svasdssvasds

พามาทำความรู้จัก ! กับแหล่งที่มาของ “ก๊าซธรรมชาติ” ของประเทศไทย

พามาทำความรู้จัก ! กับแหล่งที่มาของ “ก๊าซธรรมชาติ”  ของประเทศไทย

วันนี้จะพามาทำความรู้จัก ! กับแหล่งที่มาของ“ก๊าซธรรมชาติ” ของประเทศไทย ว่ามาจากแหล่งไหนบ้าง พร้อมอัปเดตแหล่ง “เอราวัณ” ที่เพิ่มผลิตก๊าซธรรมชาติ เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาเพื่อเพิ่มสัดส่วนป้อนผลิตไฟฟ้า

ปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น ขณะที่ปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศทำได้น้อยลง ประเทศไทยจึงได้เริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติจาก   เมียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 และปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมาได้มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพเป็นของเหลวเพื่อให้ง่ายต่อการขนส่งทางเรือ เรียกว่า ก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas หรือ LNG) มาจากต่างประเทศ ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมา

โดยกระทรวงพลังงาน รายงานข้อมูลว่า ประเทศไทยจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งต่างๆ ได้ดังนี้

• ผลิตจากแหล่งในประเทศ 62%

• นำเข้าในรูปแบบ LNG 22%

• นำเข้าจากเมียนมา 16%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำหรับประโยชน์ที่ได้จากก๊าซธรรมชาติ แบ่งสัดส่วนการใช้ ดังนี้

• ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า 59%

• ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 19%

• ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 19%

• ใช้ในภาคขนส่ง (NGV) 3%

ล่าสุดนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) ได้ทำการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายหลังจากที่ได้เร่งดำเนินงานอย่างทุ่มเทและจริงจัง ตั้งแต่วันที่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (วันที่ 24 เมษายน 2565) จนถึงปัจจุบัน

โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ จำนวน 8 แท่น และการจัดหาแท่นขุดเจาะจำนวน 4 ตัว เพื่อใช้สนับสนุนการเจาะหลุมบนแท่นหลุมผลิตใหม่ และแท่นหลุมผลิตเดิม รวมทั้งมีแผนจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ตัว เพื่อนำมาใช้เร่งการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม ซึ่งความคืบหน้า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 ได้มีการเจาะหลุมแล้วเสร็จจำนวน 96 หลุม จากแผนเจาะหลุมตามแผนงานในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 273 หลุม โดยการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ที่อัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และสามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ตามแผน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลงสำรวจฯ G1/61 ที่อัตรา 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 และที่อัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยจะมีการดำเนินงานสำคัญเพิ่มเติมภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติตามเป้าหมาย อาทิ การติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ การจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติม และการบริหารจัดการการใช้งานแท่นขุดเจาะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น

related