svasdssvasds

การศึกษาใหม่ชี้ ที่อยู่อาศัยของช้าง 2 ใน 3 ทั่วเอเชียหายไปแล้ว เพราะมนุษย์

การศึกษาใหม่ชี้ ที่อยู่อาศัยของช้าง 2 ใน 3 ทั่วเอเชียหายไปแล้ว เพราะมนุษย์

บ้านของช้างเริ่มหายไปเรื่อย ๆ ผลพวงจากมนุษย์ รุกรานที่อยู่อาศัยของมัน การศึกษาใหม่ชี้ เราต้องเร่งช่วยกันฟื้นฟูที่อยู่อาศัยช้างเอเชียด่วน ก่อนพวกมันจะหายไปตลอดกาล

ยิ่งเป็นพี่ตัวโต พื้นที่วิ่งเล่นก็ต้องกว้างขึ้น แต่ในโลกปัจจุบัน แม้แต่ที่กินที่นอนยังหายาก มันคับแคบเกินไปแล้วหรือเปล่า? ผลการศึกษาใหม่ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เผยว่า ช้างเอเชียสูญเสียที่อยู่อาศัยเกือบ 2 ใน 3 เป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่าเป็นเวลายาวนานต่อเนื่องหลายร้อยปี และมนุษย์ขยายการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น

ช้างเอเชียพบได้ใน 13 ประเทศทั่วทวีปเอเชีย และถูกระบุว่าเป็นสัตว์เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ พื้นที่ป่าและทุ่งหญ้าวิ่งเล่นของพวกมันถูกกัดกินหายไปมากกว่า 64% ซึ่งคิดเป็น 3.3 ล้านตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปีค.ศ. 1700

ช้างเอเชีย Cr. Pixarbay นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบว่าการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างช้างกับมนุษย์ เราอาจเห็นช้างบุกรุกบ้านของมนุษย์มากขึ้นหรือพื้นที่สวนผักของชาวบ้านสักคน ที่นำไปสู่การสู้กลับด้วยรั้วไฟฟ้าเพื่อให้พวกมันรู้ว่าอาหารเหล่านี้มีเจ้าของ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่อยู่อาศัยของช้างที่ลดลงมากที่สุดคือประเทศจีน ซึ่งคิดเป็น 94% ของที่ดินของช้างที่หายไประหว่างปีค.ศ.1700-2015 ตามด้วยประเทศอินเดียที่ช้างสูญเสียที่อยู่อาศัยไป 86%

ในขณะเดียวกัน ที่อยู่อาศัยของช้างลดลงมากกว่าครึ่งในบังคลาเทศ ไทย เวียดนาม และสุมาตราของอินโดนีเซีย ภูฏาน เนปาล และศรีลังกา

ช้างในศรีลังกา Cr. Pixarbay งานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งนำโดย นักชีววิทยาและนักวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์ เชอร์มิน เดอ ซิลวา ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก จึงมองว่านี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างด่วน ๆ เพื่อฟื้นฟูสายพันธุ์สัตว์ใหญ่เหล่านี้

นอกจากนี้ การสูญเสียที่อยู่อาศัยของช้างเอเชีย ยังมีส่วนมาจากทางการเมืองด้วย ในช่วงเกิดการลี้ภัยของชาวโรฮิงญาในปี 2018 ผู้ลี้ภัยหลายพันคนเดินทางมาจากเมียนมาร์มาถึงบังคลาเทศซึ่งเป็นประเทศใกล้เคียง เพื่อหลบหนีการปราบปรามของทหาร

ทำให้มีผู้คนประมาณ 1 ล้านคนมาอาศัยอยู่ที่ค่ายลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก Cox’s Bazar ซึ่งครั้งหนึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นป่าขนาดใหญ่ที่มีช้างอาศัยอยู่

โดยทั่วไปแล้วช้างมีอายุยืนและปรับตัวได้ดี ดังนั้นเมื่อพวกมันสูญเสียบ้าน พวกมันก็ต้องหาบ้านใหม่ แต่พื้นที่คุ้มครองหรือพื้นที่ป่าที่เหลือในเอเชียดูเหมือนจะมีขนาดที่เล็กกว่าเดิมและมีแนวโน้มที่จะลาดชันและสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น พวกมันจะลดจำนวนลงเนื่องจากอาหารไม่เพยงพอหรือไม่ก็อพยพเข้ามายังชุมชนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างช้างกับมนุษย์อย่างไม่จบสิ้น

ลูกช้างเอเชีย Cr. Pixarbay ดังนั้น วิธีแก้ของทีมวิจัยจึงมองว่า เราควรให้ความสำคัญของการระบุและเชื่อมโยงแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมเพื่อเชื่อมพื้นที่ป่าให้ต่อเนื่องกันจากแห่งหนึ่งไปแห่งหนึ่งได้อย่างปลอดภัย รวมถึงสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานเพื่ออนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยช้าง

ที่มาข้อมูล

CNN

One Green Planet

related