svasdssvasds

จากจ้างวานข้า ต่อยอดสู่ ชรารีไซเคิล กับปัญหาคนไร้บ้านในยุคสังคมผู้สูงอายุ

จากจ้างวานข้า ต่อยอดสู่ ชรารีไซเคิล กับปัญหาคนไร้บ้านในยุคสังคมผู้สูงอายุ

ชรารีไซเคิล โครงการต่อยอดการแก้ปัญหาคนไร้บ้านและคนจนเมืองจาก จุดเริ่มต้นด้วย จ้างวานข้า นำมาสู่การป้อนงานให้ผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานแต่เรี่ยวแรงไม่อำนวย การคัดแยกขยะรีไซเคิล จึงเป็นหนึ่งในคำตอบที่จะช่วยประคองสังคมผู้สูงอายุในเมืองรู้สึกถึงคุณค่า-มีรายได้

ถ้าใครได้ติดตามไลฟ์ของผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็จะได้เปิดโลกเบื้องหลังโครงการต่างๆ ของมูลนิธิกระจกเงาที่พยายามอุดช่องโหว่ด้านความเหลื่อมล้ำให้แก่คนในสังคมในส่วนต่างๆ ทั้งในด้านการส่งเสริมอุปกรณ์การศึกษาให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลน และโครงการที่เกี่ยวกับคนไร้บ้าน คนจนเมือง ที่มองทะลุจากเพียงการมอบความช่วยเหลือเป็นครั้งคราว แต่ต้องการสร้างงาน สร้างรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับตัวเองและครอบครัว ที่ส่งผลต่อจิตใจในเรื่องของการสร้างคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สามารถรับผิดชอบดูแลตัวเองด้วยการ ทำงาน ทำงาน ทำงาน

บรรยากาศในวันที่ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติไปเยือนมูลนิธิกระจกเงา และได้มีกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ร่วมกับทีมจ้างวานข้า ภาพจากเพจมูลนิธิกระจกเงา
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทาง Spring News ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณเอ๋ สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการจ้างวานข้า ของมูลนิธิกระจกเงา ถึงที่มาและอนาคต ของโครงการจากบทเรียนได้ที่รับตลอดสองปี (ในเดือนกรกฎาคม) ที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ทิศทางและความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนผลักดันการแก้ปัญหาคนไร้บ้านและคนจนเมืองให้เกิดเป็นรูปธรรม  

 

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นวันแรกที่เริ่มโครงการจ้างวานข้า
โครงการจ้างวานข้านี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เรื่องของการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้านดีขึ้น จนถึงการเปลี่ยนผ่านคุณภาพชีวิต ปรับเปลี่ยนจากคนไร้บ้านเป็นคนมีบ้านมีที่อยู่ที่มั่นคงขึ้น โดยเริ่มต้นหลังจากโควิดระลอกแรกช่วงต้นปี 2563 จากการคาดคะเนด้วยสายสังเกตได้ว่าจำนวนของคนไร้บ้านมีจำนวนมากขึ้น มองเห็นปัญหาจำนวนคนไร้บ้านและคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านที่ออกมาเป็นคนไร้บ้านใหม่ 

 

เป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ทางมูลนิธิฯ อยากเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ จึงหาเครื่องมือที่จะเข้ามาใช้แก้ปัญหาเพื่อเป็นวิธีที่จะช่วยคนที่ออกมาไร้บ้านกลับบ้านได้เร็วที่สุด จึงเกิดความคิดว่า การสร้างงานน่าจะเป็นเครื่องที่ดีและเหมาะสมที่จะทำให้พวกเขามีรายได้ ทำให้พวกเขาสามารถกลับเข้าไปสู่บ้านได้ง่ายและเร็วขึ้น 

 

 

ทางมูลนิธิกระจกเงาหาสมาชิกเข้าโครงการด้วยวิธีไหน
ก็ใช้การประชาสัมพันธ์ข่าวสารการรับสมัคร ด้วยวิธีที่คนไร้บ้านใช้ในการกระจายข่าวสาร ทำการลงพื้นที่ในจุดที่มีคนไร้บ้านชุมนุมรวมตัวกันเยอะๆ ในช่วงแรกที่เริ่มต้นคือจุดแจกข้าวฟรีสภาสังคมสงเคราะห์บริเวณแยกตึกชัย ลงพื้นที่ประกาศข่าวโครงการเพื่อให้คนไร้บ้านทำการกระจายข้อมูลปากต่อปากกัน สำหรับคนที่กำลังหางานให้มาลงทะเบียนกับทางมูลนิธิฯ 

การลงพื้นที่รับสมัครสมาชิกเข้าร่วมโครงการจ้างวานข้า ภาพจากมูลนิธิกระจกเงา

จากวันแรกจนถึงวันนี้มีสมาชิกอยู่กี่คนที่ดูแลอยู่
ปัจจุบันมีอยู่ที่ประมาณ 120 คน จะมีลดเพิ่มอยู่บ้างตามแต่ละช่วง สำหรับคนที่สะสมทุนได้จำนวนนึง แล้วอยากออกไปทำงานอื่นก็สามารถไปเริ่มต้นชีวิตของตัวเองได้ สำหรับงานที่มูลนิธิฯ มีให้ทำจะเป็นงานในส่วนของการทำความสะอาดเป็นหลักโดยจะมีอยู่สองรูปแบบคือ แบบแรกเป็นโครงการจ้างวานข้า ที่ทำงานร่วมกับสำนักงานเขตในกทม.ร่วมกับฝ่ายรักษาความสะอาด ทำงานกับพนักงานกวาดถนน ช่วยเสริมในส่วนของในบริเวณที่มีพื้นที่กว้างและไม่สามารถทำความสะอาดได้ทั่วถึง 
จ้างวานข้าจึงเข้าไปเป็นกำลังสำรองเพิ่มเติมในจุดนี้ เช่น เก็บกวาดพื้นที่สาธารณะที่รกร้าง 

 

ส่วนอีกรูปแบบที่สองจะเป็นการทำความสะอาดในบ้าน ซึ่งก็คือโครงการ ชรารีไซเคิล ที่เป็นส่วนต่อยอด จะทำการคัดแยกขยะ พลาสติกเพื่อนำมาสู่กระบวนการรีไซเคิล


 
ช่วยเล่าถึงโครงการ ชรารีไซเคิล ที่เพิ่มเข้ามาให้คนรู้จัก

โครงการ ชรารีไซเคิล ที่มาใจสโลแกน “เก็บไม่เร็ว เก็บไม่เร้าใจ แต่ไปเก็บขยะแน่ๆ” ที่เข้าร่วมแยกขยะในงาน กรุงเทพกลางแปลงเมื่อ 21 ก.ค. จัดขึ้นที่ตลาดบางแคภิรมย์


จากแนวคิดที่ต้องการจัดการกับปัญหาขยะ เพื่อนำไปรีไซเคิล อย่างเป็นระบบ และในส่วนของแนวคิด ซึ่งสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับกลุ่มคนไร้บ้านและคนจนเมืองได้ด้วย เป็นการตอบโจทย์ปัญหาที่มีอยู่ได้ทั้งเรื่องของคนและขยะ จึงเริ่มต้นเป็นโปรเจค ชรารีไซเคิล ที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่มีเงื่อนไขเฉพาะตัว ในเรื่องการทำงาน 

 

เช่น จากงานทำความสะอาดจ้างวานข้าปกติที่ต้องเดิน ต้องใช้แรง ซึ่งสำหรับผู้สูงอายุอาจทำให้การเดินเหินไม่คล่องตัวนัก หรือการที่ต้องทำงานท่ามกลางแดดร้อนต่อเนื่องกันนานๆ ก็อาจจะเป็นอุปสรรคแก่พวกเขา จึงคิดว่าการคัดแยกขยะจะเป็นรูปแบบที่เหมาะกับผู้สูงอายุมากกว่า เพราะไม่ต้องใช้แรงหรือเดินเยอะเท่ากับงานในจ้างวานข้า เพราะสามารถจัดจุดคัดแยกไว้ในที่ร่ม ทำให้ผู้สูงอายุที่มีเงื่อนไขในการทำงาน เช่น ทำงานหนัก กลางแดด ไม่ได้ก็ยังสามารถหารายได้ เพื่อที่จะดูแลตัวเองได้อยู่ 

 

เป็นการอุดช่องโหว่ที่โครงการจ้างวานข้าเจออยู่กับการทำงานร่วมกับคนไร้บ้านที่มีอายุเยอะ ทั้งยังเป็นการเริ่มต้นโครงการนวัตกรรมการจัดการขยะไปได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังเพิ่มพื้นที่รองรับการทำงานสำหรับคนไร้บ้านผู้สูงอายุที่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพในอีกทาง ซึ่งจะเน้นกลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุและผู้พิการที่ไม่สามารถทำงานในที่สาธารณะได้ โครงการนี้ก็ช่วยทำให้พวกเขาสร้างกลับเข้าระบบการจ้างงานได้มากขึ้น 

 

อบรมให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะรีไซเคิลให้แก่ผู้สูงอายุยังไงบ้าง
โชคดีที่บางส่วนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะก่อนมาแล้ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนจนเมือง เนื่องจากการหารายได้ช่องทางหนึ่งของพวกเขาก็คือการเก็บขยะคัดแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลขายกันอยู่แล้ว ก็จะทำให้รู้ว่าต้องเก็บอะไร เก็บแบบไหนถึงจะขายได้ราคาดี 

 

ขยะที่มีมูลค่าได้ราคาดีในการนำไปรีไซเคิลก็คือขวดน้ำพลาสติกใส เบื้องต้นต้องแยกประเภทของพลาสติกที่เป็นส่วนประกอบออกก่อน เช่น ตัวขวด ตัวสลาก ตัวฝาจะแยกประเภทกัน เพราะเป็นคนละชนิดกัน 

 

มีการจัดเรื่องการให้การรายได้กันอย่างไรในโครงการ
ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับรายได้ ค่าจ้างเป็นวันเท่ากันทุกคน คนละ 500 บาท ทำงานไม่เกิน 6 ชม. จะเห็นว่าเป็นอัตราค่าจ้างที่มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ โดยที่จ่ายด้วยเรตราคานี้ก็มาจากข้อเท็จจริงจากข้อมูลที่ได้รับมาเงินห้าร้อยบาทที่คนไร้บ้านได้รับนอกจากเพื่อการดูแลตัวเองแล้ว ผู้สูงอายุหรือคนจนเมืองอีกหลายคนก็มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลค่าใช้จ่ายให้กับคนอื่นๆ ในครอบครัวด้วย ทั้งยังมองไปถึงการทำให้พวกเขาสามารถมีเงินเก็บออมได้อีก ห้าร้อยบาทนี้จึงสามารถซัพพอร์ตความต้องการได้อย่างครอบคลุมทั้งสามเรื่อง 

 

ทางโครงการไม่มองเพียงอยากพวกเขาให้มีรายได้อยู่วันต่อวัน แต่ต้องมีรายได้ที่สามารถทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งครอบครัวด้วย 

ลุงแฟรงค์ (นามแฝง) ทีมงานจ้างวานข้า วัย 67 ปี ที่เคยต้องไร้บ้านมานานกว่า 3 ปี ตอนนี้สามารถสะสมเงินจากการทำงาน เพื่อซื้อลำโพงที่อยากได้ด้วยตัวเอง ภาพจากมูลนิธิกระจกเงา

ความประทับใจสองปีที่ผ่านกับโครงการจ้างวานข้า 
ทำให้เชื่อมั่นในแนวทางที่โครงการนี้ตั้งขึ้นมา เชื่อได้ว่ากำลังเดินไปในทิศทางที่ตอบโจทย์ปัญหาคนจนเมืองและคนไร้บ้านได้ถูกต้อง มาถูกทางแล้ว  


 
สำหรับปัญหาที่พบเจอระหว่างการทำงานที่ผ่านมาที่กำลังหาทางแก้ไข
สัดส่วนของคนไร้บ้านปัจจุบันจำนวนมากที่สุด 70-80% คือผู้สูงวัย ทำให้พอเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับคนไร้บ้านจึงมีผู้สูงอายุมากกว่า ทางโครงการเองก็พยายามเปิดกว้างโดยรับการตั้งเงื่อนไขในการเข้าร่วมให้น้อยที่สุด เนื่องจากปัญหาคนไร้บ้านและคนจนเมือง ที่ไม่สามารถมีรายได้และมีงานทำได้อย่างต่อเนื่องส่วนหนึ่งก็มาจาก ก่อนหน้านี้เมื่อตอนที่พวกเขาอยู่ในระบบงานปกติก็จะประสบกับเงื่อนไขที่งานปกติสร้างขึ้นก็เลยทำให้พวกเขาติดปัญหาทำให้ไม่สามารถเข้าถึง สมัครงานได้ตามปกติได้

 

โจทย์ต่อไปที่ต้องใคร่ครวญคือเนื่องกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มาร่วมโครงการจ้างวานข้าคือกลุ่มผู้สูงอายุ ในวันนึงที่มีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถทำงานต่อได้แล้ว ทางโครงการจะจัดการต่อยังไงกับกลุ่มคนเหล่านี้หลังจากนี้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีรัฐสวัสดิการที่มอบให้เพียงพอ ที่สามารถซัพพอร์ตให้พวกเขายังสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้จากเงินของรัฐที่จะมอบให้ในแต่ละเดือน (ที่ควรมีอย่างน้อยห้าหกพันบาทต่อเดือน) ที่จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ 

 

แต่บ้านเรายังไม่มี ซึ่งถ้าคนกลุ่มนี้ที่กำลังทำงานกับโครงการชรารีไซเคิลมีอายุมากขึ้นๆ และหารายได้จากแหน่งอื่นๆ มาดูแลตัวเองได้แล้ว ทางโครงการจะจัดการกับปัญหานี้ยังไงต่อไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทางมูลนิธิกระจกเงากับกำลังต้องเผชิญต่อไป 
เช่น กลุ่มชรารีไซเคิลที่มีอายุแปดสิบปี แล้วทำงานได้ลำบากขึ้น เนื่องด้วยสุขภาพร่างกายถดถอย มูลนิธิฯ จะหาแนวทางอื่นเพื่อมารองรับคนกลุ่มนี้ต่อยังไง 

 

สุดท้ายนี้มองอนาคตและความคาดหวังต่อไปของโครงการเป็นไปอย่างไร
อยากเห็นการเติบโตของทั้งสองโครงการในระดับกว้างขึ้นใหญ่ขึ้น ขยับขยายหาพื้นที่ ที่สามารถรองรับและดูแลผู้เข้าร่วมโครงการได้ในจำนวนที่มากขึ้นและโครงการในอนาคตเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำงานต่อได้ 

 

ทั้งนี้ข้อมูลจากมูลนิธิอิสรชน พบว่าในปี 2563 มีจำนวนคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 4,432 คน แบ่งเป็นผู้หญิง 2,623 คน และชาย 1,855 คน โดยในปี 2565 ที่หลายๆ ประเทศต้องเจอทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 
ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ก็อาจจะยิ่งเป็นแรงผลักให้มีคนออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุที่ต้องการโอกาสและการช่วยเหลือภายใต้เงื่อนไขที่มากกว่าคนทั่วไป ก็น่าเป็นห่วงว่ากทม.และหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเข้าจัดระบบดูแลต่อไปให้ยังไงเกิดความยั่งยืนและทำให้กลุ่มคนไร้บ้านและคนจนเมืองได้มีปัจจัยพื้นฐานเพื่อดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

 

สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

related