svasdssvasds

ส่องที่สุดของ มาตรการเยียวยา โควิด 19 ในต่างประเทศ

ส่องที่สุดของ มาตรการเยียวยา โควิด 19 ในต่างประเทศ

มาตรการเยียวยา เป็นสิ่งที่ทั่วโลกหวังว่าจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจาก โควิด 19 แต่ละประเทศมีวิธีที่แตกต่างกันไป และมีความเป็นที่สุดในด้านแตกต่างกัน

มาตรการเยียวยา

มาตรการเยียวยา เพื่อรับมือโควิด 19 เป็นความหวังของภาคเอกชนและประชาชนทั่วโลก ว่ารัฐบาลประเทศตนเองจะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบหรือแรงกระแทกที่เกิดจากการระบาดของโควิด 19 แต่ละประเทศมีการออกกลยุทธและมาตรการที่แตกต่างกันตามที่รัฐบาลนั้นๆ เห็นสมควร และนี่คือที่สุดของมาตรการเยียวยาในด้านต่างๆ

เตรียมงบประมาณใช้จ่าย

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลอมเบียในสหรัฐฯ ศาสตราจารย์ เคย์ฮัน เอลจิน ได้ติดตามรวบรวมมาตรการรับมือของ 166 ประเทศทั่วโลก และจากการคำนวณ พบว่าประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศที่มีแผนเชิงรุกมากที่สุด

ญี่ปุ่นเตรียมงบประมาณถึงราว 20 เปอร์เซ็นต์ของขนาดเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ จัดสรรไว้ที่ราว 14 เปอร์เซ็นต์ ออสเตรเลียเตรียมไว้ 11 เปอร์เซ็นต์ แคนาดา 8.4 เปอร์เซ็นต์ และสหราชอาณาจักรตั้งไว้ที่ 5 เปอร์เซ็นต์

แต่ถ้าดูมาตรการที่นอกเหนือจากการจัดสรรงบประมาณ อย่างเช่นมาตรการจากธนาคารกลาง อันดับที่ว่าอาจดูแตกต่างไป อย่าง ประเทศใหญ่ๆ ในยุโรป ที่ประกาศการันตีปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์  หรือ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ออกมาตรการให้กู้ยืมเพื่ออุ้มภาคธุรกิจ

ดังนั้น ถ้าดูจากมาตรการทางการเงินด้วยแล้ว ฝรั่งเศสกลับเป็นประเทศที่ทุ่มมากที่สุด

เอลจิน กล่าวว่า แผนรับมือใหญ่ๆ เกิดในประเทศที่ร่ำรวยกว่า อายุมากกว่า และมีเตียงสำหรับผู้ป่วยน้อยกว่า อย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่อยู่ในฐานะที่จะใช้จ่ายได้ดีกว่า  แต่อย่างไรก็ตาม “ขนาด” ไม่ใช่ปัจจัยเท่ากับความมีประสิทธิภาพ

มาตรการเยียวยาโดยตรงต่อภาคธุรกิจเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว และแม้ว่าจะดูเป็นมาตรการที่สำคัญ แต่ก็เป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะบริษัทส่วนใหญ่จะสามารถใช้หนี้ได้ตามแผนอยู่แล้ว

ในขณะที่ประเทศที่ยากจนกว่า แม้จะเตรียมแผนไว้ แต่ก็ต้องกู้ยืมเงินจากองค์กรนานาชาติ และแม้แต่รับบริจาคเพื่อดำเนินการ

เงินสดตรงสู่ประชาชน

การให้เงินสดเพื่อเยียวยาภาคประชาชนเป็นมาตรการที่ประเทศส่วนใหญ่มีเหมือนกัน โดยเป็นการให้เงินช่วยเหลือกลุ่มแรงงานนอกระบบฐานะยากจน ที่ไม่สามารถรับความช่วยเหลือผ่านโครงการทางการอื่นๆ หรือเป็นมาตรการที่เจาะจงช่วยเหลืออาชีพที่ถูกกระทบ

ตัวอย่างเช่นแคนาดา ที่ให้เงินช่วยเหลือคนที่สูญเสียรายได้จากโควิด 19 เป็นเวลา 4 เดือน เดือนละ 1,400 ดอลลาร์

ขณะที่สหรัฐฯและบางประเทศในเอเชียที่มีแผนส่งเงินสดให้ประชาชนที่ครอบคลุมมากยิ่งกว่า ในสหรัฐฯ คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 99,000 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งมีประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร จะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,200 ดอลลาร์ต่อคน

เกาหลีใต้ ที่ส่งเช็คมูลค่า 820 ดอลลาร์ไปยังครอบครัวรายได้ต่ำ 70% ของประเทศ หรือ ฮ่องกงที่ประกาศให้เงินช่วยเหลือประชาชนคนละ 985 ดอลลาร์ หรือ ญี่ปุ่นส่งเงินให้คนละราว 931 ดอลลาร์ และสิงคโปร์ที่ราว 422 ดอลลาร์

ชดเชยค่าแรง

อีกมาตรการที่หลายประเทศใช้ช่วยเหลือภาคธุรกิจ คือการจ่ายค่าแรงให้พนักงานบริษัทที่ถูกกระทบจากล็อกดาวน์ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้ยังคงจ้างงานลูกจ้างต่อไป หรือกลับมาจ้างลูกจ้างเดิมอย่างรวดเร็วเมื่อมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์

เนเธอร์แลนด์ได้ออกมาตรการที่น่าจะใจกว้างที่สุดแล้ว ด้วยการสัญญาว่าจะจ่ายเงิน 90% ของค่าแรงปกติให้กับบริษัทที่เข้าเกณฑ์ ขณะที่ฝรั่งเศสจะช่วยเหลือ 84 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงรวม และถึง 100 เปอร์เซ็นต์สำหรับแรงงานที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ

สหราชอาณาจักรจะจ่าย 80 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงให้กับลูกจ้างที่พักงาน สูงสุดถึงราว 3,100 ดอลลาร์ต่อคนต่อเดือน อย่างน้อย 3 เดือน และแคนาดาจะจ่าย 75 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างสูงสุด 3 เดือน

แผนเหล่านี้ มีขึ้นบนพื้นฐานโครงการ การทำงานระยะสั้น

ขณะที่สหรัฐฯ ไม่ได้ชดเชยค่าแรงตรงๆ แต่เป็นการจัดงบประมาณให้ธุรกิจได้กู้ยืมรวม 6.5 แสนล้านดอลลาร์ และไม่ต้องชำระคืน หากยังคงจ้างพนักงานจำนวนเท่าเดิม และใช้ส่วนใหญ่ของเงินกู้เพื่อการจ่ายค่าแรงภายใน 2 เดือน แต่โครงการนี้ก็ถูกวิจารณ์ว่าเงินช่วยเหลือไปจมกับบริษัทใหญ่ๆ และเหลือถึงบริษัทเล็กๆ ไม่มาก

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและภาษี แดเนียล บันน์ กล่าวว่า มาตรการชดเชยค่าแรงเหล่านี้สมเหตุสมผล หากการล็อกดาวน์อยู่ในระยะสั้น แต่จะมีประสิทธิภาพน้อยลงหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ

ความท้าทายคือ ไม่รู้เลยว่าการปิดเศรษฐกิจจะมีขึ้นไปอีกนานแค่ไหน หรือแรงงาน ครอบครัว และธุรกิจต่างๆ จะอยู่ในสภาพไหน เมื่อเศรษฐกิจกลับมาเปิดอีกครั้ง” บันน์กล่าว

ท้ายที่สุด ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มีหลายประเทศที่ออกจะทำอะไรมาก้กินไป แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามาตรการเหล่านี้เพียงพอหรือไม่

เรียบเรียงจาก bbc

ผลกระทบเศรษฐกิจ โควิด 19 ปัญหาเศรษฐกิจอาจนำไปสู่ปัญหาสังคม

โควิด 19 สร้างแรงสั่นสะเทือนในทุกภาคส่วน ทุกด้าน ของหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ด้านสาธารณสุข ด้านการเมือง และโดยเฉพาะ ผลกระทบเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า รัฐบาลต้องรีบออกมาตรการลดผลกระทบให้เร็วที่สุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมิน ผลกระทบเศรษฐกิจ จาก โควิด 19 ว่าช่วงนี้ ประเทศไทยมีแรงงานตกงาน ทั้งหมด 7 ล้านคน และหากสถานการณ์ยืดเยื้อไปอีก 2-3 เดือน จะมีคนตกงานเพิ่มเป็น 10 ล้านคน

ถอดบทเรียนมาตรการรับมือ ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด 19

เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงักเพราะมาตรการล็อกดาวน์ ผู้เชี่ยวชาญต่างกังวลว่าถ้าแต่ละรัฐบาลไม่มีมาตรการรับมือที่เหมาะสม ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด 19 จะนำไปสู่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างหนัก และปัญหาสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า โลกกำลังเข้าสู่ปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดนับแต่ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงปี 1930 และองค์การการค้าโลกคาดว่า ปีนี้ ตัวเลขการค้าทุกภูมิภาคของโลกจะลดลงอย่างหนัก

related