svasdssvasds

แผ่นดินไหวดอยสะเก็ด เกิดจากรอยเลื่อนแม่ทา ห่วงกระทบอาคารเก่า-โบราณสถาน

แผ่นดินไหวดอยสะเก็ด เกิดจากรอยเลื่อนแม่ทา ห่วงกระทบอาคารเก่า-โบราณสถาน

หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุ แผ่นดินไหวดอยสะเก็ดวันนี้ (20 ต.ค. 2565) เกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา มีการเลื่อนตัวตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา อาจส่งผลกระทบกับอาคารเก่าหรือโบราณสถานที่เป็นอิฐได้

หลังจากที่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเกิดเหตุแผ่นดินไหวดอยสะเก็ด ความแรงขนาด 4.1 ความลึก 2 กม. จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกสั่น ไหวบริเวณ อ.สันกำแพง อ.แม่ริม อ. ดอยสะเก็ด อ.เมืองเชียงใหม่ และ อ.บ้านธิ อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน และ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ขณะที่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประชาชนต่างรับรู้แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในครั้งนี้ได้

จากการสอบถามไปยัง รศ.ชูโชค อายุพงศ์หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาคเหนือจะมีรอยเลื่อนกลุ่มพะเยาและรอยเลื่อนเถิน ส่วนเหตุการณ์ แผ่นดินไหวดอยสะเก็ด เป็นกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา  โดยครั้งนี้ได้เกิดแผ่นดินไหวก่อนครั้งแรกเมื่อเวลา 01.39 น. ความรุนแรงขนาด 2.3 ที่ ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.แพร่ และ เวลา 03.26 น. ขนาด 1.5 ที่ ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนเถิน

รศ.ชูโชค อายุพงศ์หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้แจง แผ่นดินไหวดอยสะเก็ด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลังจากนั้นเวลา 04.36น. เกิดแผ่นดินไหวดอยสะเก็ด โดยจุดศูนย์กลางตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ วัดได้ขนาด 4.1  ความลึก 2 กม. ซึ่งเท่าที่สังเกตพบว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวมีความถี่มากขึ้น โดยความรุนแรงขนาดที่เกิน 4 แมกนิจูด นั้น เมื่อปี 2563 ได้เกิดที่ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม แต่ความลึกมากกว่า แทบจะไม่มีผลกระทบ แต่ในครั้งนี้ความลึกตื้นกว่า ทำให้รับรู้แรงกระแทกได้อย่างชัดเจนครอบคลุมในพื้นที่บางอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน

แผ่นดินไหวดอยสะเก็ด เกิดจากรอยเลื่อนแม่ทา

สำหรับแผ่นดินไหวดอยสะเก็ดในครั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้เกิดกับอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ เพราะส่วนใหญ่จะมีการก่อสร้างตามมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง  ส่วนใหญ่สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ถึง 7 แมกนิจูด แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับอาคารเก่าที่มีการสร้างมาเป็นระยะเวลานาน และโบราณสถานที่เป็นอิฐ เมื่อเกิดแรงกระแทกในครั้งนี้จะเป็นการเขย่าให้เจดีย์ที่เป็นอิฐนั้น อาจจะต้องเข้าไปเฝ้าระวัง และตรวจสอบ ซึ่งในครั้งนี้ถือว่าโชคดีที่ระยะเวลาเกิดแผ่นดินไหวแค่ 1-3 วินาที และความแรงยังไม่ถึง 5 แมกนิจูด จึงยังไม่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่ขณะนี้ทุกหน่วยงานก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกันแล้ว แต่เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย

เช่นเดียวกับกรมทรัพยากรธรณี ระบุ เหตุแผ่นดินไหวดอยสะเก็ด จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างเล็ก เกิดจากการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา ที่วางตัวในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีการเลื่อนตัวตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา 

แผ่นดินไหวดอยสะเก็ด เกิดจากรอยเลื่อนแม่ทา ห่วงกระทบอาคารเก่า-โบราณสถาน

สำหรับรอยเลื่อนแม่ทา

ถือเป็น 1 ใน 14 รอยเลื่อนที่ยังมีพลังในประเทศไทย โดยรอยเลื่อนนี้มีแนวเป็นรูปโค้งตามแนวลำน้ำแม่วอง และแนวลำน้ำแม่ทา พาดผ่านในอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 55 กิโลเมตร จากการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (2523) พบว่า ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของการศึกษาในปี พ.ศ. 2521 มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิด ในระดับตื้นอยู่มากมายในบริเวณรอยเลื่อนนี้ และเคยเกิดแผ่นดินไหวที่อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ขนาด 5 เมื่อปี 2550

ขณะที่กรมทรัพยากรธรณี เคยขุดร่องสำรวจในพื้นที่ บ้านโป่งสามัคคี ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ พบหลักฐานที่จารึกไว้ในชั้นดินว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 มาแล้วเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว

แผ่นดินไหวดอยสะเก็ด เกิดจากรอยเลื่อนแม่ทา

ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี เมื่อปี 2555 ระบุว่า รอยเลื่อนในประเทศไทย ที่ยังมีพลังทั้งสิ้น 14 รอยเลื่อน ประกอบด้วย

1.รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงราย และ เชียงใหม่

2.รอบเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย

3.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก

4.รอยเลื่อนเมย พาดผ่าน จ.ตาก และ จ.กำแพงเพชร

5.รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่านจ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.เชียงราย

6.รอยเลื่อนเถิน พาดผ่าน จ.ลำปาง และ จ.แพร่

7.รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.พะเยา จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง

8.รอยเลื่อนปัว พาดผ่าน จ.น่าน

9.รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่าน จ.อุตรดิตถ์

10.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี

11.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.อุทัยธานี จ.ตาก

12.รอยเลื่อนระนอง พาดผ่าน จ. ระนอง จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.พังงา

13.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ และ จ.พังงา

14.รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่าน จ.เพชรบูรณ์

เหตุการณ์ แผ่นดินไหวในไทย มีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนมีพลังจำนวน 14 แนว โดยความรุนแรงขนาดเกิน 5.0 เกิดขึ้นจำนวน 9 ครั้ง โดยมีขนาดสูงสุดอยู่ที่ขนาด 5.9 เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 ที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี มีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนั้นก็รับรู้ได้ในวงกว้าง

 

related