svasdssvasds

ทะเลสาบสีชมพู โผล่บนเกาะฮาวาย อากาศร้อนทำน้ำเค็มจัด สวยงามหรือสัญญาณเตือน

ทะเลสาบสีชมพู โผล่บนเกาะฮาวาย อากาศร้อนทำน้ำเค็มจัด สวยงามหรือสัญญาณเตือน

ทะเลสาบ Kealia บนเกาะฮาวาย เปลี่ยนเป็นสีชมพู สวยงามตระการตา แต่อาจไม่ใช่เรื่องดี นักวิทย์ฯ คาด อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ทำน้ำจืดระเหย เหลือไว้แค่เกลือ ทำน้ำเค็มจัด สาหร่ายพิษ-แบคทีเรียโต จนทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีชมพู

มีเบอร์แปลกโทรเข้ามา บอกว่ากำลังเดินเล่นอยู่บนชายหาด จู่ ๆ ก็พูดว่า ‘มีบางอย่างแปลก ๆ เกิดขึ้นที่นี่’ คุณรีบมาดูนะ

ตั้งแต่เริ่มเดือนสุดท้ายของปี เจ้าหน้าที่ปลาและสัตว์ป่าของสหรัฐ ได้รับแจ้งจากคนในพื้นที่ว่า พบ “ทะเลสาบสีชมพู” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบนเกาะฮาวาย เจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจสอบและรวบรวมข้อมูล เพื่อหาสาเหตุที่มาของ “สีชมพู” ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

ทะเลสาบ Kealia เปลี่ยนเป็นสีชมพู เหตุภัยแล้งทำน้ำเค็มจัด Cr. traviskeahi_photos

ทะเลสาบเปลี่ยนเป็นสีชมพูได้อย่างไร?

สันนิษฐานจากเจ้าหน้าที่คือ น่าจะเป็นสัญญาณที่บอกว่าสาหร่ายกำลังจะบานในแอ่งน้ำ ซึ่งเน้นย้ำว่าคือ “สาหร่ายที่เป็นพิษ” ชนิดที่สามารถทำให้แอ่งน้ำค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเฉดสีชมพูได้

ทว่า หลังจากที่ตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว สาเหตุของน้ำเปลี่ยนสีชมพูน่าจะมาจากแบคทีเรียฮาโล (Halo bacteria) ซึ่งเป็นแบคทีเรียเซลล์ที่เติบโตได้ดีในแหล่งน้ำที่มีความเค็มสูง

Bret Wolfe เจ้าหน้าที่ปลาและสัตว์ป่าของสหรัฐ กล่าวถึงผลการตรวจสอบวิเคราะห์สิ่งที่พบในแหล่งน้ำดังกล่าวว่า น้ำในทะเลสาบ Kealia มีความเค็มมากกว่าน้ำทะเลปกติถึงสองเท่า

Stephanie Stack หัวหน้านักชีววิทยาจาก Pacific Whale Foundation ให้เหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมไว้ว่า ความแห้งแล้งบนเกาะเมาวี (Maui) - เกาะในฮาวาย อาจมีส่วนที่ทำให้น้ำใน Kealia เปลี่ยนจากสีน้ำทะเลเป็นสีชมพู

เมื่อเกิดภาวะแห้งแล้ง น้ำจืดก็ระเหยไปหมด สิ่งที่ยังหลงเหลือคือ “เกลือ” ซึ่งทำให้สาหร่ายและแบคทีเรียบางชนิดแข่งกันโต ในสภาพน้ำที่มีความเค็มสูง จนกลายเป็นสีชมพูดังในภาพ

ทะเลสาบ Kealia เปลี่ยนเป็นสีชมพู เหตุภัยแล้งทำน้ำเค็มจัด Cr. traviskeahi_photos

อีกหนึ่งข้อสันนิษฐานจาก Stephanie คือ สาหร่ายในแหล่งน้ำอาจมีเม็ดสี เบตาแคโรทีน (beta carotene) อยู่ คล้ายกับที่แครอทมี

สีชมพูหวานใส แต่ไม่ใช่สัญญาณที่ดี

ภายใต้สีหวานใสที่สวยงามตระการตา ทว่า นักวิทยาศาสตร์กลับไม่อภิรมย์นัก เมื่อได้เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านสันนิษฐานว่า “ทะเลสาบสีชมพู” อาจเป็นสัญญาณของอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น และภัยแล้งที่เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่า จะได้เห็นน้ำหลาย ๆ แห่งทั่วสหรัฐเริ่มเปลี่ยนเป็นสีชมพูมากขึ้นในเขตพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้ง

นอกจากนี้ ผลกระทบจาก “น้ำเค็ม” อาจสร้างปัญหาให้กับสรรพสัตว์ในระแวกอาทิ นก หรือสัตว์ที่ชอบมากินน้ำในแอ่งน้ำ สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขยักถัดไปคือ สัตว์จะสามารถปรับตัวกับน้ำที่เค็มขึ้นได้หรือไม่?

แม้จะดูสวยงามและชักชวนสายตาเป็นอย่างยิ่ง แต่เจ้าหน้าที่จากสำนักงานปลาและสัตว์ป่าแห่งชาติสหรัฐ ได้ออกประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ระแวกนั้นว่า ให้หลีกเลี่ยงการดื่ม ว่ายน้ำ หรือจับ-กินปลาที่จับได้จากบ่อแห่งนี้

 

ที่มา: People , UPI

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related