svasdssvasds

กอร์ปศักดิ์ ชำแหละนโยบายเศรษฐกิจบิ๊กตู่ ตอบโจทย์ประเทศเวลานี้หรือไม่ ?

กอร์ปศักดิ์ ชำแหละนโยบายเศรษฐกิจบิ๊กตู่ ตอบโจทย์ประเทศเวลานี้หรือไม่ ?

SpringNews สัมภาษณ์ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลบิ๊กตู่ โดยรัฐบาลต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “ภายในระยะเวลา 2 ปีนี้เราจะอยู่อย่างไร ?"

นโยบายเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นโรดแม็ปในการกำหนดแนวทางด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และวางแผนให้เห็นถึงอนาคตของประเทศได้อย่างชัดเจน

SpringNews สัมภาษณ์ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลบิ๊กตู่ รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท แนวโน้มการปรับเพดานเงินกู้จาก 60 % เป็น 70 % ของ GDP หรือเรื่องงบฉุกเฉิน ฯลฯ โดยกอร์ปศักดิ์ได้ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ : ผมคิดว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ณ วินาทีนี้ เรามองระยะยาวไม่ได้ หมายความว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะมองระยะยาว เช่น EEC พูดมาหลายปีแล้ว และยังพูดต่อเนื่อง ส่วนสิ่งที่จะเกิดขึ้นเนี่ย คงไม่ใช่จากรัฐบาลชุดนี้ ถ้ามันจะเกิด

หรือนโยบายที่ออกมาใหม่สดๆ ร้อนๆ ก็เป็นนโยบายระยะยาว คือ การดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน โดนให้สิ่งจูงใจหลายอย่างมาก แต่สิ่งที่มันจะเกิดขึ้น จะเป็นนักลงทุนหน้าเดิมที่ได้ประโยชน์ ส่วนคนใหม่ต้องใช้เวลา ฉะนั้นจูงใจอย่างไรต้องคิดหนัก เพราะมันจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่อยู่ที่นี่แล้วมากกว่า ยกเว้นจะกำหนดไปเลยว่า ต้องเป็นคนต่างชาติชุดใหม่ที่จะเข้ามา แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะจะต้องใช้เวลานาน แล้วถ้าเป้าหมายคือทำประเทศเราให้สุดยอดเนี่ย เราไม่ควรจูงใจคนต่างชาติให้เข้ามาโดยการยอมเสียทุกอย่าง

แต่สิ่งที่สำคัญในตอนนี้เราต้องถามตัวเองว่า จะอยู่ได้อย่างไร จากวันนี้ไปอีก 2 ปีข้างหน้า เข้าปีที่ 3 ผมว่ามันโอเคแล้วแหละ แต่ 2 ปีนี้เราจะอยู่อย่างไร ดังนั้นมันต้องเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ตรงนี้น่ะครับ

ฉะนั้นเรื่องที่ดิน ควรจะขายไม่ขาย ไม่ใช่ประเด็นที่จะมาคุยกันในเวลานี้ ถึงจะคุยกันตอนนี้ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจกับบ้านเรา เพราะภายในระยะ 2 ปีนี้มันไม่ได้ช่วยอะไร ผมจึงมองว่า การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ (ของรัฐบาล) ไม่ตรงจุด ไม่ตรงเป้า 

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

  • ในความคิดของอาจารย์ก็คือ นโยบายจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ยังไม่ใช่สิ่งที่ต้องเร่งทำในเวลานี้ ?   

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ : ผมจะไม่มองว่านโยบายใดดีหรือไม่ดี เพราะเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน แต่ผมมองว่าตอนนี้เราอยู่ในขั้นวิกฤตที่เศรษฐกิจของเรามีปัญหามาก เพราะฉะนั้นเราต้องมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาจากวันนี้ไปอีก 2 ปีให้เรียบร้อยก่อน แต่นโยบายที่ออกมา ส่วนตัวผมว่าผิดนะ ซึ่งความเห็นของผมก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป แต่ผมเชื่อว่าผิดแน่นอน

ฉะนั้นโดยส่วนตัวผมจึงไม่ได้สนใจ เขาซื้อที่ เขาก็เอาไปไม่ได้ อย่างตอนญี่ปุ่นรวยๆ เมื่อ 20 – 30 ปีก่อน ก็เข้าไปซื้อที่ดินในอเมริกามากมาย แล้วมีช่วงหนึ่งเขาก็จน เขาก็ต้องขายคืนหมด

แต่ถ้ามองว่าเราจะพัฒนาประเทศไปในทิศทางไหน เราจะต้องมองให้ลึก นั่นก็คือเราจะต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก มากกว่าพึ่งพาต่างชาติ เพราะเท่ากับเรายื่นมือตัวเองไปอยู่ในอุ้งมือของเขา เขาถอนไปเมื่อไหร่เราก็เจ๊ง

ฉะนั้นแล้ว 1. เราต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ 2. ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศของเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นทั่วโลก เราก็จะเสียหายไม่มาก

ซึ่ง 2 แนวทางนี้แหละครับ เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศอยู่ได้อย่างยั่งยืน และถ้าเราฟังเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ ก็เป็นคำตอบอยู่แล้วว่า ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ  แสดงความคิดเห็นว่า นโยบายเศรษฐกิจต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ในวันนี้ และระหว่าง 2 ปีนับจากนี้

  • แล้วกรณีกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร ?

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ : ปัญหาของรัฐบาลชุดนี้อยู่ที่การกู้เงิน แล้วไม่ได้ใช้ให้มันกลับมาเป็นรายได้ ความหมายก็คือ ใช้แล้วก็หายไป เพราะฉะนั้นหนี้เงินกู้ก็เพิ่มพูน แต่ไม่ได้ทำให้รายได้มันย้อนกลับมา

ซึ่งช่วงแรก โทษรัฐบาลได้ ช่วงที่ 2 โทษไม่ได้ ช่วงแรกหมายถึงช่วงที่เป็น คสช. ช่วงนั้นยังไม่มีโควิด แต่กู้เงินปิดหีบงบประมาณไปไม่น้อย ใช้เงินไปแล้วก็ไม่ได้ทำให้การเก็บรายได้ (ภาษี) มากขึ้น ก็คือนโยบายทางการคลังล้มเหลว

พอมาตอนหลัง นอกจากกู้ปิดหีบงบประมาณแล้ว ยังไปกู้นอกงบประมาณ ก็คือออกกฎหมายพิเศษ ที่กู้ 1.5 ล้านล้านบาท แล้วทางแบงก์ชาติบอกว่าจะกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท อันนี้คือกู้ด้วยกฎหมายพิเศษ กู้เพิ่มเพื่อปิดหีบงบประมาณ ซึ่งส่วนหนึ่งกู้มาเพื่อไปใช้หนี้น่ะครับ (หัวเราะ) เพราะมันไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น มันก็ต้องกู้ไปจ่ายดอกเบี้ย

แต่หลักการการคลังที่ดี เราจะกู้ไม่มากไปกว่าเงินต้น และใช้คืนในปีนั้นๆ เช่น ปีนี้ใช้คืน 5 หมื่นล้านบาท เราก็ไม่ควรกู้เกิน 5 หมื่นล้านบาท แต่วิธีการที่รัฐบาลทำขณะนี้ เขาไม่ได้สนใจ เขาต้องการปิดงบประมาณให้ได้ ส่วนรายจ่ายปล่อยให้มันกระจัดกระจายไป หมายความว่าไม่ประหยัดเลย อันนี้คือนโยบายการคลังที่ล้มเหลว

ยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ งบกลาง ซึ่งงบกลางมันเป็นเรื่องปกติ แต่มีอยู่รายการหนึ่งที่เรียกว่างบฉุกเฉิน ที่มันซ่อนอยู่ในงบกลาง ซึ่งปกติจะอยู่ในวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท สำหรับเหตุน้ำท่วม สำหรับอุทกภัย อะไรก็แล้วแต่ ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท

ต่อมาก็มีความพยายามให้งบส่วนนี้มันลดลงไป แต่พอรัฐประหาร กลายเป็น 9 หมื่นล้านบาท แสนล้านบาท ซึ่งงบตรงนี้เป็นเงินที่อยู่ในอำนาจของนายกฯ แต่ผู้เดียว นายกฯ พูดอะไร ครม. ต้องทำตามอยู่แล้ว แล้วแอบใช้กันในลักษณะที่เรียกว่าฟุ่มเฟือย

เช่น ถ้ากระทรวงกลาโหม บอกว่า ฉุกเฉิน จะไม่มีรายละเอียดเลยว่า ฉุกเฉินเพราะอะไร เวลาประชุมก็เสนอเข้า ครม. ถือเป็นเรื่องลับด่วน พอพิจารณาเสร็จ เจ้าหน้าที่ก็จะมาเก็บเอกสารกลับไปเลย อันนี้เป็นเงินภาษีของพวกเรา แต่พวกเราไม่ได้รับรู้

คราวนี้กลับมาถึงเรื่องเงินกู้นอกระบบ ซึ่งเป็นหนี้ก้อนใหญ่มากเลย กู้ชุดแรก ก็มีอยู่ 4 แสนล้านบาท ที่ผิด ก็คือเอาไปทำสะพาน ทำถนน ทำอะไรต่างๆ ผ่านกระทรวงมหาดไทย เขาก็นินทากัน อันนี้เตรียมไว้สำหรับให้กระทรวงมหาดไทย เป็นแนวหน้า ในการเลือกตั้งสมัยหน้า

คุณเคยได้ยินข่าวไหม คนในกระทรวงมหาดไทย ที่จะตั้งพรรคการเมือง เพราะฉะนั้น 4 แสนล้านบาทไปแล้ว ไม่มีใครรู้ สื่อก็ไม่รู้ว่าเอาไปใช้ทำอะไร บอกแต่ว่ารีบกู้ๆ แต่ไม่รู้เอาไปทำอะไรบ้าง ถึงวันนี้ไม่มีใครไปขุดไปคุ้ยให้เห็นเท่าไหร่นัก เพราะฉะนั้นไม่ได้กลัวว่ากู้มากหรือกู้น้อย แต่กลัวว่า กู้แล้วเอาไปทำอะไร

  • อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร กรณีการเพิ่มเพดานเงินกู้ จาก 60 % เป็น 70 % ของ GDP  ?

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ : เพิ่มเพดานเงินกู้เป็น 70 % จาก 60 % ส่วนตัวนะ ผมว่ายังน้อยไปด้วยซ้ำ ผมว่าเราอยู่ไม่ได้หรอก ถ้าเราไม่มีเงินพอ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเป็นหนี้แทนประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนเป็นหนี้ รวมถึงภาคธุรกิจด้วยนะ ไม่ใช่ให้เขาเป็นหนี้ แต่รัฐบาลต้องเป็นหนี้แทน

เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเขาไม่ได้สร้าง โควิดเป็นปัญหาของโลก เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องดูแลประชาชน แล้วรัฐบาลเป็นหนี้ รัฐบาลก็จะแก้ไขปัญหาได้ ถ้ารัฐบาลเก่งนะ แต่ถ้ารัฐบาลไม่เก่งก็ถือว่าซวยไป เพราะฉะนั้น จะเป็น 70 % 75 % 80 % ผมไม่ได้กังวล ผมกังวลแค่ว่ากู้เอาไปทำอะไรมากกว่า

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กล่าวว่า ไม่ห่วงเรื่องรัฐบาลกู้เงินเยอะ แต่กังวลว่า กู้แล้วเอาไปทำอะไร เป็นประโยชน์หรือไม่

  • ปัญหาในเวลานี้จึงไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลกู้เงินเยอะ แต่อยู่ที่กู้มาแล้ว นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ให้กับประเทศได้มากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมายังไม่ค่อยเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมนัก ?

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ : เราจะไปมองภาพลบของรัฐบาลทั้งหมดไม่ได้ เพราะจริงๆ เขาก็ทำสิ่งที่ถูกหลายเรื่องอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าเราพูดตามหลักวิชาการ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจมันมีหลักคิดอยู่ในเรื่องของนโยบายการคลัง ว่าเราจะใช้หลักคิดแบบไหน แล้วนโยบายการเงิน ว่าเราจะใช้หลักคิดแบบใด

ถ้าในนโยบายการคลัง เป็นเรื่องของโครงสร้างภาษี เป็นเรื่องการเก็บเงินจากพวกเราน่ะ แล้วถ้าเก็บไม่พอ ก็เป็นเรื่องของการกู้เงินในนามพวกเรา รวมถึงถ้าเอาไปใช้ แล้วเอาไปใช้อย่างไร

ทีนี้เรื่องภาษีเอาไว้ก่อน เรื่องกู้ผมพูดไปแล้วเมื่อกี้ แต่ว่าการใช้เงินอย่างไรนี่ เป็นเรื่องสำคัญซึ่งผมคิดว่า จากวันนี้ไปอีก 2 ปี ซึ่งมันจะข้ามรัฐบาลแล้ว เพราะรัฐบาลนี้อยู่ได้เต็มที่ก็ปีกว่า (กรณีครบเทอม) แต่วิกฤตทางการเมืองก็รู้ว่า คงไปไม่ถึง

สิ่งที่รัฐบาลทำเวลานี้ คือเรื่องเยียวยา ฉะนั้นเงินส่วนหนึ่งที่คุณพูดเมื่อสักครู่ ที่กู้มาเยอะมาก ส่วนหนึ่งคือกู้แล้วเอาเงินไปให้ประชาชน อันนี้มันไม่รั่วไหล แต่ว่าบางอันก็ดี บางอันก็ไม่ได้ผล

เคยเก็บภาษีมา รัฐบาลก็คืนให้ประชาชนไป อาจจะมีคนที่ไม่จนจริง เข้ามามีส่วนรวมด้วย แต่ก็ไม่มาก มันไม่รั่วไหลเหมือนกับการประมูลโครงการใหญ่ๆ ที่มันรั่วไหลทีเป็นร้อยล้าน พันล้าน หลายพันล้าน

เรื่องเงินเยียวยาเนี่ย ผมถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่สามารถทำให้ได้ประโยชน์ และทดลองทำเป็นโครงการระยะยาวได้ อย่างการให้เงินผู้มีรายได้น้อย เช่น สมัยผมเป็นรัฐบาลทำเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ รัฐบาล คสช. มาทำเรื่องบัตรคนจน อันนี้ของดีนะ น่าจะทำกันเป็นเรื่องถาวรไปเลย เพราะไหนๆ ก็มีข้อมูลครบอยู่แล้ว และก็มีเงินที่กู้มา น่าจะมากพอที่จะทำให้มันเป็นระบบที่ดี ทำให้ยั่งยืนไปได้

แทนที่จะไปใช้คำพูดหรูๆ สวยๆ ซึ่งในเวลานี้ ผมว่าหลายคนก็สับสน สนุกสนานมากเลยในการตั้งชื่อ (โครงการเยียวยาโควิดต่างๆ) ผมว่าเป็นมาร์เก็ตติ้งเกินไป แต่ประเด็นก็คือ เราเยียวยาอย่างนี้ตลอดไปไม่ได้ ผมว่านับจากนี้ไม่ควรเกิน 6 เดือน  

แต่สำหรับการเยียวยาสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อย มันไม่พอนะ นอกจากนั้นมันต้องเยียวยาธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลก็ทำอยู่ แต่เป็นการช่วยผู้ไปเที่ยว แต่ตัวธุรกิจเองซึ่งเป็น SME ที่มีการปลดแรงงานเยอะแยะเนี่ย ไม่มีการช่วยเหลืออะไรเลย

แล้วธุรกิจการบิน เท่าที่เห็นข่าวก็ไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลย Soft Loan ก็ไม่ได้ให้อะไรเขา เขาขอมาก็ไม่ได้ให้ อันนี้ผมว่า ไม่ดีน่ะครับ

นอกจากนั้น สิ่งที่ต้องทำในเวลานี้ก็คือ แหล่งน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร พูดกันมาร้อยปีร้อยชาติแต่ไม่เคยทำจริงจัง ผมไม่ได้พูดถึงโครงการขนาดใหญ่มหาศาล ที่ต้องสร้างเขื่อนสร้างอะไร แต่ผมหมายถึงแหล่งน้ำที่สามารถผลักดันโครงการต่างๆ ให้ออกไปได้ และเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วย อาจจะไม่เสร็จภายใน 6 เดือน อย่างน้อยภายใน 1 ปี ก็ยังดี

และผมว่า เราควรใช้โอกาสนี้ซ่อมประเทศเรื่องการท่องเที่ยว โควิดทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยว แต่เรายังซ่อมประเทศน้อยมากในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ทั้งๆ เราควรจะใช้โอกาสนี้ปรับปรุงแหล่งอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวมันมหาศาล  

เรื่องที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องการแพทย์ ผมว่าจะต้องใช้เงินอีกหลายแสนล้านบาท แต่เราจำเป็นต้องทำ เพราะไม่รู้ว่าโควิดจะกลับมาเมื่อไหร่ แล้วนอกจากโควิดแล้ว ยังมีโรคภัยอื่นๆ อีกหรือเปล่า อันนี้จะเป็นส่วนของการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศในเรื่องสุขภาพ และแน่นอนครับ เรื่องการศึกษา ก็ต้องทำตลอดไป

และอีกสิ่งที่ต้องลงทุน ก็คือพลังงานทดแทน สมัยก่อนพูดถึงเอทานอล แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้ว วันนี้เป็นเรื่องของ Green Economy ซึ่งไม่ทำไม่ได้ แล้วตัวนี้สร้างงานมหาศาล ซึ่งต้องใช้นโยบายทางการคลัง ต้องใช้โครงสร้างทางภาษี เพื่อให้เกิด Green Economy ได้โดยเร็วที่สุด 

ผมไม่ห่วงว่าจะกู้เงินเท่าไหร่ ห่วงอย่างเดียว ใช้ไม่เป็น หรือใช้เก่งเกินไป (หัวเราะ) ผมกลัวที่สุด ไม่ใช่ใช้ไม่เป็น ผมกลัวใช้เก่ง เพราะมันไม่ได้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ น่ากลัวที่สุดครับ

  • ในการเลือกตั้งสมัยใหม่ จะมีโอกาสเห็นอาจารย์กลับมาโลดแล่นในเวทีการเมืองอีกหรือไม่ครับ ?

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ : มันก็พูดยากนะ ผมก็อายุมากแล้ว แต่เขาบอกว่า 72 สมัยนี้ยังหนุ่มอยู่ (หัวเราะ) อายุ 72 ปี สมัยนี้ยังไม่แก่ แต่ว่าสิ่งที่ผมคิดในใจอยู่เสมอก็คือว่า อย่างแรกที่อาจจะด้อยที่สุด ก็เรื่องการศึกษา ผมเป็นคนเรียนหนังสือได้ดี แต่ว่าไม่ชอบเรียน เมื่อจบปริญญาตรี ผมหยุดเลย ผมไม่เรียนอย่างอื่นเลย เคยไปอบรมบ้างอะไรบ้าง เคยไปอบรมที่ Stanford University

เพราะฉะนั้นในเรื่องการศึกษาในสถาบันเนี่ย ผมมีน้อย แต่ว่าการศึกษาด้วยตัวเองเนี่ย ผมมีเยอะ ผมศึกษาจากประสบการณ์ แล้วผมก็มีความสนใจการเมืองตั้งแต่เด็กๆ รู้และเข้าใจ เป็นเลขาฯ คุณพ่อ (ประมวล สภาวสุ) มานาน  เข้ามาทำเองประมาณ 30 ปี มันก็เยอะนะที่อยู่ในวงการการเมือง ก็พอจะรู้ระบบราชการ ระบบทางการเมือง

ผมสนใจเรื่องเศรษฐกิจ เคยเป็นลูกศิษย์ อาจารย์บุญชู โรจนเสถียร ก็ทำเรื่องพวกนี้มา เคยมาเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง เคยมาเจอวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็เข้าไปช่วย ก็มีโอกาสเข้ามาทำ ประสบการณ์ตรงนี้ก็เยอะ ถ้าไม่เข้าไปช่วย ไม่เข้าไปทำ มันก็เหมือนกับเห็นแก่ตัว

แต่การเมืองมันเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจในบางมุมมอง ซึ่งเรารับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมุ้งในการเมือง มันทำให้ตะขิดตะขวงใจที่จะไปร่วมวง และเคยร่วมวงมาแล้ว แต่ต้องรีบออก อย่างที่เห็นน่ะครับ

ดังนั้นคำถามที่ว่า อยากกลับเข้าวงการการเมืองไหม อยาก แต่มีโอกาสเข้าไปทำไหม ไม่ค่อยมีหรอกครับ เพราะมันร่วมกับเขายาก

ซึ่งหลังออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ผมไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวการเมืองเลย แต่สมมติเราจะเข้าไปทำงานการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่เราจะเกษียณจริงๆ เราจะไปอยู่พรรคไหน หรือถามอีกมุมว่า พรรคไหนเขาอยากได้คนอย่างเราบ้าง เราก็ไม่แน่ใจน่ะ แต่ถ้าถามว่าเราอยากไปอยู่พรรคไหนเนี่ย มันก็ตอบยากอีกเหมือนกัน (หัวเราะ)

อย่างพรรคพลังประชารัฐ เราก็ไปร่วมไม่ได้อยู่แล้ว และถ้าไปเข้าร่วม เขาก็ไม่เอาเราอยู่แล้ว พรรคใหม่ๆ เดี๋ยวนี้ก็มีนโยบาย ซึ่งหลายอย่างเราก็ตะขิดตะขวงใจ... ก็ไม่ได้ตอบคำถามว่าจะกลับไปอีกหรือเปล่า แต่ว่าพอเดาได้จากคำตอบนี้ คงไม่ได้กลับไปหรอกครับ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ย้ำทิ้งท้าย ทางรอดของประเทศอย่างยั่งยืน ไทยต้องยืนบนลำแข้งของตัวเองให้ได้

  • สุดท้ายนี้ อาจารย์มีประเด็นอะไรที่ต้องการเพิ่มเติมบ้างไหมครับ ?

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ : ที่ผมกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ไม่ควรพึ่งพาต่างประเทศ เพราะเดี๋ยวนี้การเมืองระหว่างประเทศมันรุนแรง โดยเฉพาะระหว่างจีนกับฝรั่ง จีนอาละวาดมานานแล้ว เพื่อจะมาดูแลแถวนี้ สหรัฐฯ ก็ไม่ยอม ตอนนี้สหรัฐฯ ก็เลยออก (สนธิสัญญาความมั่นคง) “ออสกัส” ขึ้นมา คือ ออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐฯ เพื่อดูแลความมั่นคง เตรียมขายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลีย ซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นข้างนอกไม่ค่อยดี เราดูแลตัวเองให้ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ

เรื่องที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ก็คือนโยบายการเงิน เกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ย ที่ทุกคนพยายามมองข้าม ก็คือ เงินฝากไม่ถึง 1 % เงินกู้ 5-7 % ผมว่าตรงนี้ เป็นการทำร้าย เป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน แล้วไม่มีใครดูแล

คุณเห็นไหมว่า อยู่ดีๆ ธนาคารแห่งหนึ่งก็มาประกาศตัวเองว่า จะไม่เป็นธนาคารแล้ว จะเป็น Holding Company แล้วก็จะแตกบริษัทย่อยออกมา แล้วบริษัทหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ ให้ผ่อน เช่า ซื้อของ เช่น รถยนต์ เป็นต้น แล้วอัตราดอกเบี้ยเขาคิด 3 % แบบเส้นตรง ก็หมายถึง 6 - 7 %

 อัตราเส้นตรงเนี่ย ยกตัวอย่าง ดอกเบี้ยรถยนต์ บางคนบอกว่าถูกจังเลย 3 % เท่านั้นเอง แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะมัน 3 % ตลอด ไม่ว่าเงินต้นเหลือเท่าไหร่ ก็ยัง 3% อยู่ เพราะฉะนั้นในความเป็นจริงมันก็คือ 6 – 7 %

ในขณะที่เขาระดมทุน อย่างมากเพียง 1 % แค่นั้นเอง แล้วเขาก็ไม่มีคอร์สด้วย เพราะเดี๋ยวนี้มันเป็นดิจิตอลไปหมดแล้ว ไม่ต้องมีพนักงานยังได้เลย แต่นี่ยังคิด 6 - 7 % อยู่ กำไรตรงนี้จึงมหาศาล เมื่อเขาแตกบริษัทออกมาเป็นบริษัทย่อยเนี่ย ในตลาดหลักทรัพย์เนี่ย หุ้นมันก็จะเติบโตมหาศาล แล้วคนที่ได้กำไรหุ้นเนี่ยก็จะกำไรมหาศาล และที่สนุกไปกว่านั้นก็คือ กำไรแล้วไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว

พอเข้าใจไหมครับว่า พวกกลุ่ม 1 % ของประเทศไทยเนี่ย เขาทำอะไรกันอยู่ พวกเศรษฐีเขาก็เป็นเศรษฐีไปเรื่อยๆ เขาก็จะออกรถใหม่ๆ โรลส์-รอยซ์ เต็มบ้านเต็มเมือง อยู่กันหรูๆ กินแต่อาหารดีๆ แต่คน 40 - 50 ล้านคน ไม่มีอะไรเลยครับ ผมอยู่บ้านนอก เห็นรถกระบะวิ่งไปวิ่งมาเต็มไปหมด พวกนี้ผ่อนกันจนอ้วกทั้งนั้น อันนี้เป็นประเด็นที่ไม่มีใครมองเลย ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กันไปหมด

related