ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หรือชื่อเล่นว่า โรจน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ที่เป็นดาวประจำสภาตั้งแต่สมัยสังกัดพรรคอนาคตใหม่ เกิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ปัจจุบันอายุ 44 ปี (ปีนี้ครบ 45 ปี) เป็นลูกของครอบครัวชนชั้นกลาง ที่มีคุณพ่อเป็นผู้จัดการร้านขายผ้าที่สำเพ็ง ในขณะที่คุณแม่เป็นแม่บ้าน
วิโรจน์จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม จากนั้นเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมยานยนต์ และศึกษาต่อระดับปริญญาโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ก่อนที่จะจบการศึกษาระดับปริญญาเอก คณะ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
วิโรจน์ เคยเป็นวิศวกรควบคุมคุณภาพให้กับบริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) ก่อนที่จะลาออกเพื่อไปเรียนปริญญาโท โดยระหว่างนั้นก็เป็นที่ปรึกษา ด้านระบบบริหารคุณภาพและการบริหารจัดการ ให้ บริษัท โนโว ควอลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้การกำกับของ สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
ต่อมา วิโรจน์ ได้ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งทางบริษัทซีเอ็ดจับมือร่วมกับกลุ่มรักลูก บุกเบิกด้านการศึกษาด้วยการก่อตั้งโรงเรียนเพลินพัฒนา ทำให้วิโรจน์ได้เป็นหนึ่งในกรรมการวิชาการ ให้กับโรงเรียนเพลินพัฒนาด้วย
จากนั้น วิโรจน์ได้หันเหเข้าสู่เวทีการเมืองด้วยการเป็น ส.ส. ให้กับพรรคอนาคตใหม่ ตามการชักชวนของน้องคนหนึ่งที่รู้จักกันผ่านทวิตเตอร์ และทำให้วิโรจน์กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้จดจัดตั้งพรรค
วิโรจน์เป็นที่จดจำได้ในระยะเวลาไม่นานด้วยการลีลาการอภิปรายที่พูดจากระฉับฉะฉาน และมีการเตรียมข้อมูลมาอย่างดี ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประเด็นการควบคุมข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ) กลายเป็นชนวน จุดให้วิโรจน์กลายเป็นดาวเด่นประจำสภา แต่หลังจากนั้นไม่นานพรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบ ทำให้วิโรจน์ย้ายตามมาอยู่พรรคก้าวไกล
ในการแข่งขันเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. วิโรจน์ ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. พรรคก้าวไกล และมาลงแข่งขันในสังกัดของพรรค ด้วยการชู 12 นโยบาย "สร้างเมืองคนเท่ากัน"
1. สวัสดิการคนเมือง
ที่ช่วยดูแลเด็ก คนชรา และผู้พิการ ด้วยการปรับเบี้ยผู้สูงอายุ เท่ากันที่ 1,000 บาท/คน/เดือน รวมถึงเพิ่มสวัสดิการผู้พิการให้ทุกคนได้ 1,200 บาท/เดือน และเพิ่มสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 6 ขวบ จากเดิมที่ได้เฉพาะเด็กยากจน จะเพิ่มให้เป็น 1,200 บาท/เดือน พร้อมยืนยันว่านี่ไม่ใช่การช่วยเหลือแต่เป็นรัฐสวัสดิการ
2. วัคซีนฟรีจากภาษีประชาชน
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 คนกรุงเทพฯ จะต้องได้สิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงวัคซีนซึ่งมาจากภาษี
3. หยุดระบบอุปถัมภ์
คนกรุงเทพฯ สามารถเลือกได้เองว่าจะนำงบประมาณ กระจายสู่ชุมชนใดบ้าง
4. ที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง 10,000 ยูนิต
ภายในระยะเวลา 4 ปี หากได้รับเลือกจะสร้างที่พักอาศักจำนวน 10,000 ยูนิตให้คนกรุงเทพฯ สามารถเช่าอยู่อาศัยได้ในราคา 3,500-9,000 บาท และจะต้องเข้าถึงระบบขนส่งคมนาคมได้อย่างสะดวก
5. ลดค่าครองชีพ ด้วยค่าเดินทาง
แน่นอนเป็นที่ทราบกันดีว่าค่าเดินทางภายในกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ค่าครองชีพสูง ซึ่งจะต้องเข้ามาดูแลจัดการแก้ไขให้ทุกคนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกในราคาที่จ่ายไหว เพื่อเป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนกรุงฯ
6. ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่
เพื่อนำเงินไปปรับปรุงการเก็บขยะภาคครัวเรือนให้ดียิ่งขึ้น พร้อมพัฒนาจุดทิ้งขยะทั่วกรุงเทพฯ ให้สะอาด
7. ลงทุนพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก
ลงทุนศูนย์ละ 5 ล้านบาท พร้อมทั้งครูและพี่เลี้ยงจะต้องได้สัญญาจ้างเป็นรูปธรรม
8. การศึกษาวิ่งตามฝัน
เปิดโอกาสให้เด็กกรุงเทพฯ สามารถเรียนในสิ่งตนเองสนใจได้อย่างเต็มที่ ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ ตัดวิชาไม่จำเป็น เพิ่มเวลาเรียนรู้นอกห้องเรียน
9. ลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง
เพื่อให้มั่นใจว่าเมืองจะพร้อมรับมือน้ำรอระบายเวลาฝนตกใหญ่ได้
10. เปลี่ยนที่รกร้างเป็นที่สาธารณะ
ร่วมมือกับเจ้าของที่ดินเอกชน เพื่อนำที่ดินรกร้างมาพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนกรุงฯ
11. ทางเท้าดีเท่ากันทั้งกรุงเทพฯ
คืนทางเท้าที่ได้มาตรฐานให้กับคนกรุงเทพ สวยงาม คงทน และกว้างตลอดเท่ากันทั้งเมือง โดยจะห้ามไม่ให้ตั้งแผงลอยบนทางเท้าเพื่อลดความแออัดเวลาสัญจร และจัดหาสถานที่ใกล้เคียงให้แทน
12. เจอส่วยแจ้ง ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ โปร่งใส
การบริหารงานทั้งหมดต้องโปร่งใส ไร้คอร์รัปชั่น เปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ ต่อผู้ว่าฯ กทม. ได้โดยตรง
เพิ่ม Spring News
ลงในหน้าจอหลักของคุณ