svasdssvasds

“อาเซอร์ไบจาน” ใช้การประชุม COP29 ฟอกขาวปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน จริงหรือ?

“อาเซอร์ไบจาน” ใช้การประชุม COP29 ฟอกขาวปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน จริงหรือ?

"อาเซอร์ไบจาน" ว่าที่เจ้าภาพการประชุม COP29 ในปี 2024 ที่เมืองบากู ทว่าถูกวิจารณ์แรง ใช้การประชุม COP29 เพื่อฟอกขาวปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศ เป็นจริงดังที่กล่าวหาหรือไม่? ติดตามได้ที่บทความนี้

ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ อาเซอร์ไบจานจำเป็นต้องน้อมรับคำวิจารณ์

ว้าวุ่นกันเลยทีนี้! เมื่อมีการเปิดเผยออกมาแล้วว่าประเทศ 'อาเซอร์ไบจาน’ คือว่าที่เจ้าภาพการประชุมด้านสภาพอากาศ หรือ COP29 ในครั้งต่อไป ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองบากู ในปี 2024

อาเซอร์ไบจาน ว่าที่เจ้าภาพการประชุม COP29 Cr. Wallpaper Flare

กลับกลายเป็นว่า หลายฝ่ายทั้งภาคประชาสังคม องค์กรต่าง ๆ หรือแม้ในระดับรัฐ ก็ต่างออกเสียงคัดค้าน ในการมอบหมายให้อาเซอร์ไบจานรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพงาน COP29 โดยข้อกล่าวหาที่ร้อนแรงและดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือ “รัฐบาลอาเซอร์ไบจานกำลังใช้ COP29 เพื่อฟอกขาวให้ตัวเอง ในเรื่องการกดขี่สิทธิเสรีภาพในการพูดและสิทธิมนุษยชน

Spring News ชวนไล่เรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งสำรวจน้ำเสียงของหลาย ๆ ฝ่ายว่าคิดเห็นอย่างไร และดูว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนในอาเซอร์ไบจานมีแนวโน้มดีขึ้นหรือลดน้อยลงหรือไม่ ติดตามได้ที่บทความนี้

เกิดอะไรขึ้น?

หลังจากที่มีข่าวว่า ประเทศในยุโรปตะวันออกให้การสนับสนุน “อาเซอร์ไบจาน” อย่างเต็มที่เพื่อให้ขึ้นเป็นเจ้าภาพการประชุมสภาพอากาศ หรือ COP29 ภายใต้เงื่อนไขขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดให้ ประเทศใดก็ได้จากยุโรปตะวันออกเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งต่อไป

ในบรรดาแคนดิเดต มีหลายประเทศที่ร่วมลงสมัครชิงเจ้าภาพ COP29 เช่น บัลแกเรีย แต่สุดท้ายก็ประกาศถอนตัวออกไป ทำให้โฟกัสมาอยู่ที่ 2 ประเทศพริกกับเกลืออย่างอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนีย ที่เพิ่งจะเปิดฉากรบกันไปเมื่อปีที่ผ่านมา

อาเซอร์ไบจานบุกอาร์เมเนีย Cr. aa

ทว่า อาเซอร์ไบจานได้ยื่นข้อเสนอให้กับอาร์เมเนียว่า จะไม่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามแบบที่เคยเจอมาหากยอมหลีกทางให้ตำแหน่งเจ้าภาพ COP29

ตลอดสองสัปดาห์ของการประชุม COP28 ยังไม่ประจักษ์ชัดว่าประเทศใดจะได้เป็นเจ้าภาพ แต่มหาอำนาจแดนหนาวอย่างรัสเซีย ได้ประกาศกร้าวอย่างชัดเจนว่า จะขัดขวางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ที่ให้การสนับสนุนยูเครน เพื่อมิให้ขึ้นเป็นเจ้าภาพงาน COP29  

เมื่อผลออกมาว่าอาเซอร์ไบจานได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการประชุม COP29 รัสเซียก็มิได้แสดงท่าทีคัดค้านอาเซอร์ไบจานแต่อย่างใด

Ruslan Edelgeriev ผู้แทนประธานาธิบดีเกี่ยวกับปัญหาสภาพภูมิอากาศของสหพันธรัฐรัสเซีย กล่าวว่า “เรายินดีอย่างยิ่ง ที่สามารถบรรลุเรื่องเจ้าภาพการประชุม COP29 ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกได้เป็นที่เรียบร้อย”

Ruslan Edelgeriev Cr. สถานทูตรัสเซียในสหรัฐ

หลายฝ่ายคลางแคลงใจ

เมื่อข่าวถูกตีแผ่ออกไป น้ำเสียงส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปในประเด็นเดียวกันกับที่สหรัฐอารับเอมิเรตส์โดนคือ อาเซอร์ไบจานเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ แถมเป็นสมาชิกของ OPEC+

นอกจากนี้ เหล่านักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศเกิดอาการไม่พอใจ และออกมาตอบโต้ต่อประเทศอาเซอร์ไบจานอย่างซึ่ง ๆ หน้า และกล่าวว่าในอาเซอร์ไบจานมีตำรวจถูกจับ เพราะมีเอี่ยวกับผลประโยชน์ด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล

องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC มีทั้งหมด 13 ประเทศ Cr. Wikipedia

โดยปกติแล้ว การเลือกประเทศเจ้าภาพในการประชุมด้านสภาพอากาศ จะมีการวางประเทศแคนดิเดตไว้ล่วงหน้าหลายปี เพื่อให้มีเวลาเตรียมพร้อม และวางแผนในระยะยาวได้ ทว่า Aykhan Hajizada โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอาเซอร์ไบจาน กล่าวว่า เมืองบากู มีความพร้อมอย่างยิ่งในการเป็นพื้นที่จัดการประชุมนี้

รัฐบาลอาเซอร์ไบจานใช้ COP29 สร้างความชอบธรรม?

ภาคประชาสังคมก็ได้ออกมาส่งเสียงอีกว่า ประเทศอาเซอร์ไบจานมีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนไม่ค่อยดีนัก โดยอ้างอิงจากดัชนีเสรีภาพ (Freedom Index) ที่ถูกเก็บข้อมูลและจัดอันดับโดยองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งอยู่ในสหรัฐ โดยอาเซอร์ไบจานได้ 9/100 คะแนน

หนึ่งเคสที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้โต้เถียงถึงความชอบธรรมของรัฐบาลอาเซอร์ไบจานในการปฏิบัติต่อพลเมืองคือ Ibadoghlu Bayramova ชายคนนี้คือนักสิทธิมนุษยชน และเป็นศาสตราจารย์ที่ London School of Economics ซึ่งถูกจับกุมตอนกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีแนวคิดทางการเมืองที่สุดโต่งเกินไป

Ibadoghlu Bayramova นักสิทธิมนุษยชนที่ถูกจับกุมตอนกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่อาเซอร์ไบจาน Cr. Amnesty International

ในปี 2013 – 2019 Ibadoghlu เคยดำรงตำแหน่งเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมในองค์กร Extractives Industry Transparency Initiative หรือ EITI ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนการจัดการทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซ และแร่ธาตุ อย่างเปิดเผย

การจับกุมในครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลอาเซอร์ไบจานถูกวิพากษ์วิจารณ์ และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ พร้อมองค์กรต่าง ๆ ในยุโรป ออกมาประณาม และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการจับกุมในครั้งนี้

“เราไม่สามารถปล่อยให้อาเซอร์ไบจานใช้ COP29 เพื่อเป็นเครื่องมือฟอกขาวให้ตัวเองจากการกดขี่สิทธิเสรีภาพในการพูดและสิทธิมนุษยชนได้” Joe Bardwellโฆษกของ Publish What You Pay องค์กรที่สร้าง EITI กล่าว

ปัญหาสิทธิมนุษยชนในอาเซอร์ไบจาน

ข้อมูลจาก Human Rights Watch ระบุว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอาเซอร์ไบจานไม่ดีขึ้น มีพลเมืองกว่า 20 รายซึ่งถูกจับกุมด้วยข้อหาทางการเมือง และยังมีอีก 30 คน ที่กำลังถูกจำคุกโดยมิชอบ อันเนื่องมาจากการวิพากษ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา

อาเซอร์ไบจานมีกฎหมายอยู่หลายตัวที่คอยขัดขวาง NGO มิให้ดำเนินงานได้อย่างมีอิสระ อาทิ การทรมานที่โหดร้ายทารุณในระหว่างถูกควบคุมตัว และการกำจัดเสรีภาพของสื่อมวลชน

ประชาชนในอาเซอร์ไบจานถูกจับกุมหลังจากเคลื่อนไหวทางการเมือง Cr. European Human Rights Advocacy Centre

นอกจากนี้ ยังมีการรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยัดเยียดข้อหายาเสพติดให้กับนักการเมืองที่เคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอาเซอร์ไบจาน หลังจากที่พลเมืองบางส่วนได้รับการปล่อยตัว พวกเขาออกมาเล่าว่า ถูกบังคับและทรมานอย่างโหดร้ายในระหว่างที่ถูกคุมขัง

Rashad Ramazanov บล็อกเกอร์และนักโทษการเมือง ชายคนนี้คือคนที่วิพากย์วิจารณ์รัฐบาลอย่างถึงพริกถึงขิงบนโซเชียลมีเดียของตัวเอง จนถูกจับ และเขากล่าวว่า ตำรวจได้ทุบตี และบีบบังคับให้เขารับสารภาพเรื่องการครอบครองยาเสพติด จนในที่สุดเขาก็ได้รับโทษและถูกจำคุกนานถึง 6 ปี ก่อนจะถูกปล่อยตัวในปี 2562

Rashad Ramazanov

การประชุมด้านสภาพภูมิอากาศที่นครดูไบจะจบลงในวันที่ 12 ธ.ค. 66  ทว่า ยังมีปัญหาให้ถกกันอย่างเผ็ดร้อนอยู่ทุกวัน รวมถึงเรื่องที่อาเซอร์ไบจานจะเป็นเจ้าภาพการประชุม COP29 ที่จะถูกจัดขึ้นในปี 2024 ที่เมืองบากูด้วย แม้จะได้รับเสียกสนับสนุนครบแล้ว แต่ยังมีหลายภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วย และออกมาวิจารณ์อย่างถึงพริกถึงขิง

งาน COP29 จะมีความหมายอะไร เมื่อเจ้าภาพคือประเทศอาเซอร์ไบจาน” Zhala Bayramova ลูกสาวของ Ibadoghlu Bayramova กล่าว

แล้วคุณล่ะ คิดว่าปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนกับสภาพอากาศคือเรื่องเดียวกันไหม หรือประเด็นโต้แย้งของหลาย ๆ ภาคส่วนบอกอะไรเราได้บ้าง?

 

 

 

ที่มา: Reuters

        Human Rights Watch

        EHRAC

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related