svasdssvasds

สรุปการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

สรุปการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

เพื่อนบ้านอินโดนีเซีย เคาะชื่อใหม่และแผนการย้ายเมืองหลวง จากปัญหาการขุดเจาะน้ำบาดาลมากเกินไป เกิดแผ่นดินทรุดตัว ชวนดูสาเหตุการย้ายและการสะท้อนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ถ้ากรุงเทพฯน้ำท่วม จะย้ายเมืองหลวงไปที่ไหนดี?

เคยได้ยินมาว่า หากกรุงเทพฯน้ำท่วม อาจจะย้ายเมืองหลวงไปเชียงใหม่ และการพูดคุยแบบนี้หายไปไหนแล้วไม่รู้ ซึ่งวลีนี้ทำให้ผู้เขียนจำขึ้นใจเลยว่า จะเป็นไปได้เหรอ แต่มันกำลังเกิดขึ้นจริงจากการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นคนจริงๆ ที่ได้สร้างแบบจำลองเมืองที่อาจจมน้ำเพราะภาวะโลกร้อน ระดับน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นจากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย พื้นที่ติดชายฝั่งในเมืองใหญ่ต่างๆอาจจมน้ำ แต่เมืองนั้นยังไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่เป็นจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย

แผนผังเมืองหลวงใหม่ Cr.futuresoutheastasia เคาะประกาศย้ายเมืองหลวงอย่างเป็นทางการ

วันที่ 18 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา ป่วน มหาราณี (Puan Maharani) ประธานสภาผู้แทนราษฎรอินโดนิเซีย เผยแพร่ประกาศผ่านร่างกฎหมายอนุมัติย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย จากจาการ์ตาไปยังกาลิมันตัน โดยชนะโหวตด้วยคะแนนเสียง 8 ใน 9 เสียง ด้วยเหตุผลหลักคือ เมืองทั้งเมืองกำลังจมบาดาลเพราะการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ และลดการแออัดจากการจราจรที่ติดขัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลของอินโดนีเซียมีความคิดริเริ่มที่จะย้ายเมืองหลวงมานานแล้วตั้งแต่ได้รับเอกราช โดยประธานาธิบกีซูการ์โน (Soekarno) ช่วงปีค.ศ.1945-1967 โดยช่วงนี้มีการวางแผนที่จะย้ายเมืองหลวงไปยังปาลังการายา (Palangkaraya) ในกาลิมันตัน โดยผู้ที่ออกมากล่าวถึงแนวคิดนี้คือ ประธานาธิบดียุดโยโน (Yudhoyono) ในช่วงปี 2004-2014 ซึ่งปี 2019 ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Suharso Monoarfa) ยังคงมีการสานต่อแนวคิดนี้เรื่อยมา

หลังจากการชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2 ในปีนั้น เขามั่นคงในหลักการย้ายโดยให้เหตุผลด้านความยั่งยืนในด้านของสิ่งแวดล้อมและการเดินหน้าต่อไปของเศรษฐกิจจาการ์ตา แต่แล้วโครงการก็ต้องหยุดชะงักไปเพราะการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 แต่ก็ได้กลับมาประกาศอีกครั้งในปี 2021ที่ผ่านมาด้วยความหนักแน่นกว่าเดิมว่า ‘ย้ายแน่’ โดยจะเริ่มดำเนินการโครงการภายในปี 2567 และปี 2565 นี้ได้ประกาศชื่อเมืองหลวงอย่างเป็นทางการแล้ว

แล้วที่ไหนคือเมืองหลวงแห่งใหม่ ผู้มาแทนจาการ์ตา

เมืองหลวงแห่งใหม่มีชื่อว่า “นูซันตารา (Nusantara)” ที่ตั้งอยู่บนเกาะกาลิมันตัน (Kalimantan) คือเปลี่ยนจากเกาะหนึ่งไปยังเกาะหนึ่ง คือย้ายจากเกาะชวาไปพื้นป่าตะวันออกของเกาะบอร์เนียว เกาะที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก ซึ่งเชื่อมต่อกับบรูไน

คำว่า ‘นูซันตารา’ ในภาษาชวามีความหมายว่า ‘หมู่เกาะ’ ซึ่งพื้นที่ที่ย้ายไปเดิมเป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่และเป็นที่อยู่อาศัยของอุรังอุตัง อุดมไปด้วยแร่ธาตุ แถมมีประชากรเพียง 3.7 ล้านคนเท่านั้น มีพื้นที่ประมาณ 2,561 ตารางกิโลเมตร โดยมีแผนจะแยกสัดส่วนของที่ดินให้ชัดเจน พร้อมเป็นเมืองอัจฉริยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แผนผังเมืองใหม่เป็นอย่างไร

เนื่องจากเกาะบอร์เนียวเป็นพื้นที่ป่าแห่งสำคัญของโลก และอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและสัตว์ป่าน้อยใหญ่หลากหลายสายพันธุ์ รวมถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ไว้มากมาย อินโดนีเซียมุ่งเน้นนโยบายด้านการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยผู้ชนะการออกแบบเมืองหลวงคือ Urban+ 

แผนที่ทีมงานวางไว้คือ กว่า 70% ของพื้นที่เมืองใหม่แห่งนี้ หรือประมาณ 2,500 ตารางกิโลเมตรจะเป็นพื้นที่สีเขียว และจะมีการจัดตั้งสถาบันเพื่อการปลูกป่าและสวนพฤกษศาสตร์รวมอยู่ด้วยและเมืองหลวงแห่งใหม่นี้จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก จะเป็นขนาดย่อมที่ผู้คนสามารถเดินเท้าไปยังสถานที่สำคัญๆได้สบายๆ โดยจะทำส่วนสำหรับคนเดินเท้าโดยเฉพาะ ส่วนระบบขนส่งสาธารณะ จะเปลี่ยนให้เป็นยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั้งหมด 100%

ทั้งเมืองจะถูกแยกออกเป็นสัดส่วนชัดเจน 5 ส่วนและมีเส้นกั้นเขตคือแนวพื้นที่สีเขียว เพื่อไม่ให้อาณาเขตที่วางเอาไว้ขยายล้นออกไปในอนาคต เนื่องจากได้รับบทเรียนจากกรุงจาการ์ตามาแล้ว ที่เมืองรอบนอกมีการขยายตัวอย่างไรการควบคุม ทำให้ผังเมืองมีปัญหาและลุกล้ำการใช้ทรัพยากรเขตอื่นๆมากเกินไป เช่น ประชากรเพิ่มขึ้นทำให้ไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปา จึงมีการขุดเจาะบาดาลกันเอง จึงเป็นเหตุให้ผิวดินทรุดตัวและจมเร็วขึ้น นอกจากนี้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากโครงสร้าง 4 ชั้นของป่าฝน ที่พวกเขาเรียกว่า “การเลียนแบบทางชีวภาพ” (Biominicry)

Cr.BBC สาเหตุการย้ายเมืองหลวง

อย่างที่ทราบกันดีในเรื่องของการคาดการณ์ของเมืองสำคัญๆในอนาคตอาจเสี่ยงจมน้ำ หากอุณหภูมิโลกแตะ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งหากใครยังไม่ทราบหรืออยากอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ทาง Springnews ได้เคยเขียนรายงานเป็นบทความไว้แล้ว ไปอ่านต่อได้ที่ https://www.springnews.co.th/spring-life/820166

จากที่กล่าวไปข้างต้น นั่นจึงหมายความว่า จาการ์ตา คือหนึ่งในเมืองนั้นที่ผู้เชี่ยวชาญมีการคาดการณ์ว่าเมืองทางตอนเหนือกรุงจาการ์ตากว่า 95% จะจมใต้บาดาลภายในปี 2050  ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วจากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย

มาพูดถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์กันก่อน อินโดนีเซียเป็นประเทศที่แยกตัวออกจากกันเป็นหมู่เกาะเยอะ แต่จาการ์ตา ก็เป็นเมืองที่อยู่ติดกับทะเลชวา และมีแม่น้ำไหลผ่านเมือง ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง และการทรุดตัวของเมืองนั้นเด่นชัดมากขึ้นทุกๆปี จากบ้านเรือนของผู้อยู่อาศัยที่อยู่ติดริมน้ำหรือชายฝั่งเริ่มจมหายไปทีละหลังจากระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการขุดเจาะบาดาล

10 ปีที่ผ่านมา ทางตอนเหนือของจาการ์ตาพื้นดินทรุดตัวลงไปแล้ว 2.5 เมตร และบางส่วนทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่องประมาณ 25 เซนติเมตรต่อปี โดยตอนนี้ครึ่งเมืองเริ่มต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแล้วด้วย หลายอาคารบ้านเรือนเริ่มปล่อยทิ้งร้ายจากการทรุดตัว และดูดตัวตึกลงไปยังใต้ดิน ทำให้เกิดการไหลของประชากรไปยังจังหวัดอื่นๆแทน

Hilight

  • การขุดน้ำบาดาล ทำให้เมืองทรุดตัว โดยรัฐบาลท้องถิ่นที่กระทำการอย่างผิดกฎหมาย
  • ทางเหนือของจาการ์ตา 95% ของพื้นที่ถูกคาดการณ์ว่าจม ในปี 2050
  • แก้ไขปัญหาคนกระจาย จากการถดถอยทางเศรษฐกิจควบปัญหาที่ดินทรุด
  • อยากสร้างเมืองหลวงที่ดีกว่า ครบครัน เป็นหน้าเป็นตาพร้อมต้อนรับแขกต่างชาติ

แต่ผู้คนบางส่วนก็ยินดีที่เมืองหลวงใหม่นี้ดูดีมากกว่าเดิม ดูทันสมัย และหวังให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น อยากให้เศรษฐกิจคึกคักมากขึ้น มีงานกระจายให้ผู้คนมากขึ้น แม้ว่าช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา จะมีการประท้วงถึงความไม่โปร่งใสของรัฐบาลก็ตาม

มีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย

เนื่องจากย้ายไปยังพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ แน่นอนว่ามีผู้คัดค้านแน่นอนในเรื่องของการบุกรุกพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ รวมไปถึงการรบกวนสัตว์อีกหลายสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ที่นั่น และการก่อสร้างก็เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว นักวิชาการหลายคน มองเห็นตรงกัน ในเรื่องจาการ์ตาว่าอาจจมใต้น้ำ และก็มีความเห็นตรงอีกเช่นกัน ในเรื่องของผลกระทบจากการย้ายเมืองใหม่ว่า

“โครงการนี้ยังไม่ได้ทำการศึกษา หรือผ่านขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่ามันจะดูดีจากการออกแบบบนหน้ากระดาษ ซึ่งคนอินโดนีเซียรู้กันดีอยู่แล้วว่า รัฐบาลนั้นมีประวัติไม่ค่อยดีในเรื่องของการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้”

มันเป็นผลกระทบจากการการก่อสร้างบนผืนดินที่ไม่เคยมีการก่อสร้างมาก่อน โดยการดัดแปลงให้เป็นพื้นที่สีเขียว แต่มันดีต่อใครบ้าง และการเข้าแทรกแทรกป่าแบบนี้ยั่งยืนได้จริงหรือไม่

ทาง BBC ได้อธิบายพื้นที่ใหม่แห่งนี้เพิ่มเติมไว้ด้วยว่า อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินในจังหวัดนี้เฟื่องฟูอย่างมาก โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำเหมืองถ่านหินได้อย่างน้อย 1,434 ราย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 50,000 ตร.กม. ซึ่งกว้างใหญ่กว่าประเทศเบลเยียมเสียอีก และที่สำคัญอุตสาหกรรมนี้ได้สร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับคนในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว

ซึ่งจากตรงนี้ แน่นอนว่าอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน เป็นที่ที่พูดกันในวงของนักสิ่งแวดล้อมหลายคนว่า มันเป็นการใช้ทรัพยากรโดยไร้การทดแทนเป็นที่สุด ผู้ได้ประโยชน์มีแต่ได้กับได้ แต่ทดแทนคืนไม่ได้ เป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป นอกจากนี้สัมปทานดังกล่าวมีหลุมลึกที่ถูกทิ้งไว้เปล่าๆไม่มีการฝังกลบถึง 1,735 แห่งทั่วจังหวัด ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกลงไป และถือเป็นการกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงการเอารัดเอาเปรียบชุมชนท้องถิ่นโดยนายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐด้วย 

หันกลับมามองไทย

ประเทศเราก็ไม่ต่างอะไรกับประเทศอินโดนีเซียมากนัก เพียงแต่มันยังไม่ประจักษ์จนตระหนกเพียงเท่านั้น ประเทศไทยคือหนึ่งในลิสต์เมืองใหญ่ที่อาจจมน้ำท่วมในอีกไม่ช้า เพราะภาวะโลกร้อนที่หนุนระดับน้ำทะเลขึ้นมา และการซึมของน้ำจืดลงบาดาลสู่ทะเล 

รู้ไหม ประเทศไทยเราเคยมีแนวคิดที่จะย้ายเมืองหลวงเช่นเดียวกัน ในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยจะย้ายไปจังหวัดเพรชบูรณ์ และในยุคต่อมาก็เสนอไปจังหวัด ฉะเชิงเทรา นครปฐม และนครนายก แต่สำหรับผู้เขียนเคยได้ยินว่าหรือเชียงใหม่จะเหมาะกว่า เพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจเหมือนกัน และแนวคิดการย้ายนั้นไม่เคยสำเร็จ

สาเหตุการย้ายนั้น คล้ายๆกับสมัยที่เราเสียกรุงศรีอยุธยา เราย้ายมาฝั่งธนบุรี ต่อมาก็ข้ามฝั่งเจ้พระยามากรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลทางสงคราม สมัยจอมพล ป. ก็เหตุผลคล้ายๆกัน คือ สงคราม การเมืองและผลประโยชน์ แต่ดันไม่สำเร็จ เนื่องจาก ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน อีกทั้งการย้ายเมืองหลวงต้องมีการตระเตรียมและวางแผนหลายอย่าง รวมไปถึงการใช้งบประมาณมหาศาล และการดูฤกษ์ยาม แต่ก็ไปไม่รอด ต้องเปลี่ยนมาคิดวว่า ทำอย่างไรให้ยั่งยืนแทน ส่วนเรื่องการสร้างหรือย้ายเมืองหลวงในอดีตนั้น ลองไปตามอ่านกันได้ที่ ไอเดีย “เมืองหลวงใหม่” (ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ) ฝันที่เอื้อมไม่ถึงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

กลับมามองกันถึงปัจจุบันและภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคของเรากันดีกว่า ประเทศไทยหลายจังหวัดโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วมในช่วงน้ำหลากทุกปี และยังเกิดขึ้นซ้ำๆโดยที่ยังไม่สามารถหาทางแก้ไขได้อย่างยั่งยืน เชื่อมต่อกับพื้นที่ชายฝั่งที่มีปัญหาของกำแพงกันคลื่นที่ถูกสร้างขึ้น ทำให้หาดทรายหายไปและเกิดการกัดเซาะหน้าดินในบางพื้นที่ อีกทั้งแม่น้ำก็ปนเปื้อนสารเคมีตั้งไม่รู้เท่าไหร่จากการทิ้งขยะภาคครัวเรือนและภาคเกษตรกรรม และเหมืองถ่านหินเราก็มี โรงงานอุตสาหกรรมก็เยอะ แต่ยังไม่มีข้อบังคับเด็ดขาดในการควบคุมดูแลการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เราพูดกันมาตลอดๆว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรไป อะไรสุดขั้วบ้าง เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรอบโลกก็ถูกรายงานเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าที่จะมีแอคชั่นที่นำไปสู่การแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม ข่าวสิ่งแวดล้อมมักถูกเพิกเฉย กลายเป็นข่าวไวรัลชั่วคราวและค่อยๆจางหายไป ดังนั้นข่าวสารการแจ้งเตือนด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นที่พูดกันในวงการสิ่งแวดล้อมว่า เป็นข่าวด่วนที่ช้าที่สุดในโลก แล้วถ้าในอนาคตกรุงเทพฯน้ำท่วมจริงๆ คุณคิดว่าควรย้ายไปที่ไหนดี เพราะอะไร?

ที่มาข้อมูล

https://www.prachachat.net/world-news/news-846004

https://www.bbc.com/thai/features-52165067

https://www.bbc.com/thai/international-45175604

https://www.bbc.com/thai/international-51756428

https://futuresoutheastasia.com/nusantara-new-capital-city-of-indonesia/

http://www.urbanplus.co.id/project/nagara-rimba-nusa-ibu-kota-negara-indonesia/

https://www.silpa-mag.com/history/article_54682

related