svasdssvasds

ประวัติ "ชัชชาติ" รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

ประวัติ "ชัชชาติ" รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

เปิดประวัติ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ที่ได้รับฉายาว่า "รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี" ในฐานะผู้สมัครลงแข่งเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ที่ได้ฉายาว่า "รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี" ด้วยภาพ Meme ถือถุงแกง หรือบ้างก็เทียบเป็นหนึ่งในทีม Avengers อย่าง the Hulk

เราจะพาไปทำความรู้จักกับชายที่มีชื่อว่า "ชัชชาติ" กันมากขึ้น

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีชื่อเล่นว่า ทริป เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 (ปัจจุบันอายุ 55 ปี) เป็นลูกคนสุดท้องของ พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กับ จิตต์จรุง สิทธิพันธุ์ (นามสกุลเดิม: กุลละวณิชย์) มีพี่สองคน ได้แก่

  • ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กรรมการแพทยสภาวาระ พ.ศ. 2562-2564 คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นพี่ชายฝาแฝดของชัชชาติ มีชื่อเล่นว่า ทัวร์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

เปิดประวัติ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ชัชชาติ จบระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนที่จะไปเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เกียรตินิยมอันดับ 1

จากนั้นชัชชาติได้ไปต่อ ป.โท ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ในวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง และจบระดับปริญญาเอก ด้วยการใช้ทุนของมูลนิธิอานันทมหิดล ไปเรียนวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์

หลังจากที่ชัชชาติทำงานอยู่บริษัทเอกชนเป็นระยะเวลาหนึ่ง ได้ไปรับราชการเป็นอาจารย์สอนประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ และเคยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายจัดการทรัพย์สิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2555

ระหว่างนั้นชัชชาติยังเคยเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด รวมไปถึงเป็นกรรมการอิสระ ให้กับบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จํากัด (มหาชน)

ชัชชาติ เคยเป็นที่ปรึกษานอกตำแหน่ง ให้กับกระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ ตลอดจนถึงรัฐบาลสมัคร จากนั้นได้ถูกทาบทามให้เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก่อนที่ภายหลังจะขึ้นเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555 จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยให้เหตุผลที่ว่าอยากเข้ามาสายการเมืองเป็นเพราะว่า อยากให้ลูกชายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากลูกชายเพียงคนเดียว แสนปิติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้พิการทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิด

ผลงานระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของชัชชาติ ได้แก่ การแก้แบบสถานีกลางบางซื่อให้รองรับรถไฟความเร็วสูง , การแก้แบบสายสีแดงเข้มจาก 3 ทางเป็น 4 ทาง , การจัดซื้อจัดขบวนรถด่วนพิเศษ CNR จำนวน 8 ขบวน , การเปลี่ยนรางรถไฟในภาคเหนือตอนบนทั้งหมด , ให้ข้าราชการระดับ 9 ขึ้นไปนั่งรถเมล์มาทำงานแล้วรายงานปัญหา

ซึ่งจากแผนงานสุดท้ายที่ให้ราชการนั่งรถเมล์ เจ้าตัวไม่ใช่เพียงแค่สั่งการเท่านั้น แต่ตัวชัชชาติเองได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานด้วย นั่นคือการนั่งรถเมล์ไปทำงาน ได้สอบถามจากปากประชาชนเองโดยตรง เพื่อสะท้อนว่าประเทศไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ "รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี"

แต่ชัชชาติ ในฐานะหนึ่งใน ครม. เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น จากภาพ Meme ถือถุงแกงไปวัด ซึ่งเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า วันนั้นตนไปประชุม ครม. ที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งหลังจากที่วิ่งตอนเช้าเสร็จแล้วก่อนที่จะไปประชุม ตนได้แวะทำบุญที่วัดบูรพาราม เป็นวัดของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล จากนั้นคงมีชาวบ้านแถวนั้นถ่ายรูปเก็บไว้แล้วนำไปโพสต์บนช่องทางโซเชียลมีเดีย จึงเป็นที่มาของฉายา "รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี"

แต่จากจุดเล็ก ๆ ตรงนี้ทำให้รู้ว่านี่คือหนึ่งในช่องทางที่ดีในการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้ชัชชาติเลือกที่จะทำป้ายหาเสียงจำนวนน้อยกว่าผู้สมัครเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. คนอื่น ๆ และจากการที่ได้เห็นป้ายหาเสียงของต่างประเทศมีขนาดเล็กเพียงไซส์กระดาษ A3 ไม่บดบังทัศนวิสัย จึงเป็นจุดกำเนิดของป้ายหาเสียงที่มีขนาดเปลี่ยนไป ไม่บังทัศนวิสัย ไม่กีดขวางทางเดินเท้า

โดยชัชชาติ ได้ชูนโยบาย "9ดี" มาในการแข่งขันเลือกตั้งครั้งนี้ ประกอบไปด้วย

ปลอดภัยดี
สร้างแผนที่จุดเสี่ยงอาชญากรรม จราจร และสาธารณภัย เมื่อรู้ก่อนก็จะสามารถป้องกันได้ พร้อมจัดตั้งศูนย์สั่งการ ชัดเจน คล่องตัว ในการรับมือสาธารณภัย และให้พนักงาน กทม. ช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเหตุ ถนนพัง ไฟดับ ทางเท้าทรุด

เดินทางดี
ใช้ระบบจัดการจราจรอัจฉริยะ (ITMS) บริหารจราจรทั้งโครงข่ายเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร พัฒนารถสาธารณะทั้งระบบ เพื่อรถสายหลักและรอง (Trunk and Feeder) ให้มีราคาถูกและเป็นราคาเดียว พร้อมหารือเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อลดรายจ่ายประชาชน และท้ายสุดพัฒนาทางเดินเท้าให้มีคุณภาพ

สุขภาพดี
เชื่อมโยงประวัติคนไข้ภายในสถานพยาบาลของกรุงเทพฯ เพื่อการส่งต่อและดูแลรักษาได้อย่างทั่วถึง เพิ่มการรักษา-ทรัพยากรในศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) จัดทำโครงการหมอถึงบ้านผ่าน Telemedicine และเพิมพื้นที่ออกกำลังกาย พัฒนาลานกีฬาต้นแบบ 180 แขวง 180 ลาน ภายใน 100 วันแรก

สร้างสรรค์ดี
เปลี่ยนศาลาว่าการ กทม. เดิม เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองและพื้นที่สาธารณะ สร้าง Open Art Map and Calendar ให้ประชาชนปักหมุดกิจกรรมเพื่อตามเสพงานศิลป์ได้ทั่วกรุง รวมไปถึงการจัดทำฐานข้อมูลรวมพื้นที่ของรัฐและเอกชนให้ประชาชนเลือกใช้จัดกิจกรรม

สิ่งแวดล้อมดี
วางโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อให้เป็นกำแพงกรองฝุ่นตามธรรมชาติ รวมถึงการดูแลด้วยการจัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต เดินหน้าโครงการตรวจจับรถปล่อยควันดำเชิงรุกจากต้นทาง เช่น สถานีรถโดยสาร และไซต์ก่อสร้าง จัดทำโครงการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง มุ่งเป้าองค์กร

โครงสร้างดี
วางแผนต้นแบบเมืองใหม่ (ชานเมือง) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระจายแหล่งงาน ลดการกระจุกตัวในเขตเมือง จัดตั้งโครงการลอกท่อ คูคลอง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประสิทธิภาพสูง ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมหาพื้นที่รับน้ำธรรมชาติ

บริหารจัดการดี
พัฒนาระบบการขออนุญาตจาก กทม. ให้ประชาชนตรวจสอบและติดตามได้ พร้อมทบทวนข้อบัญญัติ กทม. และปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน จัดสรรงบประมาณบริหารกรุงเทพฯ ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน (Participatory Budgeting) และเปิดให้ประชาชนร่วมประเมิน ผอ.เขต และผู้ว่าฯ ได้

เรียนดี
เปิดโรงเรียน กทม. ให้สามารถไปเล่นหรือเรียนได้ในวันหยุด ขยายเวลาโรงเรียนให้สอดคล้องกับเวลางานของผู้ปกครอง มีครูเฝ้า มีกิจกรรมสร้างสรรค์จากวิทยากรทั้งในและนอก เพิ่มหลักสูตรภาษาต่างประเทศ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำงานในโรงเรียนสังกัด กทม. พร้อมสำหรับทักษะที่จำเป็นในอนาคต

เศรษฐกิจดี
ปั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ 12 เทศกาลตลอดปี ชูอัตลักษณ์ย่านต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับผู้ค้าแผงลอยให้มีความยั่งยืน เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงิน ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี และจัดหาสถานที่ค้าขาย จัดทำโครงการสร้างแบรนด์ Made in Bangkok (MIB) คัดเลือกและพัฒนาสินค้าจากผู้ผลิตในกรุงเทพฯ โปรโมตและต่อยอดผลิตภัณฑ์ ไปสู่ตลาด E-Commerce ขนาดใหญ่

related