svasdssvasds

ค่าฝุ่น PM2.5 ในกทม. พุ่งสูง! อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง

ค่าฝุ่น PM2.5 ในกทม. พุ่งสูง! อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง

ค่าฝุ่น PM2.5 วันนี้ใน กทม. พุ่งสูงจนหลายคนเริ่มมีอากาศป่วย สาเหตุมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากการใช้รถ การระบายอากาศ กระแสลม และยังมีอีกหลายองค์ประกอบไม่ว่าจะเป็นจุดความร้อนในต่างจังหวัด หมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดจากการเผาพื้นที่การเกษตร

ช่วงเดือนมีนาคม 2023 เป็นช่วงที่ ฝุ่น PM2.5 กลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง จนทำให้ใครหลายๆคนเริ่มป่วยจากการสูดดมฝุ่นควันเข้าไป เมื่อลองย้อนไปดูรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ปี 2022 ของกรุงเทพฯ โดย Rocket Media Lab มีข้อสังเกตน่าสนใจว่า เดือนที่มีสภาพอากาศแย่ที่สุดคือเมษายน โดยวันที่มีค่า PM2.5 สูงที่สุดในรอบปีก็อยู่ในเดือนนี้เช่นกัน ขณะที่ปี 2021 และ 2020 เดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุดคือมกราคม

Rocket Media Lab ชวนย้อนดูข้อมูลต่างๆ ในเดือนเมษายน เพื่อดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มีนัยสำคัญดันให้ค่า PM2.5 ในกรุงเทพฯ สูงขึ้น

เกิดอะไรขึ้นบ้างในเดือนเมษายน 2022
ในเดือนเมษายน 2022 ซึ่งเป็นเดือนที่มีวันที่มีค่า PM2.5 สูงที่สุดในรอบปี โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project พบว่าในวันที่ 8-10 เม.ย. ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ อยู่ในเกณฑ์สีแดงหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ และจากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ซึ่งมาจากการศึกษาสัดส่วนการระบายมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร พบว่าฝุ่นละออง PM2.5 มีสาเหตุหลักจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง โดยภาคการขนส่งทางถนนระบายฝุ่น PM2.5 มากที่สุด 72.5% รองลงมาได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม 17% การเผาในที่โล่ง 5% และอื่นๆ 5.5%

นอกจากตัวแปรข้างต้นเรื่องการใช้ยานพาหนะ โรงงาน และการเผาในที่โล่งแล้ว ปัจจัยอื่นที่มีผลต่อคุณภาพอากาศและค่าฝุ่น PM2.5 ตามหลัก Weather Index for Air Quality ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปก็คือ ความเร็วลม การระบายอากาศ อุณหภูมิ ความกดอากาศ ปริมาณฝน ร้อยละเมฆปกคลุมท้องฟ้า ความเข้มแสงอาทิตย์ CAPE, CIN, Lifted Index, และความสูงชั้นบรรยากาศใกล้ผิวพื้น (PBLH)

สืบจากค่าฝุ่น : ค่าฝุ่น PM2.5 ในกทม. พุ่งสูง! อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง Photo : Freepik

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้นหากพิจารณาปัจจัยต่างๆ เพื่อสืบหาปัจจัยที่ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ พุ่งสูงขึ้นในเดือนเมษายน 2022 ก็จะพบว่า ในกรณีของการใช้ยานพาหนะนั้น ไม่มีการเปิดเผยจำนวนการใช้ยานพาหนะ ประเภทเครื่องยนต์ หรือปริมาณการปล่อยควันพิษจากยานพาหนะในแต่ละวัน เช่นเดียวกับการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม ที่แม้จะมีคำสั่งให้ติดเครื่องตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องระบายแบบอัตโนมัติพร้อมรายงานผล 24 ชั่วโมง (CEMS) ครอบคลุมโรงงานทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่า กรุงเทพฯ ซึ่งมีโรงงาน 260 แห่ง มีโรงงานที่เชื่อมต่อผลตรวจวัดดังกล่าวเพียง 15 ปล่องจาก 4 โรงงานเท่านั้น ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่มีตัวเลขบ่งชี้ที่จะนำมาใช้ได้

ในขณะที่การระบายอากาศ กรุงเทพฯ มีการระบายอากาศแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน โดยขณะที่ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน กรุงเทพฯ มีการระบายอากาศที่ดีมากเรื่อยมา เช่น ในวันที่ 1 เมษายน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9,200 ตร.ม.ต่อวินาที ซึ่งถือว่าดีมาก แต่ในช่วงวันที่ 8-9 เมษายน 2022 มีการระบายอากาศในระดับอ่อน ที่ 2,700 และ 2,975 ตร.ม.ต่อวินาที จึงถือว่าการระบายอากาศของกรุงเทพฯ ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงวันที่กรุงเทพฯ มีค่าฝุ่น PM2.5 ขึ้นสูงสุด

อย่างไรก็ตาม แม้ค่าการระบายอากาศของกรุงเทพฯ ในช่วงปลายเดือนเมษายนนั้นจะต่ำไม่ต่างจากช่วงวันที่ 8-9 เม.ย. แต่ค่า ฝุ่น PM2.5 ในช่วงปลายเดือนไม่ได้สูงขึ้นเช่นในช่วงวันที่ 8-10 เม.ย.

จึงอาจพอสรุปได้ว่า แม้ค่าการระบายอากาศในช่วงดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญสอดคล้องกับค่า PM2.5 ที่พุ่งสูงขึ้น แต่ค่าการระบายอากาศ หรือค่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นเพียงปัจจัยหนุนเสริม ถึงอย่างไรค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ก็ยังคงต้องดูที่แหล่งกำเนิดฝุ่นเป็นปัจจัยหลักอยู่นั่นเอง ซึ่งหากดูสาเหตุหลักของการเกิด PM 2.5 อย่างภาคการขนส่งทางถนน โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง อีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถนำมาพิจารณาได้คือ การเผาในที่โล่ง (จุดความร้อน) ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง

สืบจากค่าฝุ่น : ค่าฝุ่น PM2.5 ในกทม. พุ่งสูง! อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง Photo : Freepik จุดความร้อนที่ก่อให้เกิดหมอกควันมาจากไหน แล้วเผาอะไร
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลจุดความร้อนทั่วประเทศของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) จะพบว่าระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่กรุงเทพฯ มีค่า PM2.5 สูงสุดนั้น ตรวจพบจุดความร้อนในวันที่ 9 และวันที่ 10 เมษายน ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพียงวันละ 1 จุด ส่วนจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ ที่ตรวจพบจุดความร้อนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือ

จังหวัดสุพรรณบุรี ในวันที่ 9 เมษายน มีจำนวนสูงถึง 42 จุด และในวันที่ 10 เมษายน มีจำนวน 24 จุด ขณะที่วันอื่นๆ ในเดือนเมษายน ส่วนใหญ่มีไม่ถึง 10 จุด

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในช่วงวันที่ 8-10 เมษายน 2022 นั้น มีการเพิ่มขึ้นของจุดความร้อนอย่างมีนัยสำคัญ คือ 18, 15 และ 10 จุด ในขณะที่วันก่อนหน้านั้นคือวันที่ 7 เมษายนมีเพียง 1 จุด 

และเมื่อตรวจสอบพื้นที่การเผาก็จะพบว่า ช่วงวันที่ 8-10 เมษายน 2022 ในจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น พื้นที่ที่ตรวจพบจุดความร้อนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร และเมื่อตรวจสอบลงไปอีกขั้นก็จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นนาข้าว โดยเป็นนาข้าวมากที่สุด 71 จุด จากจุดความร้อนทั้งหมด 76 จุด และพืชอื่นๆ 5 จุด ในขณะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ปทุมธานี นครนายก และนครปฐมนั้น พื้นที่ที่ตรวจพบจุดความร้อนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร และเป็นนาข้าวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่นาข้าว 116 จุด จากจุดความร้อนทั้งหมด 126 จุด

จากข้อมูลข้างต้นจึงอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ค่าฝุ่นที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2022 อาจสัมพันธ์กับจำนวนจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาในภาคการเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ

อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจมีผลต่อค่าฝุ่น PM2.5 ก็คือ หมอกควันข้ามแดน ที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม โดยหากดูข้อมูลในช่วงเดือนเมษายน 2022 ซึ่งเป็นเดือนที่กรุงเทพฯ มีวันที่มีค่า PM2.5 สูงสุดและเป็นเดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2022 ก็จะพบจำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งในเมียนมาและลาว โดยในเมียนมามี 63,755 จุด และลาวมี 64,569 จุด ซึ่งสูงที่สุดในรอบปี

โดยข้อมูลจากรายงาน “ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงปี 2558-2563”  ของ กรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่าเมียนมาถือเป็นพื้นที่ปลูกไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ ขณะที่ลาวนั้นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าว ส่วนจุดความร้อนในกัมพูชาและเวียดนาม ในช่วงเดียวกันนั้น ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

สืบจากค่าฝุ่น : ค่าฝุ่น PM2.5 ในกทม. พุ่งสูง! อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง Photo : Freepik หมอกควันจากแดนไกลทำให้ PM2.5 ในกรุงเทพฯ พุ่งปรี๊ดได้แค่ไหนกัน
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าจำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้น อาจมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ที่พุ่งสูงขึ้น Rocket Media Lab ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเขาตั้งข้อสังเกตค่าฝุ่นที่พุ่งสูงขึ้นในกรุงเทพฯ ว่า

ปัญหา PM2.5 ของกรุงเทพฯ มักจะชี้ไปที่การขนส่งยานพาหนะ ว่าเป็นต้นตอของปัญหา PM2.5 กว่า 70% มันก็มีส่วนนะครับ แต่อาจจะยังไม่ชัดมาก หรืออาจจะไม่ถึง 70% ก็ได้ เพราะว่ารถใน กทม. ในแต่ละฤดูกาลไม่ได้มีจำนวนแตกต่างกันมากขนาดนั้น แต่ทำไมค่าฝุ่นช่วงนี้มันถึงเพิ่มขึ้นมากๆ การชี้ไปที่ภาคการขนส่งเป็นหลัก อาจจะทำให้เราหลงลืมพูดถึงปัญหาอื่นๆ หรือเปล่า เช่น การเผาในที่โล่ง หรือโรงงานอุตสาหกรรม

เรื่องฝุ่นลอยมาจากที่อื่นได้ไหม ได้ไกลแค่ไหน อย่างแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่าฝุ่น PM2.5 ไม่มีแพทเทิร์นที่ตายตัว อาจจะอยู่ระดับพื้นดินหรืออยู่เหนือพื้นดินขึ้นไป ซึ่งแต่ละชั้นก็อาจจะมีกำลังลมไม่เท่ากัน ในพื้นที่ที่มีลมดีๆ ฝุ่นก็อาจจะถูกพัดไปได้ไกลมาก อาจจะไกลเป็นพันกิโลเมตรก็มีความเป็นไปได้ ถ้าสมมติไม่มีลมเลย ก็อาจจะแขวนลอยในอากาศ เคลื่อนที่ในแนวตั้ง ในช่วงที่ความกดอากาศต่ำก็อาจจะอยู่ใกล้พื้นดิน พอมีแสงแดด อากาศร้อนอุณหภูมิอุ่นขึ้นก็อาจจะลอยตัวในแนวดิ่งแล้วตกลงมาอีก ฝุ่นเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลาและไม่ได้เป็นแพทเทิร์น มันมีทั้งต่ำทั้งสูง ใกล้และไกล มันขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ และการสะสมตัวก็ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศอีกว่ามีความสามารถในการอมฝุ่นได้นานขนาดไหน

“ถามว่าฝุ่นจากเพื่อนบ้าน พม่า ลาวมาถึงภาคเหนือ หรือ กทม.ได้ไหม ได้ครับ ไปถึงภาคใต้ก็ยังได้ หรือฝุ่นไทยไปถึงไต้หวันได้ไหม ก็ได้เหมือนกัน แล้วแต่แพทเทิร์นของลมเป็นยังไง ต้องไปดูโมเดลการกระจายตัวของอากาศว่าทำให้ฝุ่นไปในทิศทางไหน อย่างไร”

แม้จำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ พุ่งสูงขึ้น แต่รศ.ดร.เศรษฐ์มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการมองประเด็นเรื่องจุดความร้อน ทั้งในแง่การเป็นปัจจัยในการเกิดฝุ่น PM2.5 และในการนำมากำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาของรัฐว่า

“การดูแค่จุดความร้อนและองค์ประกอบอื่นๆ อาจจะไม่พอ เพราะฝุ่นมันไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น อย่างบางพื้นที่ในภาคเหนือ ไม่มีจุดความร้อนเลย ไม่มีการเผาเลย แต่ทำไมค่าฝุ่น PM2.5 สูง เราไม่รู้ว่าลมพัดมาจากไหน และอยู่ดีๆ ตอนบ่ายฝุ่นก็หายไปหมดเลย มันก็อธิบายยากเหมือนกัน

เรื่องจุดความร้อน สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายการแก้ปัญหา PM2.5 ของภาครัฐได้อย่างน่าสนใจ เมื่อภาครัฐมีนโยบายลดจุดความร้อนให้ได้ 20% เมื่อเทียบกับ 5 ปีย้อนหลัง อีกนโยบายหนึ่งที่เกี่ยวข้องและมีความน่าสนใจก็คือ นโยบายลดการเผาภาคการเกษตร โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับไร่อ้อย และการออกประกาศห้ามเผานาข้าวหรือเผาในที่โล่ง

“นโยบายเรื่องของอ้อยมันค่อนข้างชัดและจัดการได้ง่าย เพราะมีผู้รับซื้อชัดเจน คือโรงน้ำตาล ราคามันแตกต่างกันอยู่แล้วระหว่างอ้อยที่ถูกไฟไหม้กับอ้อยไม่ถูกไฟไหม้ นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมทางการเกษตรจากโรงน้ำตาลให้มีเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวในพื้นที่ไร่อ้อยอีกด้วย แต่ในพื้นที่ที่ทำสัญญาซื้อขายกับโรงงานไม่ทัน อาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องจักร เลยยังมีการเผาอยู่ แต่ก็มีปริมาณที่ลดลง อีกอย่างก็คืออุตสาหกรรมน้ำตาลมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงในเชิงภาพลักษณ์ทางสิ่งแวดล้อม เลยทำให้สามารถจัดการพื้นที่การปลูกอ้อยได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

“ซึ่งแตกต่างจากกรณีนาข้าว ที่ไม่ได้มีการส่งเสริมเครื่องจักรจัดการแปลงนาข้าว การเผาเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุด เลยยังมีการเผาอยู่ เราต้องทำข้อมูลให้ชัดเจนขึ้น ถ้าเรารู้ว่าพื้นที่ใดเครื่องจักรเข้าไปไม่ถึง จำเป็นจะต้องเผา ต้องมีการลงทะเบียนเพื่อบริหารจัดการเชื้อเพลิง ว่าจะเผาเท่าไหร่ เผาจบเมื่อไหร่ และดูแลการเผาอย่างไร จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต เชียงใหม่เองก็กำลังทำเรื่องบริหารจัดการเชื้อเพลิงอยู่ การใช้นโยบายเช่นนี้จะทำให้เราทราบว่าเกษตรกรในจังหวัดมีกี่ราย ใครจำเป็นต้องเผาบ้าง และเผาพื้นที่เท่าไหร่ แล้วจบจริงไหม ซึ่งจะมีการรายงานโดยตัวแทนชุมชนในหมู่บ้านอีกที

รศ.ดร.เศรษฐ์มองว่า นโยบายของรัฐปัจจุบันเหมือนกำลังตัดเสื้อตัวเดียวให้คนที่มีไซส์แตกต่างกันใส่ เพราะการเกิดไฟไหม้นั้นซับซ้อนและมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ จึงควรต้องมาจำแนกว่าในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไรมากกว่า โดยเศรษฐ์มีข้อเสนอว่าควรนำเอาชุดข้อมูลต่างๆ งานวิจัยที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย มารวบรวม สังเคราะห์ วิเคราะห์ เพื่อจะได้เห็นถึงสาเหตุปัญหาที่แท้จริง และที่สำคัญก็คือจะต้องดูบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกันอีกด้วย เพราะฝุ่นภาคเหนือ ฝุ่นภาคอีสาน ฝุ่นภาคกลาง หรือแม้กระทั่งฝุ่นกรุงเทพฯ ก็อาจจะมีที่มาไม่เหมือนกัน

เกิดอะไรขึ้นในวิกฤตฝุ่น กุมภาพันธ์ ปีนี้
เมื่อตรวจสอบข้อมูล สภาพอากาศของกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงสุด 82.9 และ 84.2 มคก.ต่อ ลบ.ม. ถือว่าอยู่ในระดับวิกฤต พบว่า ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 อัตราการระบายอากาศของกรุงเทพฯ และปริมณฑลเฉลี่ย 500 ตร.ม.ต่อวินาที จัดอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี เพราะน้อยกว่า 2,000 ตร.ม.ต่อวินาที ส่วนวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ อัตราการระบายอากาศอยู่ระหว่าง 2,000-4,000 ตร.ม.ต่อวินาทีซึ่งอยู่ในเกณฑ์อ่อน โดยวันที่ 2 กุมภาพันธ์ค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 2,038 ตร.ม.ต่อวินาที วันที่ 5-10 กุมภาพันธ์ คาดว่าจะมีอัตราการระบายอากาศระหว่าง 4,000-8,000 ตร.ม.ต่อวินาที จึงจะอยู่ในเกณฑ์ดี

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ว่าในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 พบจุดความร้อนทั่วประเทศรวม 1,208 จุด เพิ่มขึ้น 447 จุด จาก 2 วันก่อนหน้านี้ (30 มกราคม) ที่มีจุดความร้อน 761 จุด

โดยจังหวัดชัยภูมิ (ป่าอนุรักษ์) มีจุดความร้อนมากที่สุด 133 จุด อันดับที่ 2 กาญจนบุรี (ป่าอนุรักษ์) 128 จุด อันดับที่ 3 ลพบุรี (พื้นที่เกษตร/สปก.) 50 จุด นครสวรรค์ (พื้นที่เกษตร) 43 จุด เพชรบูรณ์ 40 จุด (เขตสปก.) ปราจีนบุรี 31 จุด ขณะที่รอบๆ กรุงเทพฯ เช่น นครนายกมี 19 จุด สุพรรณบุรีมี 12 จุด พระนครศรีอยุธยามี 8 จุด ชัยนาท 4 จุด

ส่วนจำนวนจุดความร้อนในต่างประเทศพบว่า ในกัมพูชามี 1,713 จุด เมียนมามี 1,072 จุด ลาวมี 927 จุด รวม 3,712 จุด

จากข้อมูลย้อนหลังในช่วง 30 วันที่ผ่านมา อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ปัจจัยเสริมที่สัมพันธ์กับค่าฝุ่น PM2.5 คือ อัตราการระบายอากาศ ความเร็วลม และจำนวนจุดความร้อน ซึ่งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปัจจัยเหล่านี้แตกต่างจากวันที่คุณภาพอากาศดีกว่าหลายเท่าตัว

related