svasdssvasds

ประภาส ทองสุข : ทุกจุดเปลี่ยนที่โหดร้าย จะทำให้เราเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ประภาส ทองสุข : ทุกจุดเปลี่ยนที่โหดร้าย จะทำให้เราเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ประภาส ทองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่มองว่าทุกจุดเปลี่ยนไม่ว่าดีหรือโหดร้าย ต่างเป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าในการเรียนรู้และเติบโต

ชีวิตของประภาส ทองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ที่พบกับจุดเปลี่ยนต่างๆ มากมาย แต่ไม่ว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ดี หรือโหดร้าย เขาก็สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ได้เรียนรู้และเข้าใจความหมายชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ

และสำหรับผู้ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเขา จะรู้สึกราวกับได้พบกับคุณครูใจดี ที่พร้อมแบ่งปันความรู้ต่างๆ อย่างเต็มที่ ในแบบฉบับที่เรียกได้ว่า “สอนแบบไม่สอน” พอรู้สึกตัวอีกที ก็เหมือนกับได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชา ที่ชื่อว่า “การใช้ชีวิตให้มีความสุข”

เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ จุดเปลี่ยนแรกของชีวิต  

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของประภาสในช่วงวัยรุ่นก็คือ การเข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะพบกับจุดเปลี่ยนอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย

“ตั้งแต่ผมเป็นเด็กมาเนี่ย มันก็มีเรื่องให้เปลี่ยนแปลงพอสมควร อาจจะเป็นเพราะว่า ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดคำว่าต่างจังหวัดเมื่อ 30 - 40 ปีก่อน มันไม่เหมือนในวันนี้ โอกาสอะไรมันก็น้อยมาก เพราะฉะนั้นผมจึงเป็นตัวแทนคนต่างจังหวัดที่ต้องมาทำงานในกรุงเทพ มาเรียนหนังสือในกรุงเทพ อันนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญมาก

“เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนการเดินทนทาง เปลี่ยนที่เรียนหนังสือ เปลี่ยนวิถีชีวิต อันนี้ผมคิดว่าก็เป็น Turning Point ที่สำคัญ จากถิ่นเกิดมาเรียนหนังสือในอีกทีหนึ่งครับ

“ผมว่าสิ่งที่ดีที่ได้จากการเรียนครุศาสตร์ คือ ครุศาสตร์คือวิชาการสอน สิ่งแรกที่สำคัญจากการเรียนครุศาสตร์ สอนให้เรารู้ว่า เรามีหน้าที่ต้องสอนคน คำว่าสอนคน คือ เราต้องพูดให้รู้เรื่อง แต่คนจะพูดรู้เรื่องได้ ก็ต้อง้ป็นผู้ฟังที่ดีมาก แล้วถึงจะนำไปถ่ายทอดต่อได้”

 บทความในคอลัมน์ Turning Point

ประภาส ทองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

“ชีวิต” เหมือนกับ “กล่องช็อกโกแลต”

หลังจบการศึกษา ประภาสก็ไม่ได้ทำงานในสายอาชีพครูตามที่ร่ำเรียนมา แต่เขาพยายามค้นหาตัวเอง ผ่านสายงานที่หลากหลาย ก่อนจะค้นพบเส้นทางที่ใช่ ได้ในที่สุด

“ชีวิตผมก็เหมือนกับที่ Forrest Gump เคยกล่าวไว้ ‘ไม่มีใครรู้หรอกว่า เราจะเปิดเจอช็อกโกแลตรสอะไร’ ก็สุ่มสี่สุ่มห้าไป จนวันหนึ่งผมได้เริ่มไปทำงานหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เพราะวิชาครูยังสามารถทำให้เราเขียนหนังสือเป็น ฟังรู้เรื่อง เราก็พอเขียนอะไรได้ ทำงานหนังสือพิมพ์ได้ไม่นาน ธนาคารกสิกรไทยก็เปิดรับสมัครงานประชาสัมพันธ์

"พอเข้าไปทำที่กสิกรไทยแล้วเนี่ย ชีวิตมันมีการปะติดปะต่อไปเรื่อย ผมทำงานประชาสัมพันธ์ไประยะหนึ่งต่อมาก็ไปเรียนปริญญาโท ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ผมเจอคนที่มาจากบริษัทโฆษณา

"ในยุคนั้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มันเท่มาก ถือกระเป๋าอาร์ตเวิร์คใบใหญ่ๆ ผมก็สนใจบริษัทโฆษณา ก็เข้าไปทำงานบริษัทโฆษณา ซึ่งนักโฆษณากับนักการตลาดมันของคู่กัน จากประชาสัมพันธ์ มาโฆษณา จากโฆษณามาการตลาด มันมีจุดเชื่อมโยงที่ ถ้ารู้เรื่องนี้แล้ว ขยับไปรู้อีกนิดได้ไหม มันก็ได้มาทำงานในสายการตลาด

"พอทำในสายการตลาด ก็คิดว่าจริงๆ ผมคงถนัดในสายการตลาดที่เน้นเรื่องสื่อสารการตลาดมากกว่า ก็เลยทำงานด้านนี้มาจนถึงทุกวันนี้น่ะครับ"

ประภาส ทองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

สิ่งที่ได้เรียนรู้ ในช่วงสถานการณ์วิกฤต

ไม่ว่าจะวางแผนชีวิตไว้ดีแค่ไหน แต่ทุกชีวิตย่อมมีช่วงที่ต้องประสบวิกฤต ประภาสได้หยิบยกสถานการณ์ช่วงลดค่าเงินบาทที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่อย่างหนัก ซึ่งในเวลานั้น การปรับตัวให้ได้ คือหนทางเดียวที่จะรอด

“แต่พอปี 1996 ปี 1997 (พ.ศ. 2539 - 2540) เกิดการลดค่าเงินบาทครั้งใหญ่ ธุรกิจนี่สลบเลย แต่ตอนนั้นผมข้ามไปทำงานบริษัทมาร์เก็ตติ้งแล้ว เราคำนวณค่าสินค้าที่ต้องนำเข้าจาก 25 บาท (ต่อเหรียญสหรัฐ) เป็น 30 บาท เป็น 33 บาท พีคสุด 1 เหรียญสหรัฐ ต่อ 52 บาท

“มันเป็นยุคที่โลกหมุนแล้วอยู่ดีๆ แล้วก็หยุด คนตกงานจำนวนมาก มีการควบรวมกิจการธนาคาร เป็นช่วงที่คนจนลงโดยไม่รู้ตัวเยอะมาก แต่โชคดีที่ผมไปอยู่ในบริษัทที่มันค่อนข้าง Healthy ก็เลยไม่ได้โดนลดเงินเดือน แต่ก็ได้เห็นและก็ได้เรียนรู้

“เวลามันเกิดสถานการณ์วิกฤต สิ่งหนึ่งที่คุณต้องเรียนรู้ก็คือว่า เวลามันเกิดสถานการณ์อะไรที่มันคับขันจริงๆ คุณต้อง Survive คุณต้องอยู่ให้ได้ ผมจำได้ ตอนนั้นบริษัทข้ามชาติที่ผมอยู่บอกว่า เขาไม่สนหรอก ค่าเงินบาทจะเท่าไหร่ คุณต้องทำธุรกิจให้ได้เท่าเดิม เพราะคุณถูกจ้างมา

“สมัยก่อนเราฟังแล้วรู้สึกว่ามันโหดร้าย แต่วันนี้พอเราย้อนกลับไปดู โห โชคดีมาก ที่เราได้เรียนรู้ เราได้เห็นและได้เข้าใจ คนทำธุรกิจเขาไม่สนหรอก คุณกินเงินเดือนเขา เป็นลูกจ้างเขา เขาไม่สนหรอก ฝนตกฟ้าร้องแดดออก เงินเดือนคือ contract เงินเดือนคือสัญญาว่าผมจ้างคุณมาทำแบบนี้

“ซึ่งบางทีผมก็เอาสิ่งนี้มาสอนคนรุ่นปัจจุบันให้รู้ว่า เมื่อเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นมา เขาไม่สนหรอก ถ้าคุณเป็นลูกจ้างมืออาชีพนะ คุณไม่ได้อยู่ในระบบราชการที่ยังไงก็มีเงินเดือน เพราะฉะนั้นคุณต้องสร้างธุรกิจ คุณถึงได้ค่าตอบแทน

“พอมองย้อนกลับไปเนี่ย ทุกวันนี้ ไม่ว่าเราจะเจอสถานการณ์อะไรก็ตาม เราจะรู้สึกขอบคุณในสถานการณ์แย่ๆ ที่เราเคยเจอมันมา มีคนเคยพูดเยอะ เวลาเราชนะ เราไม่เคยเรียนรู้หรอก แต่เราจะเรียนรู้เวลาเราแพ้ เราล้ม เราผิดพลาด

“เจ้านายผมเคยสอนว่า เวลาที่คุณจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด คือ เวลาที่คุณเจอคนเลวๆ หรือสถานการณ์ที่มันแย่ๆ มันทำให้คุณหลังชนฝา มันทำให้คุณรู้สึกไม่มีที่พึ่ง คุณรู้สึกว่าต้องต่อสู้มันด้วยตัวคุณเอง อันนี้จะเป็นประสบการณ์ ถ้าคุณไม่เจอก็โชคดีนะ แต่เมื่อคุณเจอและผ่านมันไปได้ คุณจะรู้สึกว่า คุณเข้มแข็งขึ้นเยอะมาก

“คือมันแย่ในวินาทีนั้น มันรู้สึกแย่มาก เหมือนคนอกหัก คนอกหักจะรู้สึกว่าโลกทั้งใบมันหมดแล้ว มันไม่เหลืออะไร แต่เวลาคุณผ่านมาไปแล้ว คุณย้อนมองกลับไป คุณจะรู้ว่า มันไม่ขนาดนั้นหรอก แต่วินาทีนั้นจะมืดมนมาก

“ดังนั้นถ้าใครเจออะไรก็ตาม ก็ต้องหายใจแรงๆ ให้ยังอยูได้ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Hang In there อยู่ให้ได้ก่อน เดี๋ยวเวลามันผ่านไปแล้ว ทุกอย่างจะค่อยๆ คลี่คลายด้วยตัวมันเอง”

ประภาส ทองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

ความสมดุลของชีวิต Work-life balance

ประภาสเล่าว่า ช่วงต้มยำกุ้ง ที่หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงนั้น เขาได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะอยู่ในบริษัทที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ก็ต้องทำงานอย่างหนัก ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ต่อมาเมื่อคลื่นลมสงบ เขาก็เติบโตในสายงานการสื่อสารฯ ของสถาบันการเงินต่างๆ กระทั่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารสูงสุด ด้านสื่อสารองค์กร ของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และเมื่อตำแหน่งสูงขึ้น ความรับผิดชอบ ก็ต้องสูงขึ้นตามไปด้วย สิ่งที่ตามมาก็คือ ความเครียดและปัญหาด้านสุขภาพ

“ทีนี่พอมาทำงานยุคหนึ่ง ผมต้องบอกว่ามันแย่มาก ไม่มีคำว่า Work-life balance เลย แต่มันเป็นความจำเป็น เราเป็นปลาผิดน้ำ ผมไปทำงานในบริษัทโฆษณา ใครก็รู้ว่าคนนี้จบครุศาสตร์มา เราก็โดนอะไรต่างๆ นานาเต็มไปหมด มีโจทย์ที่ต้องพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่า เราสามารถทำงานได้นะ ผมจึงต้องทำงานอย่างหนัก

“แต่ถามว่าจุดที่เปลี่ยนจริงๆ มี 2 ช่วง ช่วงที่ทำงานหนักแล้วเริ่มเจ็บป่วย และตอนที่มีลูก ผมก็เริ่มคิดว่า คนเราจะทำงานให้ดีได้อย่างไร ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง อันนี้เป็นหลักคิดง่ายๆ เลยนะ ไม่มีทางเลย ในเมื่อคุณกังวลว่าหลังคุณเป็นอะไร คุณปวดท้องเป็นโรคกระเพาะ ยังหาสาเหตุไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เลย”

“ดังนั้นถ้าไม่อยากปวดท้อง เราก็ต้องไม่เครียด แต่งานเรามันเครียด มันก็ต้องไปหาวิธีผ่อนคลาย ก็ต้องไปเดินออกกำลัง ไปวิ่ง บวกกับความชอบอยู่แล้ว ผมยังคุยกับน้องเลยว่า ทุกครั้งที่ผมไปวิ่งออกกำลังกาย ว่ายน้ำ ผมจะคิดแก้ปัญหางานได้เสมอ

“ซึ่งอันนี้เป็นเมจิกซึ่งไม่ได่เกิดกับผมคนเดียวนะ ไปถามหลายคนได้ เพราะเมื่อออกกำลังกาย ใจเราจะสงบ เราจะ Relax ขึ้น ปัญหาที่มันขมุกขมัว อยู่ดีๆ มันจะทะลุ มีหลายครั้งที่ขี่จักรยานไปแล้วต้องจอดรถเพื่อจดงานบางอย่าง ที่มันคิดออก สิ่งที่มันติดอยู่ในใจ อยู่ดีๆ มันทะลุขึ้นมาเลย

“คำว่า Work-life balance ในความคิดผมคือ ทำงานก็ให้มันจริงจัง ใช้ Quality Time หา Quality Time ให้ได้ คือใช้เวลาให้มันเหมาะสม แล้วได้คุณภาพของงานที่ดี ซึ่งอันนี้ผมก็มาเรียนรู้จากการออกกำลังกาย อย่างคนที่วิ่งเก่งๆ เพราะเขาวิ่งถูกหลัก พอวิ่งถูกหลักมันก็ใช้แรงน้อย ใช้กำลังน้อย แต่มันได้ระยะทางมากขึ้น และมันก็เกิดความสนุกด้วย"

ประภาส ทองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

ความสำเร็จในมุมมองของประภาส

และทั้งหมดนี้ ก็คือกล่องช็อกโกแลตของประภาส ทองสุข ที่ไม่สำคัญว่าที่ผ่านมา ชีวิตจะตกอยู่ในสถานการณ์ใด พ่ายแพ้ ชนะ ล้มเหลว หรือประสบความสำเร็จ แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า เราได้เรียนรู้จากสถานการณ์ต่างๆ เหล่านั้น มากน้อยเพียงใด โดยประภาสได้ทิ้งท้ายถึงความสำเร็จในมุมมองของเขา ได้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้

“สำเร็จจริงๆ มันอยู่ที่ความพอใจของแต่ละคน คนบางคนใหญ่โตมโหฬาร มากแค่ไหน ก็ยังไม่พอใจ ก็เรียกว่าตัวเองยังไม่สำเร็จ ผมไม่ค่อยรู้สึกว่าตัวเองสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ แต่ผมรู้สึกพอใจในตัวเองระดับหนึ่ง

“ถ้าเทียบจากวันที่ผมนั่งรถไฟหิ้วชะลอมมาจากต่างจังหวัด มาจนถึงวันนี้ เราก็ไม่ได้ร่ำรวยมโหฬาร คือเรามาไกลจากจุดที่เราอยู่พอสมควร ระดับหนึ่ง ซึ่งเราพอใจ ถ้าคุณรู้สึกว่า สิ่งที่คุณเป็นอยู่ แล้วคุณพอใจกับมัน คำว่าพอใจ ไม่ใช่ขี้เกียจ พอแล้วแค่นี้ ไม่ใช่ในแง่นั้น แต่เป็นความพอใจที่มันเป็นจริง คือคุณได้ทำมันอย่างเต็มที่แล้ว

“ตอนเด็กๆ ผมเคยเป็นนักวิ่ง ผมเคยวิ่งแล้วแพ้ ก่อนไปวิ่งครูบอกว่า เวลาเธอวิ่ง ไม่มีใครรู้ว่า เธอวิ่งเต็มที่หรือเปล่า มีเธอคนเดียวเท่านั้นที่รู้ตัวเองว่าวิ่งเต็มที่

“วันนั้นผมแพ้ แล้วผมรู้ว่าผมวิ่งไม่เต็มที่ ต่อให้ใครบอกว่าผมวิ่งดีมาก แต่คนอื่นวิ่งเก่งกว่า แต่วันนั้นผมรู้เลยว่า ผมวิ่งไม่เต็มที่ จะด้วยความประมาท ซ้อมมาไม่ดี อะไรก็ตาม ผมวิ่งไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นคำว่าพอใจ คุณต้องไม่โกหกตัวเอง ถ้าคุณโกหกตัวเองว่า คุณพอใจแล้ว เลือกที่จะขี้เกียจ แล้วก็อยู่กับที่ อันแปลว่าคุณโกหกตัวเอง

“ทุกครั้งที่คุณถามตัวเองว่า คุณทำเต็มที่แล้วยัง แล้วตอบตัวเองได้ว่า ให้กลับมาเกิดใหม่ก็ทำได้ดีที่สุดเท่านี้แหละ แล้วพอใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็น ก็โอเคแล้วครับ”

ประภาส ทองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

ประภาส ทองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

related