svasdssvasds

22 มีนาคม "วันน้ำโลก" ถ้าการประปาไทยดี จะช่วยลดการใช้ขวดพลาสติกได้เท่าไร ?

22 มีนาคม "วันน้ำโลก" ถ้าการประปาไทยดี จะช่วยลดการใช้ขวดพลาสติกได้เท่าไร ?

22 มีนาคม ของทุกปีถือเป็น "วันน้ำโลก" เพื่อให้มนุษย์ทุกคนตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น แล้วถ้าการประปาไทยดีทุกคนสามารถดื่มได้ จะช่วยลดการใช้ขวดพลาสติกได้เท่าไร ?

"22 มีนาคม" ของทุกปีถือเป็น "วันน้ำโลก" (World Water Day) หรือชื่ออย่างเป็นทางการที่ถูกต้อง ต้องเป็น "วันน้ำของโลก" (World Day for Water) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1992 โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เพื่อให้มนุษย์ทุกคนตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะถึงแม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของพื้นผิวโลกจะประกอบไปด้วยน้ำกว่า 70% ทว่ามีเพียง 3% เท่านั้นที่เป็นแหล่งน้ำจืดเหมาะแก่การบริโภค ทั้งนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำขึ้นได้ในอนาคต เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก

และแน่นอนว่า การประปา ถือเป็นหน่วยงานโดยตรงที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบขั้นพื้นฐานของสาธารณูปโภค

แม้ว่าที่ผ่านมา การประปาจะทำการโฆษณาว่า "น้ำประปาดื่มได้" สะอาด ปลอดภัย เพราะได้ทำการเติมสารคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจหลงเข้าสู่ระบบตั้งแต่โรงผลิตน้ำจนถึงครัวเรือน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ก็เป็นเพราะการเติมสารคลอรีนเข้าไปจึงทำให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์แก่การบริโภค

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

โดยทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้การยอมรับและได้กำหนดให้มีคลอรีนคงเหลือในน้ำประปาไว้ที่ 0.2 - 0.5 มิลลิกรัม/ลิตร และกลิ่นจะรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่ออยู่ในฤดูร้อน เนื่องจากมีการเพิ่มปริมาณคลอรีนเพื่อป้องกันโรคระบาด และอาจเกิดการรวมตัวของคลอรีนกับสารอินทรีย์อื่นที่มีอยู่ในน้ำธรรมชาติ

แม้ทางการประปาจะเสนอแนะให้ดื่มน้ำประปาอย่างปลอดภัย ด้วยการรองน้ำทิ้งไว้ 20-30 นาที แล้วนำน้ำไปต้มต่ออีก 3-5 นาที เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำประปานั้นไร้ซึ่งกลิ่นคลอรีน สะอาด และปลอดภัย แต่ก็เป็นวิธีการที่ยุ่งยาก จึงทำให้ประชาชนโดยส่วนมากที่พักอยู่ตามหอต่างซื้อน้ำขวดมาเพื่อบริโภค หรือไม่ก็อาศัยการใช้เครื่องกรองน้ำหากอยู่บ้าน/คอนโด ทั้งนี้จะสังเกตเห็นได้ว่าน้ำประปาบ้านเรามีความแตกต่างกับเมืองนอกที่สามารถเปิดน้ำจากก๊อกแล้วบริโภคได้โดยตรง

ข้อมูลของทางการแพทย์เผยว่า ผู้ชายที่อายุเกินกว่า 19 ปีขึ้นไป ควรจะดื่มน้ำวันละ 3 ลิตร ในขณะที่ผู้หญิงอายุเกินกว่า 19 ปีขึ้นไป ควรดื่มน้ำวันละ 2.1 ลิตร แต่เมื่อเราบริโภคอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ อยู่แล้ว จึงได้ทำการกำหนดว่าควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 1.5 ลิตร เพื่อรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย ซึ่งการรักษาระดับน้ำในร่างกายที่ดีจะส่งผลให้เกิดสุขภาพที่ดีตามมา

ถ้าการประปาดีจะลดขยะขวดน้ำพลาสติกได้เท่าไร ?

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรอยู่ 66,171,439 คน เพราะฉะนั้นแล้วคนไทยควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 99,257,158.5 ลิตร และในหนึ่งปีจะตกอยู่ที่ 36,228,862,852.5 ลิตร

แม้ว่าคนไทยทุกคนจะไม่ได้ทำการซื้อน้ำขวดดื่มเป็นปกติทุกคน แต่เพื่อการยกตัวอย่างจึงขอสมมุติว่าคนไทยซื้อน้ำขวดเพื่อการบริโภค

โชคดีที่ในท้องตลาดมีน้ำขวดขนาด 1.5 ลิตรขายพอดิบพอดี เป็นปริมาณน้ำที่เหมาะแก่การดื่มใน 1 วัน เท่ากับภายในหนึ่งวันจะมีขยะขวดน้ำพลาสติกขนาด 1.5 ลิตรกว่า 66,171,439 ขวด และใน 1 ปี จะมีขยะขวดน้ำพลาสติกกว่า 24,152,575,235 ขวด

โดยขวดน้ำพลาสติก 1 ขวดจะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 31.1 กรัม เท่ากับว่าภายใน 1 ปี ประเทศไทยจะมีขยะขวดน้ำพลาสติกมากถึงปีละ 751,145 ตัน

เกร็ดความรู้ที่ 1

การประปาส่วนภูมิภาค ได้ระบุอัตราค่าน้ำไว้ที่ 10.2 บาท/ลบ.ม. สำหรับที่อยู่อาศัยเป็นราคาเบื้องต้น นั่นเท่ากับว่าน้ำประปา 1 ลิตรมีราคาเพียงแค่ 1 สตางค์เท่านั้น นั่นเท่ากับว่าภายในหนึ่งปีหากประเทศไทยสามารถบริโภคน้ำประปาได้มีมูลค่าอยู่ที่ 3,622,886.285 บาท แต่ถ้าทำการซื้อน้ำขวดจะตกอยู่ที่ราคา 13 บาท/ขวด ในราคาขายปลีก นั่นเท่ากับว่าในหนึ่ง ๆ ปี จะต้องเสียเงินซื้อน้ำขวดเพื่อการบริโภคมากถึงปีละ 313,983,478,055 บาท สังเกตได้ว่าการบริโภคน้ำประปาจะประหยัดกว่าโดยประมาณ 100 เท่า

เกร็ดความรู้ที่ 2

ขวดน้ำพลาสติกขนาด 1.5 ลิตร รวมกัน 33 ขวด จะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม โดยทางสมาคมรีไซเคิลขยะ และรับซื้อของเก่า ได้ระบุอัตราการรับซื้อขวดน้ำเปล่า (PET ขวดใส) เป็น 2 เกณฑ์ 1.ขวดที่ไม่มีฉลาก และ 2.ขวดที่ยังมีฉลาก แบ่งเป็นราคา 11.2 บาท/กก. และ 9.8 บาท/กก. ตามลำดับ ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่า การแยกฉลากจะได้ราคาที่สูงกว่า เนื่องจากทำให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล

ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ประเทศไทยมีการนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลเพียง 25% จากทั้งหมดประมาณ 2 ล้านตัน หรือเท่ากับประมาณ 5 แสนตันเท่านั้น และที่เหลืออีก 75% ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เพราะเป็นขยะที่มีการปนเปือน สาเหตุมาจากคนไทยส่วนใหญ่มักทิ้งขยะอาหารรวมกับขยะทั่วไปทำ ให้การคัดแยกขยะก่อนการนำ ไปรีไซเคิลและการกำจัดเป็นไปได้อย่างยากลำบาก จึงทำได้เพียงการนำไปฝังกลบเท่านั้น

related