svasdssvasds

พายเรือเพื่อบางปะกง กิจกรรมเก็บขยะ 8 วัน ที่ทำให้รู้ว่า แม่น้ำกำลังร้องไห้

พายเรือเพื่อบางปะกง กิจกรรมเก็บขยะ 8 วัน ที่ทำให้รู้ว่า แม่น้ำกำลังร้องไห้

"พายเรือเพื่อบางปะกง" กิจกรรมพายเรือเก็บขยะ 8 วันในแม่น้ำบางปะกงของอาจารย์ปริญญา ได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว ขยะที่เก็บได้มีจำนวนเยอะมาก จนทำให้เรารู้ว่า แม่น้ำของไทยกำลังแย่

ปัญหาขยะ เป็นมลพิษที่ร้ายแรงต่อสายน้ำอย่างมากและเป็นมานานแล้วหลายร้อยปี เราจะเห็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจนที่สุดก็เมื่อถึงเทศกาลลอยกระทง และผลที่ตามมาของกระทงที่ลอยไป โดยเฉพาะในปีนี้ที่ยังคงมีปริมาณขยะกระทงจำนวนมหาศาลและส่งผลให้สัตว์น้ำลอยตายจำนวนมาก แม้จะมีการสร้างขยะในลำน้ำภายในไม่กี่วันต่อปีเท่านั้น แต่แม่น้ำก็ไม่เคยได้รับการเคารพบูชาเลยสักนิด เพราะทุกวันและทุกปี ยังคงมีขยะล่องลอยอยู่ในแม่น้ำเสมอ และเยอะมากด้วย

ถ้าถามว่าแม่น้ำมีขยะเยอะมากขนาดไหน บทความนี้จะพาไปสำรวจขยะในแม่น้ำกัน

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการโครงการฯ และประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า อาจารย์ ปริญญา ได้จัดกิจกรรม “พายเรือเพื่อบางปะกง” โดยใช้เวลาจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 8 วัน ในการพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำ บริเวณเส้นแม่น้ำบางปะกงไปจนถึงปากอ่าวไทย และได้เสร็จสิ้นกิจกรรมลงเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการโครงการฯ และประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

กิจกรรมหลัก ๆ คือการพายเรือเก็บขยะตั้งแต่ต้นแม่น้ำไปยังปากอ่าวไทย โดยมีเป้าหมายเดินทาง 8 วัน รวมระยะทางทั้งสิ้น 240 กิโลเมตร มีการเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาแม่น้ำ พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนไม่ทิ้งขยะและปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำไปพร้อมกันด้วย

โดยมีกลุ่มจิตอาสาหลายทีม คือกลุ่มพายเรือเพื่อเจ้าพระยา กลุ่มภาคีบางปะกง และกองเรือธรรมศาสตร์fleet ชมรมเรือคายัคหลังสวน นำเรือคายัคมาร่วมเก็บขยะรวมถึงกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนบางปะกง "บวรวิทยายน" มาร่วมเป็นจิตอาสาเก็บคัดแยกขยะด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แม่น้ำต้องพบเจออะไรบ้าง?

ในช่วง 8 วันที่ผ่านมาเราเก็บขยะไปได้ทั้งสิ้น 2,000 กว่ากิโลกรัม โดยประเภทขยะที่พบมากที่สุด คือ ขวดพลาสติก กล่องโฟม และถุงขยะตามบ้านเรือนที่ทิ้งลงแม่น้ำ ซึ่งแค่ 8 วันก็ได้ขยะมากขนาดนี้ และถ้าเป็น 8 ปีจะขนาดไหน?

แกลลอนเคมีภัณฑ์การเกษตร

ขยะจำนวนหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเจอตามลำน้ำได้ หนึ่งนั้นมีแกลลอนและกระป๋องยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ของสารเคมีอันตรายโดยเฉพาะแต่กลับลงมาอยู่ในลำน้ำได้อย่างง่ายดาย ซึ่งพิกัดที่พบเจอเยอะสุดคือ แม่น้ำบางปะกงช่วงระหว่างอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี กับ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา

ทุกวันนี้ อาหารในแต่ละมื้อของเรา มักจะประกอบไปด้วยปลากุ้งที่มาจากแม่น้ำ ทานมาก ทานน้อยว่ากันไป แต่สารที่ปนเปื้อนอยู่ในแม่น้ำ ส่งผลต่อสัตว์น้ำที่เราจับไปทานอย่างแน่นอน อีกทั้ง น้ำประปาบางครัวเรือนก็มาจากแม่น้ำด้วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์นักบริโภคอย่างเราแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ อาจารย์ปริญญาจึงมองว่า นี่คงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยตายด้วยโรคมะเร็งจำนวนมาก โดยเฉพาะปีที่แล้ว (2564) ที่มีคนตายด้วยโรคมะเร็งมากถึง 120,000 คน เพราะสิ่งที่เราทาน เราไม่สามารถมองเห็นสารปนเปื้อนที่ผนมากับอาหารเหล่านี้ได้

อาจารย์ปริญญากล่าวว่า แม่น้ำปราจีนบุรีกับแม่น้ำบางปะกงเป็นแม่น้ำสายเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราพบเห็นขยะจำนวนมาก ขยะเหล่านี้เมื่อลงสู่แม่น้ำก็จะไหลไปลงฉะเชิงเทราและออกอ่าวไทย เราทำกิจกรรมนี้เพื่อบอกว่าเราทนไม่ได้แล้วที่ประเทศไทยมีขยะ ซึ่งปล่อยสู่ทะเลมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และ 1 สายน้ำทั้ง 5 ที่ปล่อยขยะมากที่สุดในประเทศคือ แม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งต้องรีบแก้ไขและร่วมมือกันทุกภาคส่วน

ปริมาณขยะที่พบในแต่ละวันเยอะมาก

ผลกระทบของขยะต่อลำน้ำ ที่ไม่ใช่แค่แม่น้ำสายเล็ก ๆ

ขยะเหล่านี้ไม่เพียงแค่เพิ่มความเสี่ยงให้กับสิ่งแวดล้อมและชีวิตของมนุษย์เราเท่านั้น จุดเริ่มต้นของขยะเหล่านี้มาจากครัวเรือนริมน้ำ ประชาชนที่ทิ้งขยะลงน้ำ รวมถึงขยะที่ปลิวว่อนมาจากบนบก หรือหลุดลอดออกมาจากหลุมฝังกลบขยะ ปลายทางท้ายที่สุดของขยะเหล่านี้คือปากอ่าวไทย หรือก็คือ ทะเลอันกว้างใหญ่ที่มีสิ่งมีชีวิตมากมายอาศัยอยู่

ต้นทางของขยะไม่ใช่เพียงแค่มาจากครัวเรือนประชาชน แต่จากการสำรวจยังมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ร้านค้า และโรงเรียน หรือศูนย์ให้บริการต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งยังคงมีการจัดการอย่างไม่เหมาะสม และถูกปล่อยปละละเลยมาตลอด และท้ายที่สุดขยะเหล่านี้จะยังคงวนเวียนอยู่บนโลก และห่วงโซ่อาหารทั้งของมนุษย์ พืชและสัตว์  

พายเรือเพื่อบางปะกง กิจกรรมเก็บขยะ 8 วัน ที่ทำให้รู้ว่า แม่น้ำกำลังร้องไห้

ในแต่ละปีเรามีขยะจำนวนหลายล้านตัน ที่มาจากในประเทศและต่างประเทศ ขยะเหล่านี้ไม่ได้อยู่นิ่งและไม่ได้สร้างมูลค่ามากมายขนาดนั้น แต่สามารถไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้จากการนำไปรีไซเคิล แต่เชื่อหรือไม่ว่า จำนวนขยะในปัจจุบัน มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นเท่านั้นที่จะสามารถไปถึงกระบวนการรีไซเคิลได้ โดยส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการทิ้งขยะที่ไม่ถูกที่ถูกทางและ และการไม่แยกขยะกันตั้งแต่ต้นทาง

ดังนั้น Springnews ในคอมลัมน์ Keep The World จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านทุกท่าน มาร่วมกันแยกขยะกันตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้พี่ ๆ นักเก็บขยะ สามารถนำไปแยกได้อย่างง่ายดาย เพราะหากไม่แยกไปตั้งแต่ต้นทาง ขยะที่เราทิ้งอาจมีการปนเปื้อนกับสิ่งปฏิกูลได้ ซึ่งจะไม่สามารถส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลได้ในท้ายที่สุด

และกรุณาทิ้งขยะให้ถูกที่ ถูกถัง ช่วยกันคัดแยกขยะ หรือหากอยากคัดแยกส่งรีไซเคิลโดยตรง โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าขยะจะหลุดลอดออกจากกระบวนการกำจัด ก็สามารถส่งไปได้ที่ N15 Technology, โครงการวน (won) , Green Road และอื่น ๆ อีกมากมาย หรือใครสนใจอยากศึกษาการแยกขยะเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ที่ กลุ่ม Facebook page : แยกขยะกันเถอะ (กลุ่มใหม่) ก็ย่อมได้

มาหยุดเท หยุดทิ้ง หยุดโลกร้อน ไปพร้อมกันนะ

related