svasdssvasds

เหล้าบ๊วยดอง เคียงคู่มากับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่น

เหล้าบ๊วยดอง เคียงคู่มากับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่น

เส้นทางประวัติศาสตร์ของ เหล้าบ๊วยดอง ที่นอกจากเคียงคู่วัฒนธรรมอาหารของคนญี่ปุ่นมานานนับร้อยปี ยังมีสรรพคุณช่วยถอนพิษในร่างกายและพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่แปรรูปส่งออกไปทั่วโลก

เหล้าบ๊วยดอง หรือ Umeshu (อุเมะชุ) เป็นเหล้าญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ทำจากผล อุเมะ รสชาติที่ดีเกิดจากการบ่มผลไม้ทั้งผลโดยการแช่ในแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ กรดซิตริกในผลไม้ทำให้ได้รสชาติรสชาติทหวานอมเปรี้ยวที่ถูกใจ ในตลาดญี่ปุ่นแบรนด์ Umeshu ระดับพรีเมียมที่มีอายุยาวนานหลายปี ถึงกับผลิตรสชาติและรูปแบบต่างๆ ออกมามากกว่า 300 ชนิด

เหล้าบ๊วยดอง หรือ Umeshu (อุเมะชุ) เป็นเหล้าโฮมเมดที่พบเห็นได้ทั่วไปในบ้านครอบครัวคนญี่ปุ่น บางคนทำเหล้าบ๊วยของตัวเองทุกปีหรือเก็บไว้เพื่อรอเฉลิมฉลองในโอกาสเหตุการณ์สำคัญๆ จากข้อมูลตามประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นและจีน บ๊วยมีสรรพคุณทางยาแก่ร่างกายมากมาย เช่น ในญี่ปุ่น มีสุภาษิตที่กล่าวว่าเหล้าบ๊วยสามารถฆ่าพิษได้ถึงสามชนิด ได้แก่ สารพิษในอาหาร น้ำ และเลือด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประวัติความเป็นมาของอุเมะ และ อุเมะชุ ต้องเดินทางย้อนเวลาไปกว่าพันปีเลยทีเดียว โดยมีที่มาคร่าวๆ ดังนี้
บรรยากาศในร้านอาหารญี่ปุ่นในช่วงเวลาหลังเลิกงาน ภาพจาก unsplash  

  • ค.ศ. 750 คอลเล็กชั่นบทกวี วากะ ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ที่มีชื่อว่า มังโยชู ได้กล่าวถึงความสวยงาม ดึงดูดของ ดอกบ๊วยไว้ถึง 118 บทกวี เทียบกับดอกซากุระที่มีเพียง 42 เท่านั้น
  • ค.ศ. 918 ใน "ฮอนโซวาเมียว” พจนานุกรมร้านขายยาภาษาญี่ปุ่นที่เก่าแก่ที่สุด ได้มีการกล่าวถึง อุเมะ เอาไว้ด้วย
  • ค.ศ. 960 มีเรื่องเล่ากันว่า จักรพรรดิมูราคามิ ทรงหายจากอาการป่วยด้วยการดื่มชาพิเศษที่มีส่วนผสมของ “* อุเมะโบชิและคอมบุ (สาหร่ายเคลป์)”
  • ค.ศ. 984 “อิชินโฮ” สิ่งพิมพ์ทางการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ได้มีการเขียนถึงสรรพคุณทางยาของบ๊วยว้ด้วย
  • ค.ศ. 1550 ระหว่างยุค Sengoku (สงครามระหว่างรัฐ) ท่านคุโรดะ โจซุย ได้ออกพระราชโองการแก่ข้าราชบริพารทุกคนว่า ต้องปลูกต้นบ๊วยเมื่อให้กำเนิดบุตรชายสามต้น การปลูกต้นบ๊วยจะเป็นแหล่งยาสำหรับใช้ในการเตรียมพร้อมเพื่อทำสงคราม
  • 1619 โทคุงาวะ โยริโนบุ กลายเป็นเจ้าเมืองคิอิ และหลังจากนั้นไม่นาน อันโดะ นาโอสึงุก็ตั้งนโยบายส่งเสริมการปลูกบ๊วย
  • 1697 คำว่า เหล้าบ๊วยดอง หรือ Umeshu (อุเมะชุ) ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในหนังสืออาหารญี่ปุ่นชื่อว่า "Honcho-shokkan" โดยอธิบายถึง Ume ว่าเป็นยาที่ใช้หยุดการสะสมของเสมหะ บรรเทาอาการคอแห้งและเจ็บคอ เพิ่มความอยากอาหาร และละลายสารพิษ
  • 1712 ในสารานุกรม Wakan-sansai-zue ubai (เหล้าบ๊วย) ถูกกล่าวว่าเป็นยาที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนในปอดและม้าม
  • 1817 ชาโคคุ-โคเด็น-ฮิโฮะ กล่าวว่าผู้ที่มีอาการลำไส้อักเสบ ควรบดบ๊วยเขียวให้เป็นเนื้อแล้วปล่อยให้แห้งภายใต้แสงแดดและคุกเข่าลงในแป้ง
  • 1878 มีการระบาดของอหิวาตกโรคในญี่ปุ่นและอุเมะโบชิเป็นที่ต้องการอย่างมาก
  • 1886 ธุรกิจฟาร์มบ๊วยเริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นภูมิภาคคิชู
  • 1904 อุเมะโบชิ กลายเป็นส่วนหนึ่งของเสบียงอาหารที่ส่งให้กับทหารแนวหน้าในช่วงสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น คำว่า hi-no-maru bento (ข้าวกล่องเป็นข้าวขาวกับบ๊วยดองตรงกลางนึกถึงธงชาติญี่ปุ่น) เกิดขึ้นในช่วงนี้ 
  • 1914 บรรพบุรุษผู้บุกเบิก ของ CHOYA UMESHU CO., LTD. เริ่มต้นการปลูกองุ่น (บริษัทผลิตเหล้าบ๊วยเก่าแก่ที่มีอายุเกินร้อยปี)
  • 1950 การวิจัยเริ่มค้นหาพันธุ์บ๊วยที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น และสุดท้ายค้นพบ Nanko-ume ที่โด่งดังที่ผ่านการรับรองหลังจากนั้น 5 ปี
  • 1952 ในอเมริกา E.T.Krebs ตั้งชื่อว่า B17 แก่ Amygdalin ที่พบในบ๊วย 
  • 1962 กฎหมายภาษีสุราฉบับใหม่ของญี่ปุ่นอนุญาตให้ผลิตสุราจากผลไม้ได้เองที่บ้าน
  • 1965 นันโกะ-อุเมะ จดทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและป่าไม้โชย่าเริ่มโฆษณาทางวิทยุและโทรทัศน์
  • 2005 เหล้าบ๊วยดอง หรือ Umeshu (อุเมะชุ) เริ่มบูมติดตลาดและเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

ในรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ปี 2018 สรุปว่า ตลาดสินค้าผลไม้แปรรูปมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากหลายปัจจัยเช่น ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรมีน้อยลง ต้นทุนการปลูกสูงราคาสูงแข่งกับราคาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศไม่ได้ และไลฟ์สไตล์คนที่เปลี่ยนไป นิยมสินค้าที่ทานง่ายและเก็บได้นาน

บ๊วยแปรรูปเป็นผลไม้ที่มีอิทธิพลกับการบริโภคของคนญี่ปุ่นมานานกว่า 1,500 ปี ด้วยความเปรี้ยวและกรดไซยานิกภายในเมล็ดจึงไม่นิยมนำมาบริโภคแบบสด จึงมีการแปรรูปเป็น น้ำบ๊วย บ๊วยดอง แยมบ๊วยเป็นต้น ซึ่งบ๊วยดองและ เหล้าบ๊วยดอง หรือ Umeshu (อุเมะชุ) ถือได้ว่าเป็นพระเอกที่สุดในกลุ่มสินค้านี้ ในส่วนของเครื่องดื่มสุราและเหล้าบ๊วย ปี 2017 พบว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้่นถึงเกือบ 20%

โดยปัจจัยและกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของตลาด เหล้าบ๊วยดอง หรือ Umeshu (อุเมะชุ) ญี่ปุ่นคือ กลุ่มสตรีวัยทำงานและกระแสรักสุขภาพที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2004 จนเมื่อถึงจุดอิ่มตัวในประเทศจึงหาตลาดใหม่ในต่างประเทศเพื่อขยายการส่งออกเริ่มตั้งแต่ปี 2015 ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่ประกอบด้วย 

  1. การเพิ่มจำนวนของร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ ส่งผลดีต่อเครื่องดื่มดั้งเดิมที่ทานคู่กับอาหารญี่ปุ่น
  2. จากการสำรวจพบว่ากระแสนิยมและวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นอยุ่ในลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับอาหารประเทศอื่นๆ 
  3. กระแสรักสุขภาพ ที่มองว่าเหล้าบ๊วยเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ดื่มไม่เก่ง เพราะมีแอลกอฮอล์ 10-15% ทั้งรสชาติเปรี้ยวหวาน ทำให้ดื่มง่าย ช่วยให้เจริญอาหาร  

โดยความนิยม เหล้าบ๊วยดอง หรือ Umeshu (อุเมะชุ) นี้ทำให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นหลายรายหันมาปลูกบ๊วยและแปรรูปในต่างประเทศที่มีแนวโน้มตลาดที่ดี เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งและภาษีนำเข้า เช่น ในประเทศไทย จีน อเมริกา และเยอรมัน เป็นต้น ซึ่งต้องควบคุมมาตราฐานการผลิตและค้นหารสชาติที่ถูกใจผู้บริโภคที่แตกต่างกัน 

ทั้งนี้ส่วนหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมญี่ปุ่นแพร่หลายและแทรกซึมไปทั่วโลกก็มาจากสื่อภาพยนตร์ รายการทีวี และอาหาร ที่สอดรับส่งเสริมกัน โดยกฏหมายญี่ปุ่นเกี่ยวกับการควบคุมสุรา ก็ไม่ได้เข้มงวดแบบไทยสามารถซื้อและโฆษณาเหล้าเบียร์ได้ปกติ ไม่มีการเซ็นเซอร์เครื่องดื่มในสื่อต่างๆ  กลายเป็นว่ายิ่งวัฒนธรรมการดื่มเข้มแข็งและเป็นธรรมชาติมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งเสริมเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศ

คลิปจากซีรี่ย์เรื่อง Midnight Diner Tokyo Stories S1E6: Umeshu / Plum Wine

คลิปจากภาพยนตร์เรื่อง Our Little Sister (2016) 
เรื่องราวของสี่สาวพี่น้อง ที่ในซีนหนึ่งมีการดื่มเหล้าบ๊วยดอง เพื่อฉลองที่น้องสาวทำคะแนนสอบได้ดี 

ยังไม่พอแค่นั้น ความฮอตฮิต ของ อุเมะ ถูก Nestle นำไปผลิตเป็น คิทแคท รส อุเมะชุ

โดยบทความจาก Forbes ในปี 2018 แสดงให้เห็นว่า เหล้าบ๊วยดอง หรือ Umeshu (อุเมะชุ) กำลังจะกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของญี่ปุ่นในอนาคต แซงหน้า สาเก ด้วยข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจสหภาพยุโรป-ญี่ปุ่น (EPA) ได้กำหนดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสุราญี่ปุ่นเป็นศูนย์ ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายเครื่องดื่มในยุโรป ตามรายงานของสำนักงานภาษีแห่งชาติของญี่ปุ่น (NTA) ระบุว่าการส่งออกสุราซึ่งหลักๆ แล้ว umeshu มีค่อนข้างมากกว่านั้นเพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 1.84 พันล้านเยน (18 ล้านดอลลาร์) เป็น 4.21 พันล้าน (38 ล้านดอลลาร์) ระหว่างปี 2554 ถึง 2559 นอกจากนี้ NTA ระบุว่า umeshu เป็นที่นิยมอย่างมากในไต้หวัน ฮ่องกง และค่อยๆ เป็นที่นิยมในฝั่งตะวันตก ในฮ่องกง เครื่องดื่มเป็นที่นิยมมากในหมู่หญิงสาว 

ซึ่งก็หน้าแปลกใจว่าทำไมเมืองไทยมีกฏหมายที่เข้มงวดตั้งแต่การผลิตจนถึงยกเครื่องดื่มเข้าปากแต่สถิติการเกิดเหตุ เมาแล้วขับ กลับสูงกว่าประเทศที่สามารถดื่มได้ในที่สาธารณะ เช่น ญี่ปุ่น

ทิ้งท้ายเป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ เหล้าบ๊วยดอง หรือ Umeshu (อุเมะชุ)

  1. แม้คนต่างชาติจะรู้จักกันในนาม Plum Wine แต่กรรมวิธีต่างกันกับการผลิตไวน์ ที่ใช้วิธีการหมักและกลั่นออกมาเป็นเครื่องดื่ม อุเมะชูใช้เวลาในการดองประมาณ 6 เดือนถึงหนึ่งปีก่อนที่จะนำมาดื่มคู่กับอาหาร
  2. ในญี่ปุ่นการผลิตแอลกอฮอล์โฮมเมดผิดกฏหมาย ต้องขอใบอนุญาตก่อน ยกเว้น การทำ เหล้าดองบ๊วย ดื่มเองที่บ้าน แต่ก็มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเช่น ถ้าใช้ สุราที่ใช้แอลกอฮอล์เกิน 20% โดยปริมาตร และถูกเก็บภาษี
  3. เหล้าบ๊วยดอง หรือ Umeshu (อุเมะชุ) โฮมเมดที่ผลิตเองสามารถเสิร์ฟที่ร้านอาหารได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ต้อง กรอกเอกสารที่สำนักงานสรรพากรอย่างถูกต้องเสียก่อน โดยปริมาณของเหล้าที่เสิร์ฟต้องไม่เกิน 1 กิโลลิตรต่อปี 
  4. เหล้าบ๊วยดอง หรือ Umeshu (อุเมะชุ) ไม่มีวันหมดอายุ ถ้าเก็บรักษาอย่างเหมาะสม ควรเก็บให้พ้นแสงแดดจะช่วยให้สามารถอยู่ได้นานหลายปี เช่นเดียวกับไวน์หรือวิสกี้ชั้นดี บางครอบครัวดองเก็บไว้ฉลองกับลูกเมื่ออายุครบ 20 ปีตามที่กฏหมายการดื่มอนุญาต

ที่มา

1 2 3