svasdssvasds

ย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ ความฝันของ จอมพล ป. ที่เกือบเป็นจริง

ย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ ความฝันของ จอมพล ป. ที่เกือบเป็นจริง

ย้อนไปเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพชรบูรณ์เกือบได้เป็นเมืองหลวงของไทย ภายใต้การบริหารประเทศของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ข่าวคราวล่าสุดเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย จาก “จาการ์ตา” ไปยัง “นูซันตารา” ทำให้นึกถึงกรณีของไทยเราเมื่องช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้เตรียมย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ และได้มีดำเนินการต่างๆ ไว้เกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ก็มีเหตุให้ต้องยุติลง ความใฝ่ฝันของจอมพล ป. ที่ต้องการให้เพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง จึงไม่สามารถกลายเป็นจริงได้ และจากสาเหตุดังกล่าวก็ทำให้เขาต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯ โดย Spring News ขอนำมาสู่กันดังต่อไปนี้  

เหตุผลในการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปยังเพชรบูรณ์

ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เตรียมดำเนินการย้ายเมืองหลวง จากกรุงเทพฯ ไปยังเพชรบูรณ์ อยู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ปี 2484 – 2488) ที่กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลเข้าไทย และกดดันให้เป็นพวกด้วย โดยฝ่ายอักษะมีแนวร่วมสำคัญคือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น

ในเวลานั้น ไทยจึงต้องจำยอมประกาศสงครามกับอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย (โซเวียต) ซึ่งเป็นแนวร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนสหรัฐฯ ยังไม่ประกาศเข้าร่วมสงคราม กระทั่งญี่ปุ่นถล่มเพิร์ล ฮาร์เบอร์ สหรัฐฯ จึงประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ)

และเมื่อญี่ปุ่นเพลี่ยพล้ำในสมรภูมิประเทศต่างๆ จอมพล ป. จึงเห็นเป็นโอกาส ที่ไทยจะเปิดศึกขับไล่ญี่ปุ่น จึงได้วางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ด้วยการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปยังเพชรบูรณ์ โดยเหตุผลสำคัญก็เพื่อทำศึกสงคราม แต่ไทยก็ต้องเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับในระดับสุดยอด เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นไหวตัวทัน

จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำไมต้องเป็นเพชรบูรณ์ ?

เมื่อเหตุผลหลักของการย้ายเมืองหลวง คือการวางแผนเพื่อทำสงครามกับญี่ปุ่น ไทยจึงต้องพิจารณาความเหมาะสมด้านชัยภูมิในการทำศึกเป็นหลัก โดยในช่วงเวลานั้นเพชรบูรณ์ยังเป็นพื้นที่ป่า มีภูเขาล้อมรอบ จึงเหมาะใช้ตั้งฐานทัพบัญชาการรบ แต่แล้วญี่ปุ่นก็เริ่มระแคะระคาย ฝ่ายไทยจึงอ้างว่า เป็นการเตรียมการเพื่ออพยพประชาชนหนีการทิ้งบอมบ์ทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตร

การย้ายเมืองหลวงไปยังเพชรบูรณ์ในช่วงปี 2486 - 2487 หากว่ากันในทางปฏิบัติ มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมอย่างเด่นชัด เพียงแต่ยังไม่ได้ประกาศออกมาเท่านั้น

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ได้เล่าในบทความ “เมื่อเพชรบูรณ์เกือบได้เป็นเมืองหลวง” ว่า รัฐบาลไทยได้มีการวางผังเมือง และได้ก่อสร้างอาคารสถานที่ราชการไว้รองรับ อาทิ โรงพิมพ์หนังสือราชการ โรงพิมพ์ธนบัตร โรงพิมพ์แผนที่ บ้านพักข้าราชการ โรงไฟฟ้า โรงผลิตน้ำประปา สถานีวิทยุกระจายเสียง ฯลฯ

รวมถึงมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการย้ายกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ไปยังเพชรบูรณ์ และในวันที่ 23 เมษายน 2487 จอมพล ป. ก็ได้เป็นประธานทำพิธีฝังเสาหลักเมือง ที่บ้านบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก อีกด้วย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกฯ
เพชรบูรณ์ไม่ได้เป็นเมืองหลวง จอมพล ป. หลุดจากตำแหน่งนายกฯ

แต่แล้วการย้ายเมืองหลวง ก็กลับกลายเป็นเหตุให้จอมพล ป. ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯ เพราะพระราชกำหนดให้เพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 ถูกคว่ำกลางสภา จอมพล ป. จึงประกาศลาออก ตามกติกาประชาธิปไตย

แต่ว่ากันว่า อันที่จริงแล้วเรื่องการย้ายเมืองหลวงเป็นประเด็นรอง แต่สิ่งที่ฝ่ายเสรีไทยที่กำลังเข้ามามีบทบาทในสภากังวลก็คือ ญี่ปุ่นกำลังจะแพ้สงคราม หากจอมพล ป. ซึ่งเป็นผู้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ยังเป็นผู้นำประเทศอยู่ ไทยก็อาจถูกเหมาเป็นพวกเดียวกับอักษะ เป็นประเทศแพ้สงครามไปด้วย

การลาออกจากตำแหน่งของจอมพล ป. จึงเสมือนเป็นการเปิดทางให้ฝ่ายเสรีไทยเข้ามาช่วยแก้วิกฤต และทำให้ไทยไม่ต้องได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง

แต่หลังจากรัฐประหารในปี 2490 จอมพล ป.ก็ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ก่อนถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจในปี 2500 โดยจอมพล ป. ได้ลี้ภัยไปยังประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี 2507

แหล่งข้อมูล

เมื่อเพชรบูรณ์เกือบได้เป็นเมืองหลวง

ยุทธการย้ายเมืองหลวง

ไอเดีย “เมืองหลวงใหม่” (ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ) ฝันที่เอื้อมไม่ถึงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

จังหวัดเพชรบูรณ์

แปลก พิบูลสงคราม