svasdssvasds

หวั่นเอลนีโญทำชาวนายิ่งจนซ้ำซาก ปฏิรูปการเกษตรตั้งแต่ต้นทาง คือ ทางรอด

หวั่นเอลนีโญทำชาวนายิ่งจนซ้ำซาก ปฏิรูปการเกษตรตั้งแต่ต้นทาง คือ ทางรอด

ปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้เกิตความแห้งแล้ง ฝนตกน้อยลง ทำน้ำไม่เพียงพอกับการเกษตร การเพาะปลูกทำให้ผลผลิตน้อยลง แล้วเราจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร? มาฟังคำแนะนำจาก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต

เอลนีโญ ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน และเกิดความแห้งแล้ง ทำให้ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างหนัก

หวั่นเอลนีโญทำชาวนายิ่งจนซ้ำซาก ปฏิรูปการเกษตรตั้งแต่ต้นทาง คือ ทางรอด ศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า ปัจจุบันชาวนาไทยกว่า 20 ล้านครัวเรือน มีความเป็นอยู่เหมือนยืนบนเส้นเชือกที่แกว่งไปมา และอาจจะขาดได้ทุกเวลาจากหลายๆ ปัจจัย ดังนี้

1. สถานะปกติ

เมื่อเส้นเชือกไม่แหว่ง แม้ในยามสภาพอากาศปกติ ชาวนา “ทำมาก ได้น้อย ยิ่งทำ ยิ่งจน” จากโครงสร้างราคาข้าว การจัดการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และผลผลิตที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศผู้ปลูกข้าวทั่วโลก สังคมไทยอาจจะดีใจ ภูมิใจ (เพียงชั่วครู่) กับการที่รัฐบาลประกาศว่าเราสามารถส่งออกข้าวเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แต่ทำไมชาวนายังยากจน มีหนี้สินล้นตัว รัฐบาลไม่เคยบอกเรื่องนี้กับสังคม เราส่งออกข้าวได้มาก เพราะเราใช้พื้นที่เพาะปลูกมากกว่าประเทศอื่น (กว่า 70 ล้านไร่ต่อปีทั้งนาปรัง และนาปี) และทำให้เราต้องใช้น้ำมากตามมาด้วย (ข้าว 1 ไร่ใช้น้ำประมาณ 1,500 ลบ.เมตร) โดยมีผลผลิตรวมประมาณ 32 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี  ในขณะที่ ผลผลิตต่อไร่โดยเฉลี่ยประมาณ 456 กก. (ต่ำกว่าผลผลิตเฉลี่ยโลก 503 กก.ต่อไร่ และต่ำกว่า 2-3 เท่าเทียบกับหลายๆประเทศผู้ปลูก และส่งออกข้าว เช่น เวียดนาม อินเดีย จีน ออสเตรเลีย เป็นต้น) ดังนั้นชาวนาไทยจึงทำงานหนักกว่าชาวนาประเทศอื่นๆ คือ “ทำมาก ได้น้อย”

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

2. สภาพอากาศแปรปรวนจากลานีญา

เมื่อเส้นเชือกแกว่งไปข้างซ้าย ปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้เรามีน้ำมากกว่าปกติ และอาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ตามมา เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2554 ชาวนาก็ปลูกข้าวมากขึ้น (กว่า 80 ล้านไร่ต่อปีทั้งนาปรัง และนาปี) ผลผลิตรวมจะเพิ่มขึ้นจากปกติ 32 เป็น 38 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี โดยเฉพาะนาปรัง (643 กก.ต่อไร่) ในขณะที่ข้าวนาปีก็จะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ผลผลิตต่อไร่จึงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ดังนั้น ชาวนา “ยิ่งทำ ยิ่งจน จนชั่วครั้ง จนชั่วครู่”

3. สภาพอากาศแปรปรวนจากเอลนีโญ

เมื่อเส้นเชือกแกว่งไปข้างขวา ปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เรามีน้ำน้อยกว่าปกติ และอาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ภัยแล้งตามมา เหมือนที่เคยเกิดขี้นในปี 2558-2559 และ 2562-2563 ชาวนาก็ปลูกข้าวน้อยลง (ประมาณ 60 ล้านไร่ต่อปีทั้งนาปรัง และนาปี โดยเฉพาะนาปรังลดลงจากปกติ 15 ล้านไร่เหลือ 5 ล้านไร่) ผลผลิตจึงลดลงจาก 32 เป็น 26 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี โดยเฉพาะข้าวนาปี (418 กก.ต่อไร่) ดังนั้น ชาวนา “ยิ่งทำ ยิ่งจน จนหนัก จนหมดตัว”

4. สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) 

ในอนาคตจากนี้ต่อไปเหมือนกับเส้นเชือกขาด อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด ความชื้นในดินลดลง ปริมาณฝนลดลง การระเหยเพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อาจจะทำให้เราเจอกับทั้ง 3 สภาพอากาศในปีเดียวกัน (ร้อน แล้ง ท่วม) การคาดการณ์ในอนาคต 100 ปีข้างหน้าทั้ง 3 สภาพอากาศจะยังอยู่กับเราตลอดไป จนกระทั่งหลังจากปี ค.ศ. 2150 ปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงจะเริ่มลดลง เราก็จะเผชิญกับเหตุการณ์น้ำมาก น้ำท่วม ในทุกๆ ปี มีการประเมินความเสียหายต่อผลผลิตข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง จะลดลง 13, 35 และ 21% ต่อปีตามลำดับในอีก 50 ปีข้างหน้า ดังนั้น ชาวนา “ยิ่งทำ ยิ่งจน จนซ้ำซาก จนซ้ำซ้อน จนถาวร จนหนทาง”

หวั่นเอลนีโญทำชาวนายิ่งจนซ้ำซาก ปฏิรูปการเกษตรตั้งแต่ต้นทาง คือ ทางรอด

ทางรอดของชาวนาจากความแห้งแล้งของปราการณ์เอลนีโญ

ทางรอดของชาวนาและเกษตรกรไทยคือ การร่วมกันปฏิรูปการจัดการตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การสร้างความเข้มแข็งชาวนา การการเพิ่มผลผลิต การลดการใช้น้ำ การจัดการดิน และปุ๋ย การใช้นวัตกรรม และการประกันภัยพืชผล กลางทาง คือกระบวนการเก็บเกี่ยว การขนส่ง การเก็บรักษา การอบข้าว กระบวนการสีข้าว และปลายทาง คือการหีบห่อ การจำหน่าย การตลาด การส่งออก การจัดการด้านภาษี

 

ที่มา : FB ศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์