svasdssvasds

วงการขนส่งทางทะเล หันกลับมาใช้พลังลมเดินทาง มุ่งเป้าลดโลกร้อน

วงการขนส่งทางทะเล หันกลับมาใช้พลังลมเดินทาง มุ่งเป้าลดโลกร้อน

ยักษ์ใหญ่วงการขนส่งทางทะเล Cargill เผยเทคโนโลยีใหม่ ใช้พลังงานลมขับเคลื่อนการเดินทางขนส่งข้ามมหาสมุทร ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคขนส่ง ลดโลกร้อน

นับตั้งแต่สมัยโบราณ การขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทรมักเดินทางด้วยเรือใบ ที่อาศัยแรงลมและธรรมชาติในการขับเคลื่อนให้เรือออกแล่น อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเรื่อยมา เครื่องจักรกลที่ใช้พลังงานจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้เข้ามาแทนที่เรือใบในการขนส่งจนแทบจะหมดสิ้น ทำให้เรือบรรทุกสินค้ามีขนาดใหญ่ขึ้น บรรทุกสินค้าได้มากขึ้น และไม่ต้องพึ่งพาอาศัยคลื่นลมธรรมชาติในการเดินทางอีกต่อไป

หากแต่ความก้าวหน้านี้ก็ต้องแลกมาด้วยคาร์บอนฟุตปริ้นสูงลิบลิ่ว ซึ่งจากการประเมินโดย Carbon Ecological Footprint Calculators เผยว่า การเดินเรือบรรทุกสินค้าทุกๆ 1  กิโลเมตร จะปลดปล่อยคาร์บอนสูงถึง 16.14 กรัม ต่อการขนส่งระวางสินค้า 1 ตัน เฉลี่ยแล้วเรือบรรทุกสินค้าจะปลดปล่อยคาร์บอนสูงถึง 140 – 440 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่โรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 118 โรง ปลดปล่อยใน 1 ปี

นับรวมแล้ว วงการขนส่งทางทะเลปลดปล่อยคาร์บอนรวมทั้งหมด 2.1% ของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เทรนด์การขนส่งที่ปลดปล่อยคาร์บอนมหาศาลกำลังจะกลายเป็นอดีต เมื่อยักษ์ใหญ่ของวงการขนส่งสินค้าทางทะเล บริษัท Cargill ได้ริเริ่มโครงการที่หันมาใช้พลังลมในการขับเคลื่อนเรือบรรทุกสินค้าอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Jan Dieleman ประธานบริษัท Cargill Ocean Transportation เปิดเผยว่า เรือ Pyxis Ocean เรือบรรทุกสินค้าพลังลมรุ่นใหม่ได้เริ่มต้นออกเดินทางข้ามสมุทรเป็นครั้งแรกแล้ว เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเดินทางระยะไกลจากประเทศจีน สู่บราซิล นับเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะลดผลกระทบการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากวงการขนส่งทางทะเล

Dieleman กล่าวว่า เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่มีจุดเด่นเป็นใบเรือขนาดใหญ่ สูงถึง 37.5 เมตร ที่ประกอบขึ้นโดยใช้วัสดุเดียวกับกังหันลมผลิตไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 30% ตลอดอายุการใช้งานของเรือ

วงการขนส่งทางทะเล หันกลับมาใช้พลังลมเดินทาง มุ่งเป้าลดโลกร้อน

แม้ว่าการเดินเรือครั้งบุกเบิกของเรือ Pyxis Ocean จะเป็นเพียงแค่ก้าวเริ่มต้นของการหันกลับมาใช้พลังงานลมในการเดินเรือทะเล แต่ Dieleman ก็เชื่อมั่นว่า การปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานลมจะมีก้าวย่างอันสดใสในอนาคตข้างหน้า

“ผมคาดการณ์ไว้เลยว่าภายในอีกสองปีข้างหน้า ครึ่งหนึ่งของเรือบรรทุกสินค้าที่ต่อใหม่ จะมีฟังค์ชั่นใช้พลังงานลมเสริมอยู่ด้วย” เขากล่าว

“เหตุผลที่ผมรู้สึกมีความหวังอย่างยิ่งกับการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ก็เพราะใบพัดหนึ่งใบสามารถช่วยลดอัตราการใช้เชื้อเพลิงได้ 1.5 ล้านตันต่อวัน ดังนั้นหากเรามี 4 ใบเรือ ก็จะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงได้ถึง 6 ล้านตันต่อวัน และช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนถึง 20 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งเป็นปริมาณการลดการใช้เชื้อเพลิงและการปลดปล่อยคาร์บอนจำนวนมหาศาล”

เขากล่าวเสริมว่า หากเมื่อ 5 ปีก่อน ถ้ามีคนมาถามว่าภาคธุรกิจขนส่งทางทะเลจะมีแนวทางในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร เขาจะกล่าวตอบทันทีว่า มันจะต้องเป็นงานหินมากๆ และไม่คิดว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการขนส่งทางทะเลในชั่วเวลาอันใกล้อย่างแน่นอน

“อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ก็เห็นได้ชัดว่าอุตสาหกรรมนี้ต้องการความเปลี่ยนแปลง เมื่อสถานการณ์โลกรวนกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น บริษัท Cargill ในฐานะขาใหญ่ในวงการ เราจึงต้องริเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพื่อกรุยทางให้ธุรกิจในวงการเดินรอยตาม สร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการขนส่งเดินเรือมหาสมุทรในอนาคต” Dieleman กล่าว

 

ที่มา: BBC

 

related