svasdssvasds

กรมทรัพยากรธรณี เปิดแผนระยะยาว รับมือ Hidden Fault ในอนาคต

กรมทรัพยากรธรณี  เปิดแผนระยะยาว รับมือ Hidden Fault ในอนาคต

กรมทรัพยากรธรณี ชี้ แผ่นดินไหวบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก จากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน หรือ Hidden Fault เผย แผนระยะยาว จะดำเนินการสำรวจแนวการวางตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดินบริเวณนี้ นำไปปรับปรุงพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวให้ชัดเจน

นายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร โฆษกกรม เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 00.17 น. ขนาด 4.5 ระดับความลึก 5 กิโลเมตร จุดเหนือศูนย์เกิดอยู่ตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก มีขนาดแผ่นดินไหวอยู่ในระดับแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างเล็ก (Light) จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน หรือ Hidden Fault (ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่าน 23 จังหวัด) แผ่นดินไหวขนาด 4.5 ครั้งนี้ ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนที่ประชาชนรับรู้ได้ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง และเกิดการร้าวของผนังอาคารในพื้นที่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โดยกรมทรัพยากรธรณี ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อประเมินผลกระทบ และได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมอุตุนิยมวิทยาติดตั้งเครื่องวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดินบริเวณโดยรอบจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว จำนวน 26 ตัว ภายหลังเกิดเหตุเพื่อติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวตาม (aftershock) โดยพบว่าปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณดังกล่าว

 

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault)ซึ่งรอยเลื่อนนี้อยู่นอกเหนือจาก 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง ทั้งนี้ Hidden Fault คือ รอยเลื่อนในชั้นหินใต้ดินที่ถูกปิดทับด้วยตะกอนในแอ่งตะกอนใหม่ รอยเลื่อนนี้ถูกซ่อนไว้ใต้ดิน ทำให้ไม่เห็นลักษณะที่สำคัญบ่งชี้ว่าเป็นตำแหน่งรอยเลื่อน”

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร เลย เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั่วไป ซึ่งการรับรู้ดังกล่าวอยู่ในความรุนแรงของแผ่นดินไหวระดับ 3-5 (เบามาก-ปานกลาง) ตามมาตราเมอร์คัลลี ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกได้ คนที่นอนหลับตกใจตื่น หน้าต่างประตูสั่น ผนังห้องมีเสียงลั่น รถยนต์ที่จอดอยู่สั่นไหว ไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างหลักของสิ่งก่อสร้าง โดยพบความเสียหาย ดังนี้

จังหวัดพิษณุโลก บ้านเรือนราษฎรมีรอยแตกร้าว ในพื้นที่อำเภอบางกระทุ่ม 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าตาลตำบลเนินกุ่ม (หมู่ 1,5,78,10) ตำบลวัดตายม (หมู่ 6,7,8) ตำบลไผ่ล้อม (หมู่ 4,11) จำนวน 22 หลัง โรงเรียน 1 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงพยาบาลบางกระทุ่ม พบร้อยร้าว 16 จุด

จังหวัดพิจิตร บ้านเรือนราษฎรมีรอยแตกร้าว ในพื้นที่อำเภอเมือง 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าฬ่อ                   (หมู่ 2,5,6,7) ตำบลปากทาง (หมู่ 1) ตำบลย่านยาว (หมู่ 1) จำนวน 16 หลัง วัด 1 แห่ง

ทั้งนี้ในระยะเร่งด่วน กรมทรัพยากรธรณี ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ ตรวจสอบและประเมินผลกระทบ ให้คำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมติดตั้งเครื่องวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดิน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์เพื่อประเมินพื้นที่ที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากภัยแผ่นดินไหวในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะนำไปสู่การแจ้งข่าวแผ่นดินไหวและหาแนวทางลดผลกระทบจากพิบัติภัยแผ่นดินไหวดังกล่าว

ในระยะยาว กรมทรัพยากรธรณี จะดำเนินการสำรวจแนวการวางตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดินบริเวณนี้ เพื่อนำไปปรับปรุงพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สำหรับเป็นข้อมูลให้กรมโยธาธิการและผังเมืองนำไปพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมการออกแบบอาคารและสิ่งก่อสร้าง ให้ต้านแรงแผ่นดินไหวได้อย่างเหมาะสมต่อไป

                

 

related