svasdssvasds

พาอัปเดตจำนวนประชากร “พะยูนไทย” ปัจจุบันเพิ่มขึ้น เป็น 273 ตัว

พาอัปเดตจำนวนประชากร “พะยูนไทย” ปัจจุบันเพิ่มขึ้น เป็น 273 ตัว

พะยูน คือสัตว์ทะเลหายาก ที่ไทยกำลังเร่งอนุรักษ์ วันนี้จะพาสำรวจจำนวนประชากร “พะยูนไทย” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยว่า ปัจจุบันเพิ่มขึ้น เป็น 273 ตัว พร้อมเร่งสำรวจ 13 แห่ง ว่ามีเพิ่มอีกหรือไม่ ?

พะยูน คือสัตว์ทะเลหายากที่ไทยกำลังเร่งอนุรักษ์ และต้องการให้น้อง ๆ เพิ่มจำนวนประชากรให้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว พะยูน คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งเช่นเดียวกันกับมนุษย์ พะยูนอาศัยอยู่ในทะเลบริเวณชายฝั่งที่น้ำมีความลึกไม่มากนัก เนื่องจากพะยูนเป็นสัตว์ทะเลที่หายาก ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดได้กิจกรรมงานวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 “ระลึกถึงมาเรียม ยามีล ร่วมใจกันรักษ์พี่น้องและพ่อแม่พะยูนของไทย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า 4 ปีแห่งการจากไปของมาเรียมและยามีลพะยูนน้อยแห่งทะเลอันดามัน ทำให้สังคมหันมาสนใจในการอนุรักษ์พะยูน และตระหนักถึงปัญหาของขยะทะเลกันมากขึ้น ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เดินหน้าทำงานเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพะยูน รวมถึงสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไทยมาโดยตลอด ผ่านกระบวนการทำงานภายใต้ “มาเรียมโปรเจค”

จากการสำรวจประเมินประชากรพะยูนในปี 2565 พบพะยูนประมาณ 273 ตัว และในปี 2566 อยู่ระหว่างการสำรวจในพื้นที่แหล่งอาศัยพะยูนทั้ง 13 แห่ง ประกอบด้วย 1.บริเวณเกาะลิบง เกาะมุก และอ่าวสิเกา จังหวัดตรัง 2.เกาะศรีบอยา เกาะปู เกาะจำ และอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ 3.เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ อ่าวพังงา จังหวัดพังงา อ่าวป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต 4.เกาะลิดี เกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล 5.เกาะพระทอง จังหวัดพังงา 6.หมู่เกาะกรูด จังหวัดตราด 7.อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี 8.ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง 9.อ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 10.อ่าวทุ่งคาสวี จังหวัดชุมพร 11.อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี 12.อ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี และ 13.อ่าวเตล็ด จังหวัดนครศรีธรรมราช

จำนวนพะยูนไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้จากความร่วมมือในการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 1 นั้น ถือว่าผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจ เพราะเราสามารถเพิ่มจำนวนพะยูนในธรรมชาติได้เพิ่มขึ้นและยังสามารถออกกฎกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศให้แหล่งอาศัยของพะยูนในอำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ซึ่งในอนาคตจะเดินหน้าสานต่อการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2568) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการเพิ่มจำนวนประชากรของพะยูนในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา ต้องขอชื่นชมกับพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว และภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน แก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกมิติตั้งแต่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการปัญหาขยะทะเลตั้งแต่ต้นทางก่อนลงสู่ทะเล อีกทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการจัดการแบบเต็มรูปแบบอีกด้วย

ด้านนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) กล่าวเสริมว่า กรมเร่งดำเนินการเพิ่มจำนวนประชากรพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล พร้อมกำชับให้หน่วยงานในสังกัดกรม ทช. เดินหน้าสานต่อการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (2566-2568) ตลอดจนเร่งบูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ผู้ประกอบการ และประชาชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด โดยเฉพาะพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ต่อไป

 

 

related