svasdssvasds

ทำไมจีน Food Waste มากที่สุดในโลก? ส่องวัฒนธรรม "การกิน" ที่ฝังรากลึกในสังคม

ทำไมจีน Food Waste มากที่สุดในโลก? ส่องวัฒนธรรม "การกิน" ที่ฝังรากลึกในสังคม

เรื่องกินเรื่องใหญ่! แต่ปัญหาขยะอาหาร ก็สำคัญเช่นกัน จีน เริ่มสำรวจปริมาณขยะอาหาร 30 เมืองทั่วประเทศแล้ว เพื่อเก็บข้อมูลมาใช้วางนโยบายจัดการ Food Waste หลังรั้งอันดับ 1 ประเทศที่สร้างขยะอาหารมากที่สุดในโลกมาหลายปี Spring News ชวนย้อน "การกิน" ของคนจีน

จาก “เหลือดีกว่าขาด” สู่ “กินให้หมดอย่าให้เหลือ” จีนขึ้นจ่าฝูงอยู่ทุกปี เรื่องสร้างปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) มากที่สุดในโลก โดยในปี 2022 จีนมีปริมาณขยะอาหารสูงถึง 91 ล้านตัน ทิ้งห่างแดนภารตะที่มีปริมาณขยะอาหาร 68 ล้านตันแบบไม่เห็นฝุ่น

สาเหตุที่ปริมาณขยะจากอาหารของชาวจีนพุ่งสูงนั้น ประกอบไปด้วยหลายเหตุผล ทว่า หนึ่งในแกนหลักสำคัญที่เป็น “ไข่แดง” เลยคือ รากวัฒนธรรมการกิน ที่ชอนไชสังคมจีนมาอย่างยาวนาน รวมถึงเทรนด์การบริโภคอาหารตามอินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์ ซึ่งถูกแพร่กระจายและเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

10 อันดับประเทศที่สร้าง Food Waste มากที่สุดในโลก จีนรั้งอันดับ 1 Cr. Statista

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ล่าสุด จีนประกาศเดินหน้าสำรวจปริมาณขยะอาหาร (Food Waste) เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการออกนโยบาย ที่สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้แบบมีประสิทธิภาพ

เบื้องต้น จะปักหมุดที่ 30 เมืองใหญ่ทั่วประเทศ แล้วสรุปผลการสำรวจในวันที่ 10 ม.ค. 67 จากนั้นจะขยายไปเป็น 100 เมืองในลำดับต่อไป

ต้นตอขยะอาหารในจีน

ข้อมูลจาก  สถาบัน Geographic and National Resources Research and the World Wide Fund for Nature ระบุไว้ว่า จีนทิ้งอาหารมากกว่า 35 ล้านตัน หรือราว 6% ของปริมาณการผลิตอาหารทั้งหมดในประเทศ แบบเปล่าประโยชน์ ซึ่งหากกดเครื่องคิดเลขหารเฉลี่ยกับจำนวนประชากรแล้ว อาหารจำนวนนั้นสามารถเลี้ยงปากท้องได้ราว 30 ถึง 50 ล้านคน

อาหารเหลือทิ้งในจีนสามารถแบ่งให้คนกินได้อีก 30 ถึง 50 ล้านคน Cr. Rawpixel

กาววัฒนธรรม” กล่าวคือ การกินของจีนถูกยึดโยงเข้ากับวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมาอย่างแยกไม่ออก หากใครเติบโตมาในครอบครัวคนจีนก็จะเข้าใจบรรยากาศในห้องอาหารเป็นอย่างดี เจ้าบ้านจะสั่งอาหารในปริมาณมาก ๆ ให้กับแขกเหรื่อ เพราะเชื่อว่า “เหลือดีกว่าขาด

ในแง่หนึ่ง อาหารสามารถเป็นหน้าเป็นตาสะท้อนภาพลักษณ์ที่ชาวจีนมองกันและกัน ยิ่งสั่งเยอะเท่าไร บทสนทนาบนโต๊ะก็จะเป็นไปด้วยความราบรื่น อัธยาศัยดี

"กินเหลือ ดีกว่าขาด" Cr. University of the Pacific

ทว่า...

แม้อาหารจะเลิศรสเพียงใด แต่เมื่อท้องอิ่ม จะให้ยัดยังไงก็ยัดไม่ลงแล้ว เพราะแน่นท้องไปหมด ทำให้อาหารที่ถูกสั่งมาเต็มโต๊ะจำต้องกลายเป็นขยะอาหาร (Food Waste) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากการสำรวจในปี 2018 ซึ่งเก็บข้อมูลจากหลายเมืองในจีน ระบุว่า ใน 1 มื้อ คนจีนบริโภคอาหารเหลือคนละ 93 กรัม คิดเป็น 12% ของอาหารที่สั่งมา

ไม่หมดเพียงเท่านี้ ในโลกออนไลน์จะพบว่า ชาวจีนหันมาผลิตคอนเทนท์ด้านอาหารมากขึ้น เกิดเป็นเทรนด์ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก

เทรนด์การบริโภคอาหารที portion ใหญ่ ๆ Cr. Ga Relax

เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ด้านอาหารในจีน มีภาพจำว่าต้องยัดอาหารจำนวนมากลงไปในท้อง จนได้รับฉายาในทำนองว่า “ราชากินจุ” ซึ่งต้องยอมรับว่า ผู้เสพสื่อสามารถถูกโน้มน้าวให้ทำตาม หรือบริโภคอาหารตามเทรนด์โดยไม่จำเป็น

จีนรั้งอันดับ 1 สร้าง Food Waste มากที่สุดในโลก

ด้วยรากวัฒนธรรม และเทรนด์การบริโภคอาหารจากอินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์ ที่มีส่วนสำคัญในการผลิตสร้างการบริโภคอาหารอย่างไม่จำเป็น ทำให้จีนกลายเป็นจ่าฝูง สำหรับประเทศที่บริโภคอาหารได้สิ้นเปลืองที่สุดในโลก สูงถึง 91 ล้านตันต่อปี (The Economic Times)

จีนสั่งสำรวจปัญหา Food Waste นำร่องก่อน 30 เมือง Cr. Flickr / Taz

เป็นตัวเลขที่ไม่น่าอภิรมย์นักสำหรับจีน แม้ปัจจุบันจะใช้วิธีที่รักษ์โลกเข้ามาช่วยจัดการปัญหาขยะอาหาร (food waste) มากขึ้นแล้ว อาทิ การฝังกลบอย่างถูกลักษณะ การย่อยแบบไม่ใช้ออกซิเจน การทำปุ๋ยหมักแบบใช้ออกซิเจน เป็นต้น แต่ก็ยังไม่สามารถลด “มหกรรมการกิน” ของคนในประเทศได้ ตัวเลข food waste ยังพุ่งสูงอยู่ทุกปี

“กินให้หมด อย่าให้เหลือ”

จึงเกิดเป็นที่มาของการเริ่มออกแคมเปญในประธานาธิบดี “สี จิ้น ผิง” ในชื่อ “Clean Plate Campaign” หรือ “กินให้หมด อย่าให้เหลือ” ซึ่งเป็นการท้าทายอัตลักษณ์ความเป็นจีนครั้งใหญ่กับวัฒนธรรมที่ชอนรากลึกในสังคมมาอย่างยาวนาน

แคมเปญ "กินให้หมด อย่าให้เหลือ" Cr.

การทิ้งขยะมันน่าละอายมาก และการประหยัดเป็นสิ่งที่น่านับถือ” สี จิ้น ผิง กล่าวถึงปริมาณขยะอาหารในประเทศที่พุ่งแตะอันดับ 1

ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง Cr. Reuters

แน่นอนว่ามีคนที่รู้สึกตื่นเต้นกับแคมเปญครั้งนี้ของผู้นำ ทว่า คนที่ออกมาสู้รบปรบมือก็มืออยู่ไม่น้อย บ้างบอกว่า แคมเปญ “กินให้หมด อย่าให้เหลือ” เก็บไปบอกพวกคนรวยเถอะ เพราะพวกเรา (คนจน) กินใช้สอยกันอย่างประหยัดอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) ในจีนยังคงดำเนินต่อไป อย่างที่กล่าวไปว่า เชือกเส้นใหญ่ที่คอยรั้งจีนเอาไว้เองนั่นคือ “วัฒนธรรม” ที่ผลิตสร้างความเชื่อส่งต่อกันมา รวมถึงเทรนด์การบริโภคในสมัยใหม่ของบุคคลมีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ก็มีส่วนเช่นกัน

ต้องรอดูว่า ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของจีน จะสามารถช่วยลดปัญหาขยะอาหารในประเทศได้มากน้อยแค่ไหน เบื้องต้น ปักเดตไลน์ความคืบหน้าไว้วันที่ 10 ม.ค. 67 จากนั้นจะเริ่มขยายไปยังเมืองใหญ่ ๆ 100 เมืองทั่วประเทศ

 

 

ที่มา: Earth.org , Xinhua 

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related