svasdssvasds

ผ่า 'นโยบายสหรัฐ' รัฐบาลโจ ไบเดน รับมือกับวิกฤต Climate Change อย่างไร?

ผ่า 'นโยบายสหรัฐ' รัฐบาลโจ ไบเดน รับมือกับวิกฤต Climate Change อย่างไร?

เปิดแผนนโยบายด้านสภาพอากาศของรัฐบาลโจ ไบเดน ที่ผ่านมาทำอะไรไปแล้วบ้าง ในภาพรวมเชิงปฏิบัติได้ผลอย่างไร ประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายเหล่านี้หรือไม่

ท่ามกลางความคลุมเครือของสหรัฐ ว่าจะเอาอย่างไรกับงานประชุม COP28 ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และกระแสมากมายที่บอกว่า โจ ไบเดน อาจไม่เข้าร่วมในงานประชุมดังกล่าวเพราะต้องไปเยือนที่แอฟริกา

แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสในทำเนียบขาวได้ออกมาแจ้งว่า ยังไม่มีการยืนยันใดใดทั้งสิ้นว่า ‘โจ ไบเดน’ จะเข้าร่วมงาน COP28 เพื่อร่วมแสดงเจตนารมณ์ในเรื่องการขับเคลื่อนวิธีการรับมือกับปัญหา Climate Change ของสหรัฐ

แม้กระทั่งที่บอกว่าจะไปแอฟริกาก็ยังไม่ได้รับการคอนเฟิร์ม ระหว่างนี้ คอลัมน์ Keep The World ชวนย้อนดูนโยบายด้านสภาพอากาศของสหรัฐภายใต้รัฐบาลของโจ ไบเดน มีนโยบายอะไรบ้างที่เด่น ๆ และสามารถแก้ไขปัญหาแบบเป็นรูปธรรมได้จริงหรือไม่?

นโยบายส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงาน

ในปี 2022 ฝ่ายบริหารของรัฐบาลไบเดนได้ประกาศแผนการใช้จ่ายเงินราว 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปรับปรุงและซ่อมแซมบ้านหลายแสนครัวเรือนให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย โดยมีเป้าหมายใหญ่คือ ต้องการลดอัตราการใช้พลังงานของชาวอเมริกัน และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปัจเจก

บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยในสหรัฐ Cr. Housing2030

เงินทุนก้อนนี้มาจากร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่โจ ไบเดนได้ลงนามในกฎหมายไปเมื่อปี 2021

เงินจำนวน 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในส่วนนี้สามารถช่วยให้เจ้าของบ้านหลายครัวเรือนทั่วประเทศ ที่ยังใช้เตาเผาหรือแก๊สในการสร้างความอบอุ่น หรือยังใช้เครื่องปรับอากาศที่ยังกินพลังงานเยอะ เปลี่ยนไปเป็นปั๊มความร้อนไฟฟ้า ซึ่งสามารถปรับโหมดเป็นทำความร้อนหรือความเย็นได้ตามสะดวก แถมส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกล่าวว่า นโยบายนี้ของรัฐบาลไบเดน สามารถช่วยให้ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในครัวเรือนของสหรัฐลดลงได้ หากทุกหลังคาเรือนที่เข้าข่ายได้รับเงินสนับสนุนจากนโยบายดังกล่าว

ข้อมูลจาก Statista ในเรื่องปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของภาคที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2021 ที่โจ ไบเดนขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ พบว่า

  • ปี 2021 อัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติ 4.846 ล้านล้าน BTU / ปิโตรเลียม 0.968 ล้านล้าน BTU
  • ปี 2022 อัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติ 5.168 ล้านล้าน BTU / ปิโตรเลียม 0.967 ล้านล้าน BTU

ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของกระทรวงกลาโหม

ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อปีที่แล้ว กองทัพบกสหรัฐได้เปิดเผยยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศออกมาเป็นครั้งแรก movement เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานด้านกองกำลังอย่างกองทัพบก ก็ได้มีการเตรียมการแผนการรับมือของปัญหาที่อาจเกิดตามมาจากภาวะโลกร้อน

สหรัฐเตรียมเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า Cr. Unsplash

กองทัพบกได้ตั้งเป้าหมายในระยะยาวสำหรับหน่วยงานของตัวเองไว้ดังนี้

  • ภายในปี 2573 กองทัพบกจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของตัวเองลงครึ่งหนึ่ง
  • ภายในปี 2578 ยานพาหนะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบจะถูกเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด
  • ภายในปี 2593 กองทัพบกจะเร่งพัฒนายานรบไฟฟ้าให้สำเร็จ พร้อมทั้งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับวิถีการรบในบริบทความเข้าใจใหม่ในยุคที่โลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ มีอะไรที่ต้องรู้บ้าง

นี่คือเป้าหมายที่ฝ่ายบริหารของรัฐบาลไบเดน (หน่วยงานรัฐและกระทรวงกลาโหม) วางเอาไว้ เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อมูลจากหนังสือ The Pentagon, Climate Change, and War ของผู้เขียน NC Crawford นักรัฐศาสตร์ประจำ Oxford University พบว่า กองทัพสหรัฐคือผู้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานรายใหญ่ที่สุดในบรรดาหน่วยงานของรัฐบาล โดยอัตราการปล่อยก๊าซของกองทัพสหรัฐอยู่ที่ 51 ล้านเมตริกทัน

ไม่นับรวมกับที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการทำลายโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเมืองต่าง ๆ ที่สหรัฐเข้าไปมีเอี่ยวในการทำสงคราม

เมืองอีทากา (Ithaca) ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของบ้านทุกหลัง

เมืองอีทากา (Ithaca) รัฐนิวยอร์ก มีมติให้เปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าและเร่งกำจัดคาร์บอนในอาคารต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นที่แรกในสหรัฐ ที่ออกกฎหมายในลักษณะนี้ออกมา

เมืองอีทากามีประชากรอยู่ราว 30,000 คน มีอาคารบ้านเรือนราว 6,000 หลัง วิเคราะห์จำนวนประชากรและอาคารบ้านเรือนแล้วจะพบว่าไม่ใช่เมืองที่มีขนาดใหญ่มาก แต่สิ่งพิเศษก็ได้เริ่มต้นครั้งแรกที่นี่ การลดคาร์บอนจะถูกพิจารณาไปพร้อม ๆ กับทุกองค์ประกอบในการใช้ชีวิตเช่น อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

เมืองอีทากา รัฐนิวยอร์ก Cr. Unsplash

ทางเมืองอีทากาคาดว่า มาตรการลักษณะนี้จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของเมืองได้มากถึง 160,000 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถยนต์จำนวน 35,000 ที่วิ่งใน 1 รอบปี

ออกกฎใหม่เปิดหน้าชนผู้ผลิตรถยนต์

กรมขนส่งสหรัฐและหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้กำหนดค่าเฉลี่ยการใช้เชื้อเพลิงของรถยนต์ที่ออกใหม่ และรถบรรทุกขนาดเล็กต้องไม่เกิน 49 แกลลอนภายในระยะเวลา 4 ปี

Movement นี้นับว่าน่าสนใจไม่น้อย มาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เพราะหากกางสถิติออกมาจะพบว่า ภาคการขนส่งของสหรัฐถือเป็นแหล่งการปล่อยมลพิษทางอากาศที่มากที่สุดแล้วของสหรัฐ

กฎใหม่ที่ออกมานี้ กำหนดให้บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะของตัวเองเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ ผู้ผลิตต้องหาทางทำอย่างไรก็ได้ให้สินค้าของตัวเองลดการปล่อยเชื้อเพลิงออกสั้นบรรยากาศมากกว่านี้

เตรียมจำกัดการปล่อยเชื้อเพลิงของรถยนต์ Cr. Unsplash

ถือเป็นกฎที่ออกมาเปิดหน้ารบกับผู้ผลิตโดยตรง โดยรถยนต์ที่ผลิตในปี 2023 ต้องมีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยมลพิษเพิ่ม 8% และสำหรับรถที่จะผลิตในปี 2026 ต้องมีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยมลพิษเพิ่ม 10%

อัดฉีดเงินทุนสำหรับอุดบ่อที่มีก๊าซมีเทนรั่วไหล

รัฐบาลของไบเดนได้ประกาศว่าจะอัดฉีดเงินกว่า 1.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนให้กับรัฐต่าง ๆ ด้วยการทำความสะอาดบ่อน้ำมันและบ่อร้างกว่าหลายพันบ่อที่มีก๊าซมีเทนรั่วไหลออกมาจนทำให้โลกร้อนขึ้น

นอกเหนือจากการทุ่มเงินอัดฉีดเพื่อจัดการกับบ่อน้ำมันแล้ว ฝ่ายบริหารของไบเดนยังได้ออกแผนสำหรับการบังคับใช้งานเดินท่อต่าง ๆ เพื่อลดการรั่วไหลของก๊าซมีเทน และสั่งทำวิจัยในการหาวิธีลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมเนื้อวัว และผลิตภัณฑ์ประเภทนม

พร้อมทั้งจัดตั้งคณะทำงานที่คอยตรวจวัดและรายงานก๊าซเรือนกระจกทั่วประเทศ แล้วสรุปเป็นแผนออกมารายงานเป็นระยะ ๆ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านหลังจากที่ได้เห็นนโยบายนี้ก็ตบเท้ากันออกมาสนับสนุน เพราะเห็นว่าการลดปริมาณการปล่อยของก๊าซมีเทนลง สามารถชะลอภาวะโลกร้อนได้ และช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้

ข้อมูลจาก Statista พบว่าการปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนของสหรัฐลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

  • ปี 2018 ปล่อยก๊าซมีเทนราว 831 (million metric tons)
  • ปี 2019 ปล่อยก๊าซมีเทนราว 825 (million metric tons)
  • ปี 2020 ปล่อยก๊าซมีเทนราว 808 (million metric tons)
  • ปี 2021 ปล่อยก๊าซมีเทนราว 793 (million metric tons)

โครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง

อีกหนึ่งนโยบายที่เด่น ๆ ของรัฐบาลไบเดนคือ นโยบานด้านพลังงานลม ฝ่ายบริหารของไบเดนได้ไฟเขียวแล้วสำหรับโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับนิวยอร์ก movement นี้ถือเป็นก้าวครั้งสำคัญในการสร้างพลังงานหมุนเวียน เพื่อต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

พลังงานลม Cr. Unsplash

รัฐบาลกลางสหรัฐได้อนุมัติกังหันลมหลายสิบตัวที่ถูกติดตั้งอยู่บริเวณนอกชายฝั่งโรดไอส์แลนด์ (Rhode Island) ที่จะสั่งพลังงานที่ผลิตได้ไปยังฝั่งตะวันออกของโรดส์ไอส์แลนด์ ด้วยเหตุนี้ ทำให้สหรัฐเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้คือ ต้องการผลิตไฟฟ้า 30 กิกะวัตต์ จากพลังงานลมนอกบริเวณชายฝั่งภายในทศวรรษนี้

การเปลี่ยนพลังงานลมมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้หมุนเวียนระบบในประเทศถือเป็นอีก 1 เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลไบเดนเช่นกัน ที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง

นโยบายจำกัดการไหลของน้ำ

กระทรวงพลังงานสหรัฐได้ยกเลิกกฎที่ออกในสมัยของ Donald Trump ว่าสามารถเพิ่มปริมาณน้ำที่ใช้อาบได้ โดยอนุญาตให้หัวฉีดฝักบัวหลายอันสามารถบรรทุกปริมาณน้ำในอัตราที่เท่ากันในคราวเดียว

ตั้งแต่ปี 1994 ที่รัฐบาลกลางสหรัฐได้จำกัดปริมาณน้ำที่ไหลออกจากฝักบัวไว้ที่ 2 แกลลอนต่อนาที ทำให้หลังจากนั้น ผู้ผลิตฝักบัวได้ผลิตอุปกรณ์ออกสู่ตลาดหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น และมีหัวฉีดมากกว่า 1 หัว

หลังจากนั้นกฎดังกล่าวก็ถูกปรับแก้ มีการสั่งให้ใช้ข้อจำกัดเดียวกันทั้งหมดในการติดตั้งอุปกรณ์อาบน้ำอย่างฝักบัว แม้ชาวอเมริกันจะเสียงแตกต่อกฎดังกล่าว แต่บรรดานักอนุรักษ์เห็นด้วยว่าควรจำกัดการไหลของน้ำ เพราะสามารถช่วยรัฐทางฝั่งตะวันตก สามาถรับมือกับภัยแล้งที่รุนแรงได้

ลอสแอนเจลิส เมืองแห่งพลังงานสะอาด

เมืองลอสแอนเจลิส (Los Angeles) เตรียมแผนรับมือสภาพอากาศด้วยการประกาศกร้าวว่า จะเป็นเมืองแรกของสหรัฐที่ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด

สิ่งที่หลายคนกังวลต่อนโยบายนี้คือ วิถีชีวิตของพวกเขาจะต้องถูกบังคับให้เปลี่ยนแบบฉับพลันหรือไม่ ต้นทุนของการทำสิ่งต่าง ๆ อาจเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่ยากเกินไปหากจะให้ผู้คนในเมืองเลิกขับรถ และไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ

เมือง Los Angeles Cr. Unsplash

ในแผนของนโยบายนี้บอกว่า บ้านแต่ละหลังจำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์แผงโซลาร์เซลล์ราว 38% ต่อบ้าน เพื่อเปลี่ยนให้เมืองในภาพรวมเป็นเมืองแห่งการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งหากทำได้ตามเงื่อนไขนี้ เมือง LA จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซของเสียต่าง ๆ มากกว่าในปัจจุบันถึง 6 เท่า

ประชาชนในนครดาราแห่งนี้ ในช่วงแรกอาจเป็นกังวลเล็กน้อย แต่คาดว่าหากปัจจัยหลาย ๆ อย่างลงตัวแล้ว เมืองลอสแอนเจลิสอาจกลายเป็นเมืองแรกของสหรัฐที่ใช้พลังงานสะอาดได้อย่างสมบูรณ์แบบ

เมือง Los Angeles Cr. Unsplash

เหล่านี้คือนโยบายด้านสภาพอากาศที่น่าสนใจของสหรัฐที่เรานำมาฝากกัน ปัจจุบันสหรัฐยังไม่แสดงท่าทีออกมาชัดเจนนักว่า จะเอาอย่างไรกับงานด้านสภาพอากาศอย่าง COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่กำลังจะมาถึงนี้ สหรัฐเตรียมเรื่องอะไรไว้เพื่อถกกับประเทศอื่น ๆ บนเวทีโลกสีเขียวแห่งนี้บ้าง

สถานการณ์ล่าสุดระหว่างสหรัฐและจีนจากการรายงานของสื่อหลายสำนักพบว่า ขณะนี้ได้บรรลุข้อตกลงกันแล้ว โดยตัวแทนของ 2 ประเทศได้เดินทางไปหารือร่วมกันที่ประเทศสิงคโปร์

ทว่ารายละเอียดทั้งหมดยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา พร้อมคำถามว่าที่ยังคลุมเครือว่า ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐจะเข้าร่วมงานประชุม COP28 ในครั้งนี้หรือไม่?

ที่มา: washingtonpost

        statista

        motherjones

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related