svasdssvasds

รณรงค์สิทธิเด็ก นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ของใคร ที่นำไปเผยแพร่โดยไม่ยินยอม

รณรงค์สิทธิเด็ก นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ของใคร ที่นำไปเผยแพร่โดยไม่ยินยอม

แคมเปญ #นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ ของหมอโอ๋ จากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน จี้กระทรวงศึกษาฯ วางนโยบายที่เป็นรูปธรรม บุคลากรและครูในโรงเรียนต้องให้เคารพสิทธิส่วนบุคคลและความปลอดภัยของเด็กต้องมาก่อนยอดวิว

จากคลิปไวรัลเด็กนักเรียนในสื่อโซเชียลมีเดียในช่วงที่ผ่านมา ที่มีเนื้อหาที่อาจสร้างปมในใจให้เด็กในวันที่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเมื่อเผยแพร่ลงโลกออนไลน์ไปแล้วนั้นก็จากที่จะติดตามและรู้ได้ว่าไปถึงมือใครบ้างซึ่งคอนเทนต์ต่างๆ เหล่านั้นมาจากคุณครูในโรงเรียนที่บันทึกและโพสต์ในช่องทางออนไลน์ของตัวเอง โดยไม่ว่าจะเต็มใจยินยอมหรือไม่ ถ้าดูกันตามหลักสิทธิเด็กที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกันในทางปฏิบัติ

จนเกิดเป็นแคมเปญของหมอโอ๋ จากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน หรือ อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ที่เปิดรับรายชื่อในการ รณรงค์ผ่าน Change.org หัวข้อ กระทรวงศึกษาต้องปกป้อง #นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ #TikTok เพื่อเรียกร้องไปที่กระทรวงศึกษาธิการ ให้ออกกฎคุ้มครองสิทธิเด็ก ไม่ให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษาใช้เด็กมาผลิตคอนเทนต์ โดยเฉพาะในกรณีที่ทำให้เด็กเกิดความอับอาย หรือในรูปแบบอื่นๆ ที่ละเมิดสิทธิของเด็กเอง โดยทางกระทรวงฯ ควรมีหน้าที่สร้างความเข้าใจ และออกกฎ กติกา เพื่อทำให้ไม่เกิดการเลียนแบบกันอยู่ซ้ำๆ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขอสังคมช่วยกันส่งเสียงและร่วมประกาศจุดยืนว่า Social bullying และการละเมิดสิทธิเด็กในโรงเรียนที่เกิดขึ้นโดยคุณครู เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เรื่องนี้จะได้เป็นแนวทางที่สังคมจะได้เรียนรู้กันต่อไป รวมถึงเด็กและผู้ปกครองจะได้มีแนวทางในการดูแลสิทธิของตัวเองได้อย่างไร…

โดยยอดรวมรายชื่อล่าสุด (ณ เวลา 16.33) อยู่ที่ 2005 คน 

รณรงค์สิทธิเด็ก นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ของใคร ที่นำไปเผยแพร่โดยไม่ยินยอม

 

สำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงและผลักดันในประเด็นนี้สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ ลิงค์ Change.org

จากข้อมูลที่ทาง Spring News ได้ติดต่อ คุณปรารถนา หนึ่งในผู้ดูแลเฟซบุ๊ก ChildSafe Thailand ที่เป็นองค์กรขับเคลื่อนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กที่มีกระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนำข้อมูล ภาพ หรือคลิปของนักเรียนลงในสื่อโซเชียลมีเดียของครูไว้ว่า 

สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ข้อมูลของเด็กนักเรียนที่จะลงเป็นรูปแบบไหนและได้มีการขอ อนุญาตนักเรียนและผู้ปกครองก่อนที่จะนำรูปหรือ วิดีโอไปลงสื่อแล้วหรือยัง แต่ที่สำคัญที่ไม่ควรเผยแพร่ลงช่องทางไหนๆ เลยคือ ภาพที่ไม่ทำให้เด็กรู้สึกอับอาย /ไม่ระบุตัวตนชื่อ ที่อยู่ หมายเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างที่คนอื่นมาสามารถสืบไปถึงตัวเด็ก รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของเด็กที่ไม่เหมาะสม ซึ่งบางกรณีผู้ปกครองกับเด็กก็ไม่ต้องการเปิดเผยโดยไม่ได้รับการยินยอม 

ทั้งนี้ในกรณีโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยที่จะมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนที่เรียกว่า Child Safeguarding Policy เป็นนโยบายคุ้มครองเด็กซึ่งจะบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่ ครู ทุกคนในโรงเรียน ในการปฏิบัติตนให้เหมาะสม ซึ่งงรวมถึงเรื่องของการเผยแพร่ภาพถ่าย เรื่องราวและข้อมูลต่าง ๆ ของนักเรียน โดยโรงเรียนรัฐบางโรงเรียนเริ่มนำร่องไปปรับใช้กันบ้างแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีจรรยาบรรณวิชาชีพครูกำกับอยู่แต่เนื่องด้วยไม่ได้ระบุการกระทำโดยละเอียดหรือแนวแนวปฏิบัติที่ชัดเจนที่ยังไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนไปของยุคสมัยให้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยี จึงทำให้เกิดการเผยแพร่เรื่องราว รูป คลิปต่างๆ ลงในสื่อโซเชียล ซึ่งเป็นดาบสองคมทั้งกับเด็ก ครูและโรงเรียนเอง

ป้ายที่ติดภายในโรงเรียนนานาชาติที่เป็นการย้ำเตือนทุกคนในบริเวณโรงเรียนในเรื่องการถ่ายภาพ

ข้อมูลจากคุณครูโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยที่ทางทีม Spring ได้มีโอกาสพูดคุยในเรื่องนโยบาย Child Safeguarding Policy เพิ่มเติมมีแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและใช้กันเป็นมาตรฐาน ซึ่งก่อนที่จะเปิดภาคเรียนการศึกษาจะมีการอบรมคุณครูและบุคคลากรที่ทำงานในโรงเรียนถึงแนวทางนี้ร่วมกัน ถึงรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรกับเด็ก ทำแบบไหนได้บ้าง และสัมผัสเด็กแบบไหนได้หรือไม่ได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กมาเป็นอันดับแรก ซึ่งจะเป็นการให้ความรู้ทั้งสองทางแก่ครูและเด็กนักเรียนให้เรียนรู้ถึงสิทธิของตัวเองกันอย่างจริงจังรู้จักเส้นแบ่งความเป็นส่วนตัวของร่างกายที่ต้องสงวนไม่ให้ผู้อื่นข้ามเข้ามา จะเป็นการเคารพสิทธิของกันและกันของทั้งสองฝ่าย 

ทั้งนี้ยังเชิญผู้เชี่ยวชาญที่เป็นถึงอดีต FBI มาให้ความรู้และวิธีการรับมือกับสถานการณ์ความรุนแรงภายในครอบครัวที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก โดยจะต้องเชื่อคำพูดที่เด็กเล่ามาและรวบรวมนำข้อมูลไปส่งต่อคำที่ปรึกษาที่เสมือนเป็นนักจิตวิทยาเด็กประจำโรงเรียนเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป 

ในส่วนของการนำข้อมูลของเด็กนักเรียนไปใช้ ทางโรงเรียนจะให้ผู้ปกครองกรอกแบบฟอร์มเพื่อขออนุญาตในการนำรูปเด็กๆ ไปใช้บนสื่อโซเชียลหรือเว็บไซต์  เป็นการยืนยันความยินยอมของผู้ปกครองก่อนเริ่มปีการศึกษาทุกครั้ง ซึ่งการถ่ายรูปภายในโรงเรียนนานาชาติจะมีป้ายย้ำเตือนและให้ระวังแปะไว้ทั่วบริเวณโรงเรียน ทุกครั้งที่จะถ่ายภาพต้องมีเจตนาที่เหมาะสมเท่านั้น เช่น เด็กถูมือถี่ๆ บ่อยๆ กว่าปกติ หรือดึงผมตัวเอง จะถ่ายเพื่อเป็นการนำไปให้นักจิตวิทยาปรับพฤติกรรม และจะต้องระมัดระวังไม่ให้เด็กคนอื่นๆ สังเกตเห็นเพื่อไม่ทำให้ตัวเด็กรู้สึกเป็นที่จับตามองจากครูและเพื่อนๆ ซึ่งเมื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวเสร็จแล้วก็จะทำการลบทิ้ง 

โดยถ้ามีครูคนไหนในโรงเรียนยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูป ทุกคนก็จะเชื่อใจกันและกันได้ว่าเจตนาในการถ่ายครั้งเป็นเพื่อจุดประสงค์สำหรับประโยชน์ของเด็ก และไม่มีการจับผิดซึ่งกันและกัน เพราะทุกคนได้ผ่านการอบรมมาในชุดข้อมูลที่เป็นรับรู้ทั่วกันแล้วและเป็นระบบการไว้วางใจโดยมีพื้นฐานที่จะไม่ละเมิดสิทธิเด็ก

related