ทิศทางต่างๆ

“หากโยงกลับไปที่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 หลายคนอาจบอกว่า ถอยไปไกลเกิน แต่ถ้าเริ่มนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุการณ์ใหญ่ที่สุดในการเมืองไทย คือ รัฐประหารปี 2490 แต่บางคนก็บอกว่า ยังไกลไปอีก

“แต่ถ้าเริ่มต้นจากปี 2500 ปีที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม และปี 2501 ที่ จอมพลสฤษดิ์ ทำรัฐประหารอีกครั้ง มันก็จะตอกย้ำกระแสเดิม คือการสู้กันทางกระแสความคิด ซึ่งมันไปจบที่เหตุการณ์ใหญ่ที่สุด คือ 14 ตุลาคม 2516

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง 

“ซึ่งผมคิดว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ถ้าเรียกตามทฤษฎีรัฐศาสตร์ เป็นการปฏิวัติทางการเมือง เป็น Political Revolution โดยการปฏิวัติทางการเมืองครั้งที่ 1 คือในปี 2575 (เปลี่ยนแปลงการปกครอง) และสำหรับ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ผมคิดว่าเป็นการปฏิวัติทางการเมืองครั้งที่ 2

“สำหรับคนยุคผม เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 คือ การปฏิวัติใหญ่อีกรูปแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นในเวลานั้นก็คือเหตุการณ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ของการเมืองไทย และเป็นผลพวงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 คือการล้มระบอบทหาร ที่สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่ รัฐประหารปี 2490 หมายความว่า จากปี 2490 การเมืองชุดนี้มาจบที่ปี 2516 เพราะว่าตัวละครที่เราเห็น พัวพันกับอดีตทั้งนั้น”

“เหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงกระแสเสรีนิยมที่เข้าสู่สังคมไทย อาจจะมาพร้อมการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในโลกตะวันตก แต่ถ้าตีความแบบมองภาพกว้าง เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหมือนเป็นมรดกการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวทั่วโลก

“กระแสชุดนี้ผมเรียกว่า คนหนุ่มสาวปี ค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) ที่เปรียบเสมือนการปฏิวัติฝรั่งเศส ครั้งที่ 2 เป็นเหมือนการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ที่พัดพาเรื่องที่ใหญ่ที่สุด คือกระแสเสรีนิยม แต่เป็นกระแสเสรีนิยมที่เอียงซ้ายบ้างนะ ซึ่งก็ต้องเข้าใจบริบทของยุคสมัย แต่ความชัดเจนคือ มันเป็นชุดความคิดที่ไม่เอาเผด็จการ แล้วก็ทำให้คนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ มีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น พอรื้อระบบทหาร เกิดกระแสแนวคิดเสรีนิยม ภูมิทัศน์ใหญ่ที่ตามมาก็คือ การจัดระเบียบทางการเมือง แล้วการเลือกตั้งก็เริ่มฟื้นตัว

“เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นการเปิดประตูให้กับชนชั้นล่าง หลัง 14 ตุลา 2516 เกิดการประท้วงของพี่น้องแรงงานแบบก้าวกระโดด และเป็นก้าวกระโดดอย่างน่าตกใจด้วย ในขณะเดียวกัน เรายังได้เห็นการเรียกร้องของพี่น้องชาวนาในชนบท ซึ่งคนเหล่านี้เหมือนคนที่ถูกสังคมลืม ทั้งที่จริงแล้ว เป็นส่วนประกอบสำคัญของการพัฒนาสังคมไทย และในช่วงเวลานั้น สงครามเวียดนามกำลังถึงจุดเปลี่ยน เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 สำหรับผมเนี่ย จึงเหมือนหม้อใบใหญ่ที่เอาหลายอย่างเทลงไป

“และที่สำคัญ เรื่องที่ใหญ่ที่สุดอีกชุดหนึ่งจาก เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 คือเรื่องความขัดแย้งของผู้นำทหาร ที่เราเริ่มเห็นตัวละครซ้อนในการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ประชาชน ในอีกมุมหนึ่งลึกๆ มันมีการเคลื่อนไหวของปีกที่ไม่เอาผู้นำทหารในยุคนั้น คือไม่เอา จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่เอา จอมพลประภาส จารุเสถียร

“สำหรับผม ยุคนั้นนี่คือ  3 ป. เพียงแต่เป็น 3 ป. อีกแบบหนึ่ง จอมพลถนอม กิตติขจร , จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ตัวละครใหญ่ที่เรียกว่า รัฐบาล 3 ทหาร ในระหว่างนั้นมันก็มีเงื่อนไขความขัดแย้งในกองทัพ ภายในวงจรของกลุ่มผู้มีอำนาจ มันซ้อนอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเหมือนเป็นการเปิดโจทย์ชุดใหม่ให้กับสังคมไทย”

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กระแสแนวคิดเสรีนิยม ก็มีอิทธิพลกับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักศึกษา

หลัง 14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519

หลัง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กระแสแนวคิดเสรีนิยมก็มีบทบาทกับประชาชน โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา และประเทศไทยก็เกิดการปะทะอย่างรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ได้กล่าวว่า

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหมือนเป็นการล้มระบอบเก่า บนเงื่อนไขที่ระบอบใหม่ไม่ได้เข้มแข็งนัก ถามว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เข้มแข็งไหม ? ตอบได้เลย ไม่เข้มแข็ง ในขณะเดียวกัน มันก็มีเงื่อนไขของโจทย์ชุดใหม่ คือสงครามรอบบ้าน

“จากปี 2516 - 2517 เราเริ่มเห็นกระแสบางอย่าง เช่น การเรียกร้องให้รัฐบาลไทย เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เราเริ่มเห็นการเข้ามาของกระแสสังคมนิยมผ่านคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นในบริบทอย่างนี้ ถ้าย้อนกลับไปดู แล้วก็จะเริ่มเห็นว่า ปีกอนุรักษ์นิยมเริ่มกังวล ในขณะเดียวกันปี 2517 เราเริ่มเห็นรอยแยกระหว่างนิสิตนักศึกษา กับนักเรียนอาชีวะ

“ตอนปี 2516 ยังไม่มีรอยแยกอย่างนี้ แต่พอเข้าปี 2517 ก็เริ่มเห็น แล้วอีกส่วนหนึ่งที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมเริ่มกังวล ก็คือการประท้วงที่มากขึ้น ทั้งจากประชาชนและพี่น้องชาวนา มันเหมือนไปสร้างความกลัว โดยความกลัวที่ถูกสร้างที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในปี 2518 เวียดนามแตก กัมพูชาแตก และปลายปี 2518 ระบอบกษัตริย์ในลาวล้มลง หรือพูดง่ายๆ คือ ลาวเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

“สิ้นปี 2518 สามประเทศในอินโดจีน เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มันจึงถูกสร้างเป็นทฤษฎีที่ชนชั้นนำเชื่อ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อเมริกันสร้างไว้ในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ว่า ถ้าประเทศใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้ม จะเกิดการล้มตามกัน หรือในสำนวนของฝรั่งเรียกว่า ล้มตามกันเป็นโดมิโน

“เป็นจินตนาการที่ถูกอธิบายด้วยทฤษฎี ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งในอินโดจีนแตก จะตามมาด้วยการแตกของไทย ของมาเลเซีย และถ้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แตก คอมมิวนิสต์ก็จะทะลักเข้าสู่ตะวันออกกลาง เข้าสู่ยุโรป

“ฉะนั้นปี 2517 - 2518 เราจึงเห็นถึงความผันผวน มุมหนึ่งรัฐบาลไทยก็พยายามประคับประคอง รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงตัดสินใจเปิดความสัมพันธ์กับจีน เพื่อเป็นการถ่วงดุล

“ขณะเดียวกัน สัญญาณที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลัวที่สุด ก็คือ สหรัฐฯ ตัดสินใจถอนกำลังออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โจทย์ที่ใหญ่ที่สุดที่ตามมาก็คือ ถ้าไทยต้องเจอกับการโจมตีของคอมมิวนิสต์ ก็จะไม่มีประเทศมหาอำนาจช่วยคุ้มครอง

“เพราะฉะนั้นในปีกอนุรักษ์นิยม ความกลัวชุดนี้ต้องยอมรับนะครับเป็นเรื่องใหญ่ และมันไปซ้อนกับขบวนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา จึงถูกตีความว่า กำลังจะเป็นปัจจัยให้โดมิโนตัวที่สี่ คือไทย ล้มใช่ไหม ?

“เดือนสิงหาคม 2519 มีการพา จอมพลประภาส จารุเสถียร กลับเข้าประเทศ แต่ก็เกิดการประท้วงขึ้น จึงต้องพาจอมพลประภาสออกไป

“ต่อมามีการพา จอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้าประเทศ และเหมือนเวลาเล่นตลก เพราะจอมพลถนอม กลับเข้าประเทศวันที่ 19 กันยายน 2519 (ตรงกับวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐประหารรัฐบาลทักษิณ)  ซึ่งการกลับมารอบนี้มันมีนัยยะใหญ่ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ก็จัดการประท้วง แล้วก็นำไปสู่ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

จากเอกสารหลายชิ้นที่ได้เห็นในระยะหลัง ผมคิดว่า ฝ่ายขวา (อนุรักษ์นิยม) คงเตรียมการพอสมควร เพราะทั้งหมดมันไปขมวดปมอยู่กับความกลัวที่ว่า นักศึกษาจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยกลายเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นต้องทำให้ไม่มีการเคลื่อนไหว เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จึงเป็นคำตอบที่สะท้อนความกลัวของฝ่ายขวา แล้วก็ตอบด้วยความรุนแรง

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

หลัง 6 ตุลาคม 2519 - ตุลาคม 2526

รัฐบาลหลัง 6 ตุลาคม 2519 ช่วงแรกดำเนินนโยบายแบบขวาสุดโต่ง จึงเสมือนไปเพิ่มความโกรธแค้นให้ฝ่ายตรงข้าม หรือเสรีนิยม (ในบริบทเวลานั้น) หลายคนจึงเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ จับอาวุธสู่กับอำนาจรัฐ กระทั่งรัฐบาลต่อมาได้มีการปรับนโยบาย โดยเฉพาะช่วงที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ทำให้ความขัดแย้งทุเลาเบาบางลง และได้ปิดฉากการต่อสู้ระหว่างอนุรัก์นิยม (ฝ่ายขวา) กับเสรีนิยม (ฝ่ายซ้าย) ลงในปี 2526

“ที่ผ่านมาสังคมมักจะพูดถึง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 แต่เหตุการณ์หลังจากปี 2519 เข้าปี 2520 เป็นโจทย์อีกชุดหนึ่ง เนื่องจากพอเกิดการปราบปรามใหญ่ หรือการสังหารที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง ทำให้คนจำนวนมากเข้าสู่ฐานที่มั่นในชนบท ทั้งคนหนุ่มสาว ร่วมทั้งพี่น้องประชาชน ตัวเลขอยู่ที่ประมาณสามพันกว่าคน ที่เข้าไปร่วมกับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มันจึงกลายเป็นความน่ากลัวอีกรูปแบบหนึ่ง

“พอ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นสู่อำนาจ (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) ทิศทางนโยบายต่างๆ ก็เอียงไปทางขวาจัด จนเริ่มมีคำถามว่า ชุดนโยบายแบบนี้ที่เป็นอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง จะช่วยพยุงประเทศ หรือจะกลายเป็นปัจจัยที่ล้มประเทศกันแน่ ?

“และพอถึงจุดหนึ่ง ปีกอนุรักษ์นิยม รวมถึงผู้นำทหารบางส่วนเริ่มคิดใหม่ว่า นโยบายขวาสุดโต่ง มันอาจไม่เอื้อให้ประเทศไทยรอดจากสงครามกลางเมือง เหตุการณ์ที่ตามมาก็คือ ความพยายามที่จะเปลี่ยนทิศทางของประเทศ นั่นก็คือ รัฐประหารในปี 2520

“หลังจากนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็เป็นนายกฯ และเริ่มมีการปรับตัวในเชิงนโยบาย เกิดรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2521 และให้มีการเลือกตั้งในปี 2522 ต่อมา พล.อ.เกรียงศักดิ์ ต้องลาออกด้วยแรงกดดันของกลุ่มยังเติร์ก แล้วต้นปี 2523 ก็มีนายกฯ คนใหม่ที่ชื่อว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

“แล้วเราก็ได้เห็นการปรับตัวทางยุทธศาสตร์ จาก คำสั่ง 16/23 และ คำสั่ง 65/25 แสดงว่าในรอยต่อจากรัฐประหาร ปี 20 ถึงสมัยนายกฯ เปรม ความน่าสนใจอีกมิติหนึ่งก็คือ เอาเข้าจริงๆ แล้ว ปีกอนุรักษ์นิยมไทยก็ปรับตัวนะ และพร้อมที่จะออกาจากความขัดแย้ง เพื่อปรับทิศทางให้กับประเทศ

“ซึ่งต้องยอมรับ การปรับยุทธศาสตร์ครั้งนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญส่วนหนึ่ง ประกอบกับพรรคคอมมิวนิสต์มีปัญหากันเองในภูมิภาค พรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนามกับกัมพูชา ทะเลาะกัน ปัญหาความแตกแยกของพรคคอมมิวนิสต์จีน กับพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต (รัสเซีย) แล้วก็ลามมาเป็นปัญหาความขัดแย้งของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

“และต้องยอมรับว่า มันเป็นละครที่จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง หลังจากมี คำสั่ง 16/23 และ คำสั่ง 65/25 สิ่งที่ตามมาก็คือ ป่าแตก พรรคคอมมิวนิสต์ในไทยเริ่มมีอาการถดถอย พอถึงเดือนตุลาคม ปี 2526 สงครามคอมมิวนิสต์ในไทยก็จบลง

“คนรุ่นผมเนี่ย สำนวนของ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เรียกว่า คนเดือนตุลา แต่จริงๆ แล้วเนี่ย รุ่นผมคือ คน 3 ตุลา เพราะผ่านทั้ง เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่เป็นเหมือนการก่อตัวของคนรุ่นใหม่ ผ่าน เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกปราบจนต้องเข้าไปสู้ในชนบท แต่พอถึง ตุลาคม 2526 ความขัดแย้งมันก็จบ ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์ในเดือนตุลาคมอีกเช่นกัน

“ในปี 2526 การเมืองไทยคลี่คลายไปอีกรูปแบบหนึ่ง หรือพูดง่ายๆ คือการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ชีวิตคน และที่ใหญ่ที่สุด ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ของการเมืองไทย 

“หลังปี 2526 ไทยอยู่ในฐานะที่โดดเด่นในภูมิภาค ไทยกลายเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุด (ในภูมิภาค) เพราะขณะนั้นรอบบ้านเรามีปัญหากันหมด แต่เราสามารถปิดฉากสงครามชุดที่ใหญ่ที่สุดได้ คนรุ่นผมที่เข้าฐานที่มั่นในชนบทก็กลับเข้าเมือง กลับมาเรียนหนังสือ กลับมาประกอบอาชีพ ฯลฯ

“สัญลักษณ์ที่ใหญ่ที่สุด คือเพลง เดือนเพ็ญ ของ นายผี อัศนี พลจันทร์ ผมได้ยินเพลงนี้ก็รู้ทันทีเป็นเพลงของคนในป่า แต่สิ่งที่ผมตื่นเต้นคือ ตอนนั้นเพลงเดือนเพ็ญ เปิดในทุกหนทุกแห่ง รวมทั้งในผับ ในบาร์ บุคคลระดับสูงก็นำเพลงนี้ไปร้อง

“สำหรับผมแล้ว นี่คือสัญลักษณ์ที่สำคัญของการสิ้นสุดสงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย เพราะคนทั่วไปไม่รู้สึกกลัวเพลงในป่า ร้องเพลงนี้ก็ไม่ต้องกลัวจะถูกจับข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ คนไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ร้องเพลงเดือนเพ็ญ ก็รู้สึกซาบซึ้งกับเนื้อหา เพราะฉะนั้นจึงเป็นการจบสงครามแบบสวยที่สุด ไทยกลายเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพ แล้วก็นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ”

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535

รัฐประหารปี 2534 - พฤษภาทมิฬ ปี 2564

หลังจากปี 2526 สถานการณ์การเมืองไทยค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ แต่แล้วก็เกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2534 นำไปสู่การปะทะกันอีกครั้ง ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยม (บริบทเวลานั้น) ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535   

“หลังจากนายกฯ เปรมตัดสินใจว่า ผมพอแล้ว ในปี 2531 จึงเป็นครั้งแรกหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง นั่นก็คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

“การขึ้นสู่อำนาจของนายกฯ ชาติชาย ทำให้อำนาจของทหารเริ่มถดถอย ใครที่อยู่ในยุคนั้นจะรู้สึกว่า พลังของรัฐบาลนายกฯ ชาติชาย ได้ไปเปลี่ยนยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น ไปหยุดสงครามที่ไทยเข้าไปมีส่วนพัวพัน อย่าง สงครามกลางเมืองของกัมพูชา แล้วพยายามขับเคลื่อนมิติทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายคนรู้สึกว่า ช่วงนั้นเป็นยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู  

“เพราะฉะนั้นเมื่อเศรษฐกิจเฟื่องฟู ก็เกิดคำถามว่า เรายังจำเป็นต้องมีทหารเพื่อคุ้มครองประเทศแบบเดิมหรือไม่ ? ความรู้สึกถึงความจำเป็นของการมีทหารมันลดลงไปเยอะ และเมื่อผู้นำทหาร ขัดแย้งกับผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง สุดท้ายเขาก็ล้มกระดาน โดยหวังว่าจะพาการเมืองไทยกลับสู่โจทย์ชุดเดิม นั่นก็คือ การเมืองที่อยู่ใต้อำนาจทหาร

“แต่การเมืองชุดนี้ก็มาสะดุดในปี 2535 ผมไม่อยากเรียกว่า เหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 คือ 14 ตุลา รอบ 2 แต่ก็มีความคล้ายคลึง เพราะเป็นการพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของกองทัพ และแพ้บนถนน

“ผมพูดเสมอ หลัง เหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 หรือ พฤษภาทมิฬ ไม่เชื่อว่ารัฐประหารจะหมดไปจากสังคมไทย ถ้าย้อนกลับไป หลายท่านที่อยู่ในยุคนั้นคงจำได้ว่า มีการพูดอย่างฟันธงกัน รัฐประหารปี 2534 จะเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้ายในเมืองไทย เพราะหลายคนเชื่อว่า กระบวนการทางการเมืองมันสมบูรณ์แล้วแหละ เมื่อมี รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือที่คนยุคนั้นเรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เชื่อว่าการปฏิรูปทางการเมืองที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะสร้างภูมิทัศน์ใหม่ ทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย (อย่างแท้จริง) แต่สุดท้ายมันก็เป็นได้แค่ความหวัง

การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์

ปี 2548 - ปัจจุบัน

จากที่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ไล่เรียงเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร ปี 2500 กระทั่งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยม (ในแต่ละบริบทของสังคม) ที่ดำรงและดำเนินมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ และไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ?

"ผมว่าความขัดแย้งที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน รอยแตกมันเริ่มเมื่อประมาณปี 2548 ที่เราได้เห็นการก่อตัวของปีกขวา (อนุรักษ์นิยม) ที่เป็นขบวนใหญ่ พันธมิตรเสื้อเหลือง แล้วสืบเนื่องมาถึง นกหวีดธงชาติ

“ผมคิดว่า การปรากฏของกระแสขวาตรงนี้ ดำเนินไปอย่างเป็นขบวน ตั้งแต่ปี 2548 ต่อเข้าปี 2549 ล่วงมาถึง กปปส. (ปี 2556 - 2557) มันแสดงให้เห็นชัดว่า กลุ่มขวากล้าเปิดตัว เพื่อเสนอชุดความคิดแบบอนุรักษ์นิยม

“แต่อีกด้านหนึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยมเริ่มกังวล ซึ่งในปี 2519 เป็นความกลัวที่มีต่อคอมมิวนิสต์ คราวนี้ภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุด กลายเป็นกลัวการเมืองระบบเลือกตั้ง กลัวประชาธิปไตย แล้วมองการเมืองแบบเลือกตั้งเป็นฝ่ายตรงข้าม และกลัวว่าถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมแพ้ถดถอย จะไม่มีที่ยืน

“สำหรับผม ถ้าตีความแบบนักเรียนรัฐศาสตร์ รัฐประหารปี 49 กับ รัฐประหารปี 57 มีเหตุผลเดียว คือรัฐประหารที่ปีกอนุรักษ์นิยมตัดสินใจทำ เพื่อค้ำอิทธิพลของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่ให้ถดถอยในสังคมไทย

“เพราะฉะนั้นในบริบทอย่างนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ในอนาคตเป็นไปได้ไหม ฝ่ายขวาไทยจะกลัวน้อยลงกว่านี้ และอาจจะเป็นไปได้ เพราะเราก็เคยเห็นปีกขวาสายปฏิรูป แยกตัวออกจากชุดนโยบายแบบขวาจัด ด้วยการผลักดัน พล.อเกรียงศักดิ์ ขึ้นเป็นนายกฯ แล้วก็ปรับยุทธศาสตร์ของประเทศ

“คำถามวันนี้ก็คือ ปีกอนุรักษ์นิยมสายปฏิรูป ยังมีในสังคมไทยหรือไม่ ? และถ้ามี ยังมีพลังพอไหม ? ซึ่งหมายถึง ปีกอนุรักษ์นิยม ที่ไม่ใช่ขวาสุดโต่ง ผมไม่อยากใช้สำนวนว่า ขวาสลิ่ม ที่ยังเชื่อว่า รัฐประหารเป็นคำตอบของทุกอย่าง ประเทศไทยจำเป็นต้องปกครองด้วยระบบอำนาจนิยม แต่อนุรักษ์นิยมสายปฏิรูปจะเชื่อว่า วันนี้ระบบอำนาจนิยม ไม่ใช่คำตอบแล้ว เพราะการเมืองโลกเปลี่ยน แล้วเปลี่ยนไปเยอะมาก

“ดังนั้นสิ่งที่ปีกอนุรักษ์นิยมไทย ต้องเรียนรู้ก็คือ โลกเปลี่ยน สังคมไทยก็เปลี่ยน และโจทย์ใหญ่ที่สุดในวันนี้ ผมเชื่อว่า โรค (โควิด) เปลี่ยนโลก โรคเปลี่ยนรัฐ โรคเปลี่ยนสังคม และโรคเปลี่ยนชีวิต  ดังนั้น กลุ่มอำนาจนิยม (อนุรักษ์นิยม) ต้องกล้าคิดใหม่ เพราะถ้าไม่คิดใหม่ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม กลุ่มอนุรักษ์นิยมจะถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง แล้วจะกลายเป็นชุดความคิดที่ขายไม่ออก

“ผมคิดว่า โควิดจะเป็นปัจจัยบังคับให้กลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย ต้องคิดโจทย์ของประเทศไทยใหม่ทั้งหมด และสำคัญที่สุด ผมคิดว่าโลกหลังโควิด จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

“ซึ่งเรื่องใหญ่ที่สุดในโลกหลังโควิดก็คือ การรื้อการเมืองแบบเก่า ดังนั้นถ้าจะเป็นขวา ต้องเป็นขวาที่ทันสมัยกว่านี้ และถ้าเป็นซ้าย ก็ต้องเป็นซ้ายที่ใหม่ขึ้น เพราะกระแสในเวทีโลกวันนี้ ก็เป็นซ้ายอีกชุดหนึ่งแล้ว

“ฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นซ้ายหรือเป็นขวา ก็ต้องคิดใหม่ โลกหมุนไปข้างหน้ามากแล้ว อย่าให้ประเทศไทย กลายเป็นเพียงของเหลือใช้ ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แล้วไม่มีใครสนใจ

“และต้องไม่ลืมว่า หลังการสิ้นสุดสงครามคอมมิวนิสต์ ในปี 2526 เรายกสถานะของประเทศให้เป็นที่สนใจในสังคมโลกได้ แต่ถ้าวันนี้ เราปรับสถานะของประเทศไม่ได้ เราก็จะเป็นเพียงของที่ถูกทิ้งค้างไว้ แล้วไม่มีใครสนใจ หรือใส่ใจ และนั่นจะเป็นอนาคตที่ยากลำบากของคนรุ่นต่อไป”  

related