svasdssvasds

กรมทรัพยากรธรณี ชี้อีก 5-10 ปี "รอยเลื่อนสะกาย" อาจทำแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ได้ !

กรมทรัพยากรธรณี ชี้อีก 5-10 ปี "รอยเลื่อนสะกาย" อาจทำแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ได้ !

กรมทรัพยากรธรณี ชี้อีกประมาณ5-10 ปี "รอยเลื่อนสะกาย" มีโอกาสแผลงฤทธิ์อาจทำแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ได้อีก ! พื้นที่กทม. เสี่ยงระดับ 4 แค่ปูนแตกร้าว ไม่กระทบโครงสร้างอาคาร พร้อมเร่งเดินหน้าตรวจอาคารเก่าก่อนปี2540 ให้ตรวจสอบอาคารเสื่อมสภาพ และเสริมกำลังโครงสร้างรับมือ

หลังจากเมื่อวานนี้ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2566  ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0  (15.266°N , 96.248°E ) บริเวณตอนเหนือของทะเลอันดามัน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยได้รับแรงสั่นสะเทือน ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยา กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้มีการหารือกัน และมีการวิเคราะห์แนวโน้ม และการรับมือการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต

โดยดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า รอยเลื่อนสะกาย เคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต เช่นเมื่อปี พ.ศ. 2473 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7.3 และทำให้มีผู้เสียชีวิตในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมามากกว่า 500 คน โดยสรุปสถิติแผ่นดินไหวในรอบ 50 ปี (พ.ศ.2516-2566) ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งหมด 668 ครั้ง ขนาด 2.9-7.0 โดยเหตุการณ์ขนาด 7.0 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2534 ที่เมือง Mogok สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (หมายเหตุ : แผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนที่รัศมี 60 km จากแนวรอยเลื่อนสะกาย)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ยืนยันว่าแผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0  ไม่ทำให้เกิดสึนามิ แต่มองว่าในอนาคต 5-10 ปี "รอยเลื่อนสะกาย" อาจทำแผ่นดินไหวขนาด 7.5  ได้อีก เพราะยังเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังโดยเแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ดังกล่าวจะเสี่ยงระดับ 4 ทำให้แค่ปูนแตกร้าว แต่จะไม่กระทบโครงสร้างอาคารขนาดใหญ่ เพราะอาคารส่วนใหญ่จะใช้ค่าความเร่งในการออกแบบอาคารที่สูงกว่า พร้อมการขยายเพื่อรองรับแผ่นดินไหวแล้ว และเป็นไปตามกฎกระทรวงที่กำหนดไว้

กรุงเทพมหานคร มีความเสี่ยงขนาดไหน?

1) กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวทั้งที่เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะใกล้ (เช่น รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์) และแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะไกล (เช่น รอยเลื่อนสะกายในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา) หากเกิดแผ่นดินไหวจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวทั้งระยะใกล้และระยะไกล ชั้นดินเหนียวในพื้นที่แอ่งที่ราบลุ่มภาคกลางสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวสูงถึง 3 เท่า

2) กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวอ่อน (ดินเหนียวกรุงเทพ) ซึ่งสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3-4 เท่า จึงทำให้อาคารสูงสั่นโยก และอาจจะเสียหายได้

3) อาคารสูงที่ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ. 2550 ที่ไม่ได้ออกแบบให้ต้านแรงแผ่นดินไหว

“ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่าน 23 จังหวัด โดยปัจจุบันรอยเลื่อนที่พบว่ามีการเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวบริเวณภาคเหนือ ได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา (พาดผ่านจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน) กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว (พาดผ่านจังหวัดเชียงราย) โดยพบแผ่นดินไหวขนาด 2- 4.5 (จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก) ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ ไม่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้าง แต่ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ สำหรับบริเวณภาคใต้ พบว่ามีกลุ่มรอยเลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย (พาดผ่านจังหวัดพังงา สุราษฎร์ธานี และกระบี่) และกลุ่มรอยเลื่อนระนอง (พาดผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง) โดยจากประวัติการเกิดแผ่นดินไหวพบว่า มีขนาดไม่เกิน 4.5 เกิดขึ้น 3-4 เดือนต่อครั้ง ซึ่งมีความถี่ในการเกิดน้อยกว่ากลุ่มรอยเลื่อนบริเวณภาคเหนือ”

หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดนี้ อาจเกิดสึนามิกระทบต่อจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน จริงหรือ?

1. แผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับรอยเลื่อน Sagaing Fault ในทะเลอันดามัน รอยเลื่อนนี้วางตัวในแนว N-S  แผ่นดินไหวมีกลไกแบบ Strike-slip moment จึงมีโอกาสทำให้เกิดสึนามิน้อยมากๆ ถึงไม่มีโอกาสเลย เพราะเป็นรอยเลื่อนแบบ Strike-slip moment และขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่เคยเกิดคือ Mw 6.8

2. แผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับรอยเลื่อน Andaman Back-Arc Spreading Center และ Transform fault รอยเลื่อนเหล่านี้อยู่ทิศตะวันออกของหมู่เกาะ Andaman islands เนื่องจากบริเวณนี้สัมพันธ์กับการเกิดแอ่งในทะเลอันดามัน แผ่นดินไหวในบริเวณนี้จึงมีกลไกแบบ Normal และ Strike-slip moment

- โอกาสเกิดสึนามิจากแผ่นดินไหวในบริเวณที่เกิดแอ่งใหม่ (Back-Arc Spreading zone) นี้มีไม่มากนัก ถึงแม้รอยเลื่อนจะเป็นแบบ normal moment แต่ขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่เคยเกิดคือ Mw 5.6 หากเกิดสึนามิน่าจะเป็น Local tsunami ไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย

- โอกาสเกิดสึนามิจากแผ่นดินไหวในบริเวณ Transform fault ที่มีแนวการวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ มีโอกาสน้อยมาก ๆ ถึงไม่มีโอกาสเลย เพราะเป็นรอยเลื่อนแบบ Strike-slip moment และขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่เคยเกิดคือ Mw 6.5

เร่งตรวจสอบอาคารเก่ารับมืออนาคต

ด้านนายธนิต ใจสะอาด หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า ในปี2564 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุงกฎกระทรวงให้มีการแก้ไขค่าความเร่งในการออกแบบอาคารจากเดิม 22 จังหวัดมาเป็น 44 จังหวัด ซึ่งเดิมจะเน้นในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันตก ที่มีรอยเลื่อนจำนวนมากเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว แต่ปัจจุบันมีการเพิ่มพื้นที่กทม. และภาคกลาง เพิ่มเติมอีกหลายจังหวัด พร้อมกันนี้ยังมีการเดินหน้าสำรวจอาคารเก่าเสื่อมสภาพ และส่งเสริมให้มีการเสริมกำลังโครงสร้างอาคารเพื่อรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต

ขณะที่ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวเสริมว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีสถานีตรวจสอบครบทั่วประเทศเพื่อที่จะแจ้งเตือนประชาชนในเรื่องของสภาพอากาศ พายุ ต่างๆ มีเจ้าหน้าที่อยู่เวร 24 ชั่วโมง ติดตามคลื่นจับสัญญาณแผ่นดินไหว และขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ และรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ และอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป

 

 

 

 

related