svasdssvasds

สรรพสามิต เล็งรีดภาษี “Carbon Tax” สินค้าปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง

สรรพสามิต เล็งรีดภาษี “Carbon Tax” สินค้าปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง

สรรพาสามิต เดินหน้าศึกษาแนวทางเก็บ “Carbon tax” รีดภาษีในกลุ่มสินค้าปล่อยคาร์บอนสูง เพื่อผลักดันอุตสาหกรรม-บริการ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เติบโตได้มากขึ้น ย้ำทั่วโลกเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนแล้ว ขณะที่ไทยต้องชัดเจนภายในปี 66

นายเอกนิติ​ นิติทัณประภาศ ​อธิบดีกรมสรรพสามิต​  เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างการศึกษาการจัดเก็บภาษี “Carbon Tax” ในกลุ่มสินค้าและบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศในโลกเริ่มมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวกันแล้ว โดยกรมฯ ตั้งเป้าหมาย ทำการศึกษาให้แล้วเสร็จและมีความชัดเจนในแนวทางและอัตราภาษีภายในปี 66

“ไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องเก็บ Carbon Tax เพราะหลายประเทศก็เริ่มเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว ซึ่งอียูถือเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่จะเริ่มจัดเก็บ Carbon Tax ในปีหน้า เริ่มจากสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงใน 5 ประเภท คือ ปูนซีเมนต์ เหล็ก​ อลูมิเนียม​ ปุ๋ยเคมี​ และไฟฟ้า ซึ่งหากไทยไม่เก็บภาษี ก็จะต้องไปเสียภาษีที่ประเทศปลายทาง หรือ อียู อยู่ดี แต่หากเสียภาษีจากไทยไปแล้ว ไทยก็จะเจรจาขอยกเว้นภาษีจากประเทศปลายทางได้” 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• จีนเปิดสถานีพลังงานอัจฉริยะ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาล

• เยอรมนีผุดตั๋ว 9 ยูโรใช้รถไฟ-บัส ไม่จำกัดเที่ยว 3 เดือนลดคาร์บอน 1.8 ล้านตัน

• โรงไฟฟ้าพลังน้ำ "น้ำเทิน 1" ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.49 ล้านตัน/ปี

 แนวทางการจัดเก็บภาษี Carbon Tax จะมี 2 แนวทาง คือ

• การเก็บภาษีบนตัวสินค้าตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน​ ซึ่งหากปล่อยก๊าซคาร์บอนมาก ภาษีก็จะสูงตามไปด้วย 

• เก็บภาษีโดยเริ่มที่กระบวนการผลิตในโรงงาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยวิธีดังกล่าวจะร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น องค์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการกำหนดแนวทางและการคำนวนปริมาณการปล่อยก๊าซฯ และอัตราภาษี เป็นต้น

 สำหรับแนวทางในการจัดเก็บภาษีคาร์บอนนั้น เป็นอีกทิศทางของกรมสรรพสามิต ที่ต้องการมุ่งสู่การส่งเสริม “ESG” (Environment, Social, Governance) ​โดยใช้มาตรการทางภาษีเป็นเครื่องมือในการผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรมหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เติบโตได้มากขึ้น

 และช่วยลดการผลิตสินค้าที่มีผลกระทบหรืออันตรายต่อสุขภาพด้วย ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายของไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065

 

ที่มา : thansettakij 

related