svasdssvasds

ศิลปินที่ถูกธุรกิจดนตรีรุมทำลาย: DJ Avicii และ Amy Winehouse

ศิลปินที่ถูกธุรกิจดนตรีรุมทำลาย:  DJ Avicii และ Amy Winehouse

การเป็นบุคคลธรรมดา คือพื้นที่สุดท้ายของศิลปิน จากเหตุการณ์น่าสลดใจที่ Amy Winehouse ถูกผลักไสให้ขึ้นเวทีทั้งที่สภาพไม่พร้อม เหมือนกับ DJ Avicii ที่ถูกธุรกิจดนตรียึดเวลาพักผ่อนไปหมดสิ้น นี่คือ 2 ตัวอย่างของศิลปินที่ถูกความโด่งดังทำร้ายและถูกบันทึกไว้ในรูปแบบภาพยนตร์

ศิลปินที่ถูกธุรกิจดนตรีรุมทำลาย:  DJ Avicii และ Amy Winehouse “ผมเคยพูดว่าผมกำลังจะตาย ผมพูดมาหลายครั้งแล้ว และผมไม่อยากได้ยินว่า ผมควรทำตามคำขอที่ให้ผมไปขึ้นอีกโชว์ และผมรู้ว่า Arash (ผู้จัดการ) ก็รู้เรื่องนี้ดี ซึ่งมันทำให้ผมเจ็บปวดมากขึ้นที่เขาเป็นคนพูดเอง (ว่าให้ผมไปขึ้นโชว์อีก) เวลาเขาเห็นสมควร”

DJ Avicii ศิลปิน EDM ชั้นแนวหน้าเจ้าของเพลงฮิตอย่าง “Level” “Wake Me Up” ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยวัยเพียง 28 ปี  เมื่อเมษายน 2018 ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงความตายที่กำลังคืบคลานมาหาตัวเองในภาพยนตร์ชีวประวัติ “Avicii: True Stories” ออกอากาศเมื่อปี 2017 ที่ถ่ายทอดชีวิตเบื้องหลังการทำงานอย่างบ้าคลั่ง จนเป็นเหตุให้เขาตัดสินใจประกาศอำลาวงการเพลงในปี 2016 เนื่องด้วยสุขภาพทรุดโทรมอย่างต่อเนื่อง

https://www.youtube.com/watch?v=1ZFK3VKzQIs

“ร้องเพลงซะที!”

เสียงของคนดูโห่ร้องก้องดังกว่าเสียงดนตรี เมื่อ Amy Winehouse นักร้องสาวแนว Jazz เจ้าของเพลงดัง “Rehab” ถูกคนรอบตัวกดดันให้ทำการแสดงครั้งแล้วครั้งเล่าโดยต่างรู้ดีว่าเธอมีปัญหาสารเสพติด จำเป็นต้องได้รับการบำบััด กระทั่งในคืนเปิดการแสดงทัวร์ที่ เมืองเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย เธอมึนเมาอย่างหนัก หมดเวลาไปกับการเดินไปมาบนเวที บ่นพึมพำออกไมค์แทนการร้องเพลง นั่นเป็นการแสดงครั้งสุดท้าย ก่อนเธอจะเสียชีวิตลงในเดือนถัดมาเมื่อปี 2011 ด้วยวัย 27 ปี จากแอกอฮอล์เป็นพิษ และเบื้องหลังอันน่าเศร้า ถูกบันทึกและเผยแพร่เมื่อปี 2015 ใน “Amy” ภาพยนตร์ชีวประวัติของ Amy Winehouse

 

ศิลปินที่ถูกธุรกิจดนตรีรุมทำลาย:  DJ Avicii และ Amy Winehouse

Photo Credit: Daily Beast

 

https://www.youtube.com/watch?v=_2yCIwmNuLE

แม้ทั้งคู่จะมีจุดจบที่ไม่เหมือนกัน แต่ทั้งคู่ก็ได้ร่วมประสบการณ์อันโหดร้ายของเส้นทางศิลปินที่มีธุรกิจเป็นตัวกำหนดโชคชะตา

ชื่อเสียง เงินทอง ความหรูหราเบื้องหน้า มาพร้อมกับตารางงานทัวร์มหาภัยที่คอยบั่นทอนสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส รวมทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตที่ละเลยความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์: ช่วงเวลาการนอนการกิน ต้องแยกห่างจากครอบครัวและมิตรสหาย ขาดความเป็นส่วนตัว แวดล้อมด้วยเหล้ายาปลาปิ้งมากมาย และแรงกดดันที่ต้องทำการแสดงต่อหน้าคนหมู่มาก เป็นหายนะที่ผสมผสานกันในทุกๆ ด้าน

หน่วยงานช่วยเหลือนักดนตรีสหราชอาณาจักรเพื่อการกุศล หรือ Help Musician UK ได้เผยรายงานผลการวิจัยในปี 2016 พบว่า 69% จากการสำรวจนักดนตรี 2,211 คนประสบกับภาวะซึมเศร้า ในขณะที่ 71% มีอาการตื่นตระหนกและความวิตกกังวลในระดับสูง ซึ่งคนทำงานในแวดวงดนตรีมีโอกาสเจอกับภาวะซึมเศร้ามากกว่าสาธารณะชนคนทั่วไปถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

นี่เป็นกรณีตัวอย่างศิลปินที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจดนตรี หรือถึงคราวที่วงการเพลงต้องหันมาใส่ใจและหาทางออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเช่นนี้อีก....

ขอขอบคุณ: Junkee

Independent

Help Musician UK

related