svasdssvasds

หากเกิดแผ่นดินไหว ตึกสูงในกรุงเทพฯ ต้องกังวล-จะถล่มไหม ?

หากเกิดแผ่นดินไหว ตึกสูงในกรุงเทพฯ ต้องกังวล-จะถล่มไหม ?

เช็คที่นี่! แผ่นดินไหวเมียนมาสะเทือนถึงกรุงเทพฯ จนตึกสูงสัมผัสได้ ต้องกังวลไหม ? ชี้คนไทยต้องตื่นตัวเรื่องการรับมือแผ่นดินไหวให้เท่ากับการซ้อมหนีไฟ

หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 ริกเตอร์ ตามแนวชายฝั่งทางตอนใต้ของเมียนมา ใกล้กับทิศตะวันตกเฉียงใต้ของไทย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 มิถุนายน 2566) เวลา 08.40 น. โดยจังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร สามารถรับรู้ถึงความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ ทำให้ทุกคนได้รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะบนอาคารสูง หลายๆคนอาจเกิดความกังวลว่า ตึกสูงในกรุงเทพฯปลอดภัยหรือไม่ ?

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ระบุกับ SPRiNG News เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ใจความว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่มีความเป็นอันตรายกับตึกสูง เพราะ กฎกระทรวงระบุไว้ชัดเจนว่าตึก-อาคารที่สูงเกิน 3 ชั้นในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจะต้องรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้ 

ถ้าเกิดแผ่นดินไหว สิ่งก่อสร้างที่น่ากลัวคือ ตึกแถว-บ้านเดี่ยว

รศ.ดร.เสรี มองว่า ที่น่ากังวล คือ ตึกที่มีความสูงไม่เกิน 3 ชั้นที่ไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับแผ่นดินไหว เนื่องจากกฎกระทรวงไม่ได้บังคับตึกเหล่านี้ให้รอบรับเมื่อเกิดแผ่นดินไหว หรืออาคารบางหลังสร้างก่อนที่กระทรวงจะออกกฎบังคับใช้

ดังนั้น พนักงานออฟฟิศหรือสำนักงานที่สูงเกิน 3 ชั้นและเป็นอาคารใหม่ สามารถวางใจกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ระดับหนึ่ง แต่ รศ.ดร.เสรี มองว่า สิ่งที่ต้องกังวลมากกว่าคือ การรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว เช่น ไม่ควรวิ่งลงมาทางบันไดหนีไฟขณะที่เกิดแผ่นดินไหว แต่ควรหมอบหลบอยู่ใต้โต๊ะที่แข็งแรงก่อนแล้วจึงค่อยทยอยออกจากพื้นที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

กรุงเทพฯ เตรียมความพร้อมอะไรบ้าง ถ้าหากเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้ง

หากเกิดแผ่นดินไหว ตึกสูงในกรุงเทพฯ ต้องกังวล-จะถล่มไหม ?

กรุงเทพฯ เตรียมติดเครื่องวัดความสั่นสะเทือนในอาคารสาธารณะให้มากขึ้น

รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า การติดเครื่องมือทำให้ทราบถึงพฤติกรรมตึกมากขึ้น ในอนาคต กทม. จะติดเครื่องมือในอาคารสาธารณะ อาคารสูง และโรงพยาบาลในกทม. 6 แห่ง 

สำหรับกรุงเทพฯ มีอาคารได้ขออนุญาตภายใต้กฎกระทรวงที่ใช้เพื่อควบคุมอาคารในเรื่องแผ่นดินไหว ตั้งแต่ 2550 ฉบับนี้ จำนวน 2,887 และมีอาคาร 141 อาคารที่ได้มาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งออกในปี 2565 รวมทั้งหมดแล้วมี 3,028 อาคาร แต่ยังมีอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 โดยเป็นอาคารสูงมากกว่า 6 ชั้นขึ้นไป จำนวน 11,482 อาคาร อาคารเหล่านี้ก็มีการออกแบบเพื่อรองรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว

  • ต่อไปนี้ การซักซ้อมภัยแผ่นดินไหว เทียบเท่าไฟไหม้และสารเคมีรั่ว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า “สิ่งที่ต้องปรับปรุงในขณะนี้คือเรื่องของข้อมูล เนื่องจาก กทม. ไม่สามารถตรวจจับข้อมูล (Detect) แผ่นดินไหวเองได้ ต้องอาศัยข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งการหนีภัยพวกนี้จะไม่เหมือนภัยจากไฟไหม้ ต้องมีการฝึกซ้อมแต่ภาพรวมไม่น่าเป็นห่วง” 

ท้ายที่สุด คนไทยทุกคนไม่ควรประมาท หากเกิดภัยพิบัติเกิดขึ้น และทุกองค์กรควรให้ความสำคัญในวิธีการรับมือกับทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ไฟไหม้ น้ำท่วม สารเคมีรั่ว เพราะทุกชีวิตนั้นมีค่า ไม่ถูกมองข้าม

related