svasdssvasds

ปี 2566 ไฟไหม้บ่อขยะในไทยแล้วกว่า 4 ครั้ง ซ้ำเติมปัญหาฝุ่นควันให้รุนแรงขึ้น

ปี 2566 ไฟไหม้บ่อขยะในไทยแล้วกว่า 4 ครั้ง ซ้ำเติมปัญหาฝุ่นควันให้รุนแรงขึ้น

ฝุ่นว่าแย่แล้ว บ่อขยะยังเกิดไฟไหม้บ่อยอีก คพ. เตือนเฝ้าระวัง ปี 66 นี้ตั้งแต่เปิดปีมาเดือนมกราคม ไทยก็เกิดไฟไหม้บ่อขยะแล้ว 4 ครั้ง หวั่นกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

มลพิษฝุ่นควันกำลังคลุ้งเมืองกรุง แต่นอกจากปัจจัยที่มาจากการเผาทางการเกษตรรอบกรุงแล้ว รู้หรือไม่ว่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ บ่อขยะในไทยก็เกิดไฟไหม้อยู่บ่อยครั้งถึง 4 ครั้งแหนะ ยิ่งเพิ่มมลพิษฝุ่นควัน โดยเฉพาะ PM 2.5 ให้สะสมมากขึ้นและอันตรายยิ่งกว่าคือสารเคมีที่ถูกเผาออกมา

ไฟไหม้บ่อขยะ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) เปิดเผยว่า เริ่มปี 2566 เดือนมกราคม มีเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะมาแล้ว 4 ครั้ง ในพื้นที่ที่กระจายออกไปทั่วไทย

โดยครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มกราคม เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะในพื้นที่ ดงสีบู ตำบลไก่คำ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นบ่อฝังกลบขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดอำนาจเจริญ ในพื้นที่ 95 ไร่ เกิดจากคนเก็บขยะคัดแยกของเก่าเผาซากสายไฟเพื่อเอาทองแดงบริเวณใกล้บ่อขยะ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มกราคม เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่พักขยะเก่าในพื้นที่ของเทศบาลเมืองเพชรบุรี ที่ตั้งอยู่พื้นที่ใจกลางเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ไม่ทราบสาเหตุ

 

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม เกิดเพลิงไหม้บ่อขยะของเทศบาลนครขอนแก่น บ้านคำบอน ตำบลโนนท่อน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ไม่ทราบสาเหตุ

และครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 30 มกราคม เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะของบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด (ตำบลแพรกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ) ที่ดำเนินธุรกิจกำจัดขยะชุมชนโดยนำขยะมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทน อยู่ระหว่างการสืบสวนหาสาเหตุ ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวไปถึงช่วงฤดูร้อน จะเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะได้ง่ายในทุกพื้นที่

ไฟไหม้บ่อขยะ

การเกิดไฟไหม้บ่อขยะบ่อยครั้งแบบนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่อาจอันตรายต่อชุมชนใกล้เคียงทั้งในเรื่องของสารเคมี และไฟลามทุ่ง

นางสาวธีราพร วิริวุฒิกร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการกากของเสียและสารอันตราย ยังกล่าวอีกว่า ไฟไหม้บ่อขยะทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทั้ง PM10 และ PM2.5 และก๊าซพิษอื่นๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไฮโดรเจนคลอไรด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นต้น

รวมทั้งอาจมีน้ำเสียจากการดับเพลิงไหลล้นสู่พื้นที่ใกล้เคียงหรือแหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ บางกรณีต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงอันตราย ซึ่งต้องใช้งบประมาณ เครื่องมืออุปกรณ์และเจ้าหน้าที่จำนวนมากในการจัดการระงับเหตุ การดูแลสุขภาพประชาชน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) นายปิ่นสักก์ย้ำว่า เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว คพ. จึงขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้มงวดในการดำเนินมาตรการป้องกันเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่บ่อขยะที่รับผิดชอบ และป้องกันต้นเพลิงที่อาจเกิดจากความประมาทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่างๆ เช่น ควรกลบทับขยะด้วยดินทุกวัน ห้ามสูบบุหรี่หรือก่อกองไฟหรือเผากำจัดขยะหรือเศษกิ่งไม้ ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาคุ้ยเขี่ยขยะและเผาขยะเอาวัสดุมีค่า

จัดหน่วยเฝ้าระวังตรวจตราป้องกันการเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะและพื้นที่ใกล้เคียง จัดเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ภายในบ่อขยะ และขอความร่วมมือจากประชาชนที่อยู่โดยรอบบ่อขยะคอยสังเกต หากพบควันไฟหรือไฟไหม้ในบริเวณบ่อขยะให้รีบแจ้งหน่วยงานเจ้าของบ่อโดยเร็ว เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟจนเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงในพื้นที่

related