svasdssvasds

หารือก่อน COP28 เยอรมนีชวนไทยร่วม Climate Club ลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรม

หารือก่อน COP28 เยอรมนีชวนไทยร่วม Climate Club ลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรม

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมหารือ นาย แอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเซิล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย มองทิศทางสู่การลดก๊าซเรือนกระจกก่อนร่วมการประชุม COP28 ต้นเดือนธันวาคมนี้

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ได้แสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ของนายแอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเซิล และได้ขอบคุณสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ได้สนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้หารือถึงทิศทางและความคาดหวังของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP 28 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถึงความมุ่งมั่นของภาคีสมาชิกในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สอดคล้องตามความตกลงปารีส ที่มุ่งควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

หารือก่อน COP28 เยอรมนีชวนไทยร่วม Climate Club ลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรม

รวมถึงการเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน 3 เท่า ภายในปี ค.ศ. 2030 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการสนับสนุนทางการเงินจากภาคีประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2025 รวมถึงการจัดตั้งกองทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ด้าน นายแอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเซิล ยังได้เชิญชวนประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก Climate Club ซึ่งเป็นเวทีหารือ แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้พลังงานสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์และโอกาสของประเทศไทยที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างศักยภาพ ด้านเทคโนโลยี และด้านการเงิน โดยประเทศไทยมีความยินดีที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก Climate Club ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนภายในประเทศ ก่อนที่จะมีการเข้าร่วมสนับสนุนอย่างเป็นทางการต่อไป พร้อมกันนี้ ทั้งสองฝ่าย ยังยินดีที่จะดำเนินงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกร่วมกับประเทศภาคีสมาชิกต่อไป