svasdssvasds

4 แนวทางลดคาร์บอนธุรกิจสายการบิน เพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

4 แนวทางลดคาร์บอนธุรกิจสายการบิน เพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

การเดินทางหรือการขนส่งทางอากาศ เป็นหนึ่งในกิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก และตอนนี้สายการบินต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและบริการให้เข้ากับแนวคิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

รู้ไหมว่าธุรกิจสายการบินหรือการขนส่งทางอากาศ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ สูงถึงปริมาณปีละ 915 ตัน และเพื่อเป็นการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบิน 

4 แนวทางลดคาร์บอนธุรกิจสายการบิน เพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นสายการบินต่างๆ จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและบริการให้สอดคล้องกับแนวคิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้

1.ใช้เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF)

เชื้อเพลิงการบินทางเลือกที่ผลิตขึ้นจากทรัพยากรชีวภาพ (ฺBiological Resources) ซึ่งใช้แล้วไม่หมดไปเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือเรียกอีกอย่างว่าเชื้อเพลิงการบินชีวภาพ (bio-jet fuels) ที่เป็นไปตามมาตรฐานและได้รับการรับรองจากสมาคมการทดสอบและวัสดุแห่งอเมริกา (American Society for Testing and Materials หรือ ASTM) การใช้ SAF สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงการบินดั้งเดิม

แอร์บัส หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ได้ทดสอบการใช้ SAF โดยในช่วงแรกเป็นการใช้ SAF แบบผสม คือผสม SAF เข้ากับเชื้อเพลิงการบินดั้งเดิม ในฝูงบิน BELUGA (เครื่องบินขนส่งชิ้นส่วนเครื่องบินเพื่อนำไปประกอบ) ทั้ง 5 ลำตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 ต่อมาแอร์บัสประสบความสำเร็จในการทดสอบการใช้ SAF 100% กับเครื่องบินทั้งหมด 4 รุ่น คือ 

  • A350 ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารตระกูลใหม่ล่าสุดของแอร์บัสในเดือนมีนาคม 2021 
  • A319neo ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กที่สุดในตระกูล A320 ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดด้วยการติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นใหม่ (new engine option หรือ neo) ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน 
  • A380 ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2022 
  • A321neo LR (LR ย่อมาจาก long range) ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดในตระกูล A320 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2023 ที่ผ่านมา 

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

 

สายการบินที่เริ่มใช้เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน ยกตัวอย่าง สายการบิน Emirates ประสบความสำเร็จในการทดสอบการใช้ SAF 100% บนเครื่องบิน BOEING 777-300ER (ER ย่อมาจาก extended range) เมื่อต้นปี 2023 ซึ่งตอบสนองเจตนารมณ์การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความยั่งยืนของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ย้อนกลับไปในปี 2021 สายการบิน JAPAN AIRLINES ได้สาธิตการใช้ SAF บนเครื่องบิน AIRBUS A350-941 ในเที่ยวบินที่ JL515 ด้วยการผสม SAF กว่า 3,132 ลิตรเข้ากับเชื้อเพลิงการบินดั้งเดิม ซึ่งคิดเป็น 1% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดที่ใช้ในเที่ยวบินนี้ และการสาธิตนี้เป็นการใช้ SAF กับเที่ยวบินที่ให้บริการผู้โดยสารจริงไม่ใช่เที่ยวบินทดสอบแต่อย่างใด

4 แนวทางลดคาร์บอนธุรกิจสายการบิน เพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

2.ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเครื่องบิน ลดการใช้เชื้อเพลิง

สายการบิน RYANAIR เป็นสายการบิน Low Cost ของประเทศไอร์แลนด์ ได้ติดตั้ง Split Scimitar Winglets ซึ่งเป็นปลายปีกรูปแบบใหม่บนเครื่องบินซึ่งดีไซน์ปลายปีกรูปแบบใหม่นี้ จะช่วยลดแรงต้านที่เกิดขึ้นระหว่างทำการบินได้ ทำให้สายการบินสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงลงได้ถึง 5% หรือคิดเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงได้สูงถึงปีละ 65 ล้านลิตรและลดการปล่อยคาร์บอนได้มากถึงปีละ 165,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ทางด้านสายการบิน SWISS เป็นสายการบินแรกของโลกที่ได้ติดตั้งเทคโนโลยีฟิล์ม AeroSHARK บนพื้นผิวลำตัว (fuselage) และกระเปาะเครื่องยนต์ (engine nacelles) ของเครื่องบิน BOEING 777-300ER ซึ่งฟิล์ม AeroSHARK จะช่วยลดแรงเสียดทานบนพื้นผิวของเครื่องบินระหว่างทำการบินได้ ทำลดการใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 1% ประหยัดเชื้อเพลิงได้สูงถึง 4,800 ตันต่อปี และลดปล่อยคาร์บอน ได้มากถึงปีละ 15,200 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

3.ให้บริการบนเครื่องด้วยบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

สายการบิน SINGAPORE AIRLINES เริ่มทดลองใช้ภาชนะบรรจุอาหารกระดาษที่ผ่านการรับรองจากองค์กรพิทักษ์ป่าไม้ (Forest Stewardship Council หรือ FSC) ให้บริการผู้โดยสารในชั้นประหยัดและชั้นประหยัดบริการพิเศษของบางเที่ยวบิน เพื่อลดการใช้ภาชนะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง 

ส่วนสายการบิน Alaska ยกเลิกการใช้แก้วน้ำพลาสติกบนทุกเที่ยวบินเป็นสายการบินแรกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถลดขยะแก้วน้ำพลาสติกได้มากถึงปีละกว่า 55 ล้านใบ นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 สายการบินได้เริ่มปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ขวดน้ำพลาสติกมาเป็นบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษที่ผลิตจากพืชในอัตราส่วนที่มากถึง 92% ซึ่งสามารถลดขยะขวดน้ำพลาสติกได้มากถึงปีละ 2 ล้านขวด และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้มากถึง 36%

4. เปลี่ยนอุปกรณ์ภาคพื้น

ทางด้านอุปกรณ์หรือยานพาหนะที่ใช้ภารพื้น สายการบิน JAPAN AIRLINES ได้เริ่มใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าสำหรับงานบริการภาคพื้นในสนามบินหลายแห่งของประเทศญี่ปุ่น เพื่อแทนที่ยานพาหนะแบบเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล 

นอกจากนี้ยังมีการใช้เชื้อเพลิงดีเซลทางเลือก เช่น B-30 (ผสมเชื้อเพลิงไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้วจากการประกอบอาหารในอัตราส่วน 30% กับเชื้อเพลิงดีเซลปกติ) ที่สนามบินคุมาโมโตะ และ B-100 (เชื้อเพลิงไบโอดีเซลร้อยละ 100) ที่สนามบินนาริตะ เป็นต้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ภาคพื้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์” ในปี 2050

นอกจากนี้ บางสายการบินยังได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน อย่าง โปรแกรม Greenliner ของสายการบิน ETIHAD ที่เน้นการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายพันธมิตรในอุตสาหกรรมการบิน เพื่อร่วมกันดำเนินงานและขับเคลื่อนความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบินทั้งระบบ ปัจจุบันเครือข่ายพันธมิตรที่เข้าร่วมโปรแกรมนี้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 25 หน่วยงาน ซึ่งในจำนวนนี้รวมไปถึงบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกอย่างโบอิ้ง และบริษัทผลิตเครื่องยนต์เครื่องบินอย่าง General Electric หรือ GE
เครื่องบิน BOEING 787-10 DREAMLINER ของสายการบิน ETIHAD ในลวดลายพิเศษ “Greenliner” ซึ่งสายการบินรับมอบเครื่องบินลำนี้เมื่อปลายเดือนมกราคม 2020 โดยเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับเที่ยวบินส่งมอบ (delivery flight) ได้มีการผสม SAF ในอัตราส่วน 30% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด

นอกจากนี้นังมีโครงการ ANA Future Promise” ของสายการบิน ANA เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยเป้าหมายสำคัญคือลดการปล่อยคาร์บอนการบินสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050

กิจกรรมที่ทำไปแล้ว เช่น การใช้ SAF การใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากกระดาษเพื่อลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง พร้อมเสิร์ฟอาหารที่ทำมาจากพืช (plant-based food) บนเที่ยวบิน และเปลี่ยนสื่อสิ่งพิมพ์บนเที่ยวบินให้เป็นรูปแบบดิจิดัลเพื่อลดการใช้กระดาษ เป็นต้น

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ